จับตา "กองทุน FIF" - "DR" - "DRx" รับอานิสงส์ประกาศกรมสรรพากรเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศ เหตุไม่ถือว่าลงทุนต่างประเทศโดยตรง ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่คาดนักลงทุนไทยที่ลงทุนหุ้นนอกจะแห่ขายดึงเงินกลับก่อนดีเดย์เก็บภาษี 1 ม.ค.67 อย่างไรก็ตามวงการแนะทบทวนเกณฑ์เหตุเป็นการจำกัดการลงทุน อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
*** "สรรพากร" ดีเดย์เก็บภาษีลงทุนนอก 1 ม.ค.67
ล่าสุดกรมสรรพากรออกประกาศคำสั่งเตรียมเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มี “เงินได้จากต่างประเทศ” (แม้จะนำเงินเข้ามาในปีภาษีอื่น ๆ ก็ตาม) ต้องเสียภาษี ซึ่งแต่เดิมจะมีการจัดเก็บภาษีแค่เฉพาะที่นำกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกันเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67
กรมสรรพากรให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นพัฒนาการตามกติกาภาษีโลก โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือ ด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS)
ดังนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับการพิสูจน์การมีเงินได้และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศ
อย่างไรก็ตามก่อนบังคับใช้ กรมสรรพากรจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ทั้งนักลงทุน, ผู้เสียภาษี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะและความกังวลของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นที่สุด
*** หนุนเงินลงทุนนอกไหลกลับ
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า เก็บภาษีจากการลงทุนต่างประเทศ จะทำนักลงทุนขายทำกำไรหุ้นต่างประเทศบางส่วนในช่วงที่เหลือของปี ก่อนการเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้ เพราะนอกจากจะยังไม่เสียภาษีแล้ว ยังได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หลังจากเงินบาทอยู่ในโซนอ่อนค่า 35.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (อ่อนค่า 3.1% ตั้งแต่ต้นปี) ซึ่งเม็ดเงินบางส่วนอาจเข้ามาเสริมสภาพคล่องตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป
ด้าน "ชาญศักดิ์ ธนเตชา" กรรมการผู้จัดการประธานสายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า อาจจะมีแรงขายของนักลงทุนไทยที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศ ก่อนจะมีการเก็บภาษีเงินได้จากลงทุนต่างประเทศ และเงินจะไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์อ้างอิงจากต่างประเทศที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแทน
ฝั่ง "สาห์รัช ชัฏสุวรรณ" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ ระบุว่า ประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง ที่ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษีเมื่อนำเงินลงทุนกลับมาประเทศไทย รวมถึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และธนาคารลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (Private Bank) ที่นำเงินลูกค้าไปลงทุนในกองทุน หุ้น และตราสารหนี้ต่างประเทศ ดังนั้นอาจจะมีแรงขายการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนในช่วงที่เหลือของปี ก่อนเกณฑ์ใหม่จะบังคับใช้
*** กองทุน "FIF" - "DR" - "DRx" จ่อรับส้มหล่น
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินต่อไปว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) จะได้รับความสนใจมากขึ้นหลังการเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศบังคับใช้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค.66 พบว่า มีกองทุน FIF ในไทยอยู่ 1,040 กองทุน คิดเป็นสัดส่วน 36% จากทั้งหมด 2,903 กองทุน และมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 9.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนทั้งหมดที่ 5.08 ล้านล้านบาท
ประเด็นการเก็บภาษีหุ้นต่างประเทศ จะหนุนให้ บลจ. ต่าง ๆ ออกกองทุน FIF เพิ่มขึ้น (เพราะได้รับสิทธิไม่ต้องนำกำไรมาคำนวณรวมกับภาษีเงินได้เหมือนกับหุ้นต่างประเทศ) หนุนความต้องการซื้อหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้
