efinancethai

ประเด็นร้อน

จับตากลุ่มหุ้นหนี้สูง ต้นทุนพุ่ง-กำไรหด หลังดอกเบี้ยขึ้นไม่หยุด

จับตากลุ่มหุ้นหนี้สูง ต้นทุนพุ่ง-กำไรหด หลังดอกเบี้ยขึ้นไม่หยุด

นักวิเคราะห์แนะจับตากลุ่มหุ้นหนี้สูง หลังดอกเบี้ยยืนขาขึ้นยาว อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงิน ฉุดมาร์จิ้นลด กำไรหาย ห่วง บจ.กลาง - เล็ก ที่หนี้สูง งบฯ แย่ สภาพคล่องต่ำ ล่าสุด ณ สิ้นงบ Q2/66 มีถึง 62 บริษัทที่หนี้สินต่อทุนเกิน 3 เท่า แถมเกินครึ่งเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ  !!! 

 

*** ดอกเบี้ยสูงยาวนาน

ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อปีก่อน กดดันให้ทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยกันอุตลุดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยล่าสุดอยู่ระดับ 2.5% ต่อปี สูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ พุ่งไปถึง 5.5% แล้วสูงสุดรอบ 22 ปีเลยทีเดียว 


แม้จะเริ่มมีเริ่มมีนักเศษฐศาสตร์, นักวิเคราะห์ รวมถึงนักลงทุนและสถาบันการลงทุน เริ่มออกมาส่งสัญญาณแตะเบรกการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในขณะนี้คือเราอยู่ในภาวะดอกเบี้ยสูงมาปีกว่าแล้ว เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกจึงไหลออกจากตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง ไปหาตลาดพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำ แถมให้ผลตอบแทนแบบหวานเจี๊ยบ

 

*** ลูกหนี้ระส่ำ 5 ธุรกิจรับผลกระทบโดยตรง

ในเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น ฝั่งดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องไหลขึ้นเคียงกันไปเป็นคู่ขนาน ที่สำคัญดอกเบี้ยขาเงินกู้จะสูงกว่าฝั่งเงินฝากเสมอระดับเท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งในขณะที่ผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุนในตลาดเงินได้เฮ ด้านลูกหนี้ก็ต้องว้าวุ่นกันบ้างละทีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีหนี้สูงหรือต้องใช้เงินกู้เป็นประจำในการดำเนินธุรกิจ


เมื่อสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์พบว่าหลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม...


"กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส ซีไอเอ็ม (ประเทศไทย) มองว่า ช่วงนี้ที่อยู่ในเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น จะมี 3 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเป็นกลุ่มที่มีการกู้เงินมาดำเนินธุรกิจสูง ประกอบด้วย 1.กลุ่มไฟแนนซ์หรือสินเชื่อ ที่มีต้นทุนหุ้นกู้เฉลี่ยอยู่ในระดับมากกว่า 4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนดอกเบี้ยของอุตสาหกรรม ที่สำคัญกลุ่มนี้ยังมีฐานเงินทุนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกด้วย


2.กลุ่มโรงไฟฟ้า ที่มักมีการกู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้มีภาระต้นทุนทางการเงินที่มากขึ้น ประกอบกับ เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าด้วย และส่งผลต่อส่วนต่างค่าเงินเมื่อบันทึกรายได้กลับเข้ามาในประเทศ สะท้อนจากที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง


3.กลุ่มไอซีที ที่มีการลงทุนมหาศาล เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมดุเดือด จึงทำให้หุ้นกลุ่มนี้เป็นต้องกู้เงินจำนวนมากทั้งจากธนาคารและหุ้นกู้


ขณะที่ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ระบุว่า กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะต้องใช้เงินกู้มาหมุนเวียนดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่นอกจากต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากแรงซื้อด้วย เพราะลูกค้าจำนวนมากอาจตัดสินใจชะลอการกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโดไปก่อนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง

 

*** ต้นทุนการเงินเพิ่มฉุดมาร์จิ้น 

ทั้งนี้บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อต้นทุนการเงินและจะกระทบต่ออัตรากำไรหรือมาร์จิ้นอย่างแน่นอน มากน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่ละธุรกิจ 