เช่นเดียวกับ การลงทุนในตราสารการลงทุนที่อิงหลักทรัพย์ต่างประเทศอย่าง "DR" และ "DRx" ก็จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เคลื่อนไหวและถูกซื้อขายได้เหมือนหุ้นต่างประเทศ โดยไม่ต้องไปเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศ และยังไม่ต้องนำกำไรมาคำนวณรวมกับภาษีเงินได้เหมือนกับหุ้นต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี "DR" และ "DRx" อยู่ในตลาดทั้งหมด 19 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้าน "วิน พรหมแพทย์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เสริมว่า นักลงทุนที่เคยลงทุนต่างประเทศเป็นหลักอาจจะหันมาลงทุนใน "FIF" และ "DR" รวมถึง "DRx" เพราะไม่มีภาระด้านภาษีและมีโครงสร้างที่เอื้ออยู่ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุน FIF ต้องยอมรับว่าจะเสียค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า แต่ข้อดีคือมีผู้จัดการกองทุนดูแลค่าเงินให้ ขณะเดียวกันกองทุน "FIF" ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างโตอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) มองว่า อนาคตนักลงทุนอาจจะหันไปลงทุนในกองทุน "FIF" แทน เพราะจะไม่โดนเรื่องภาษี เนื่องจากมีกฎหมายมารองรับข้อยกเว้น อีกหนึ่งทางเลือกคือ "DR" และ "DRx" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนในต่างประเทศประเภทหนึ่ง
ขณะเดียวกัน "ดร.สาธิต ผ่องธัญญา" ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การลงทุนใน "FIF" และ "DR" รวมถึง "DRx" อาจจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะไม่ได้เข้าข่ายลงทุนในต่างประเทศโดยตรง และไม่ต้องเสียภาษี
*** วงการระบุอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ และนักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ วอนกรมสรรพากรทบทวนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อนัลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนรายใหญ่ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย
"แนวทางที่สรรพากรนำมาใช้ เพราะคิดว่าบุคคลที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้นั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ทำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศจะเป็นการจำกัดการลงทุนของรายย่อยลง" ซีอีโอ จิตตะ เวลธ์ กล่าว
นอกจากนี้ หากจะต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน เช่น กรณีที่ลงทุนต่างประเทศ ปีแรกมีกำไรแล้วนำเงินเข้ามาและเสียภาษีไปแล้ว ปีถัดมากลับขาดทุนหนัก แต่ขอภาษีตอนกำไรคืนหรือไม่ หรือในกรณีมีการนำเงินไปลงทุนในพอร์ตการลงทุน 2 พอร์ต เช่น จีนและที่สหรัฐฯ โดยที่พอร์ตสหรัฐฯ กำไร แต่พอร์ตที่จีนขาดทุน เมื่อนำเงินกลับมา จะคิดภาษีอย่างไรให้เหมาะสมและเท่าเทียม
ส่วน "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" มองว่า การเก็บภาษีดังกล่าว ถือเป็นการจำกัดการลงทุน เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนรายใหญ่ไม่ค่อยอยากลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากผลตอบแทนไม่ค่อยโดดเด่น แม้จะไม่โดนเก็บภาษี ขณะเดียวกันพอจะลงทุนในประเทศ บางช่วงภาวะตลาดและภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งอาจจะทำให้มีการชะลอลงทุนได้ เพราะจะกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศก็ไม่ไหว เนื่องจากต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศไม่ง่าย เพราะส่วนใหญ่มีการกระจายการลงทุนไปหลากหลายรูปแบบ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินกลับมาประเทศ เนื่องจากมีแหล่งเงินได้หลายช่องทาง การที่กรมสรรพากรจะเข้ามาจัดเก็บในส่วนนี้คาดว่า ผลประโยชน์จะได้ภาษีจึงไม่ค่อยมี
“ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ เช่น ถ้านำเงินออกไป 1 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นตัวหนึ่งในต่างประเทศ หากขาดทุน 20% เหลือ 80% แต่ถ้าเรานำกลับเข้ามาเมื่อไรก็จะโดนภาษีอีก 35% ของ 80% เท่ากับว่า ทั้งขาดทุนและไม่ได้กำไร และยังต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะถ้าไปลงทุนแล้วไม่ได้กำไรก็ไม่ควรที่จะต้องเสียภาษี ซึ่งเงินจากการลงทุนไม่ใช่รายได้แบบที่ไปทำงานมา (ไม่ได้มีต้นทุนชัดเจน) แต่การลงทุนนั้นมีต้นทุน จึงไม่มีเหตุผลว่า ทำไมต้องมาเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้เข้าใจถึง 100% ในส่วนที่สรรพากรประกาศไว้ ต้องรอให้สรรพากรออกมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง”
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา ประเมินว่า ผู้ลงทุนจะต้องนำผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศทั้งเงินปันผล และ capital gain ที่โอนกลับมาไทยไปรวมกับรายได้ประจำปี เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะกระทบกับผู้ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง เช่น หุ้นนอก ตราสารหนี้นอก กองทุนส่วนบุคคลที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ และกองทุน offshore ต่างๆ โดยการคิดภาษีจะถูกนำมารวมเป็นรายได้ และคำนวณตามฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแบบขึ้นบันไดสูงสุด 35%