อย่างไรก็ตามแม้จะพบว่า บจ.ส่วนใหญ่จะมีการกู้เงินสูง แต่ต้องพิจารณาในหลายมิติ และแยกกลุ่มอุตสาหกรรมกันไป เพราะบางธุรกิจอาจจะมีการกู้เงินระดับหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาท แต่หากมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อมาชดเชยต้นทุนการเงินและทำให้มาร์จิ้นสมดุลก็ไม่น่ามีปัญหา


"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ประเมินว่า ช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ต้นทุนทางการเงินของทุกบริษัทก็จะปรับตัวขึ้นตามเสมอ โดยต้องดูโครงสร้างการเงินและการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทว่ามีการบริหารจัดการอย่างไร หนี้สินต่อทุน (D/E) เหมาะสมหรือไม่ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างทีประสิทธิภาพหรือไม่ และสภาพคล่องเป็นอย่างไร


เราไม่สามารถฟันธงได้ว่า บริษัทที่มีหนี้สูงหลักหมื่นล้านบาท - แสนล้านบาท จะได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทที่มีหนี้หลักร้อยล้านบาท - พันล้านบาท เพราะส่วนใหญ่บริษัทที่มีหนี้ในระดับดังกล่าวจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่อยู่แล้ว และมีการบริหารระหว่างหนี้และทุนได้อย่างสมดุล ที่สำคัญหลายบริษัทผลการดำเนินงานก็ยังเติบโต โดยเฉพาะกำไรสุทธิ


เช่นเดียวกับ "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ที่มองว่า ทุกบริษัทที่ใช้เงินกู้จะได้รับผลกระทบช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเสมอ ถือเป็นต้นทุนการเงินที่สามารถส่งผลต่ออัตรากำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ 


อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีหนี้สินระดับหมื่นล้านบาทหรือแสนล้านบาทในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศ มีการควบคุมต้นทุนรวมให้อยู่ในระดับที่มีสเถียรภาพ 


*** ห่วงหุ้นกลาง-เล็ก หนี้สูง แต่สภาพคล่องต่ำ แถมงบฯ แย่

"มงคล พ่วงเภตรา" กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงคือบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ที่อาจจะมีหนี้แค่ร้อยล้านบาทหรือพันล้านบาท แต่กำไรกลับทำได้หลักสิบล้านบาทหรือขาดทุน กลุ่มแบบนี้จะได้รับผลกระทบและน่าเป็นห่วงมากกว่า


ยิ่งกลุ่มหุ้นที่ผลการดำเนินงานชะลอตัวหรือเป็นขาลง แต่สร้างหนี้ไว้ในระดับสูงกว่าทุนที่มี ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแน่ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง แต่ต้องไปไล่แยกดูเป็นรายตัว หรือรายอุตสาหกรรม เพราะหุ้นแต่ละตัวก็มีโครงสร้างทางการเงินที่ไม่เหมือนกัน


เช่นเดียวกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กลุ่มหุ้นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในภาวะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นยาวนานแบบนี้ คือ บริษัทที่มีหนี้สูง แต่สภาพคล่องต่ำ แถมผลการดำเนินงานย่ำแย่ สะท้อนจากช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่โควิด มีหลายบริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้ ขอยืดชำระหนี้ บางบริษัทต้องเพิ่มทุนบ่อยครั้งเพื่อพยุงส่วนผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


กลับมาที่ "กรรณ์ หทัยศรัทธา" แม้ควรจับตาบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการใช้เงินกู้สูงระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไปช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น แต่ปกติส่วนใหญ่ บจ.กลุ่มนี้จะมีสัดส่วน D/E ที่สมเหตุสมผล และมีความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ในระดับที่มีเสถียรภาพ ที่ต้องไปตามต่อก็คือ บจ.เหล่านี้ยังมีความสามารถอยู่ในเกณฑ์เดิมหรือไม่ หากอัตาส่วนชี้่วัดความสามารถในการชำระหนี้่ต่าง ๆ ปรับตัวลดลงก็จะสะท้อนผลกระทบอย่างน่าจับตา


แต่กลุ่มที่มีปัญหาแน่คือหุ้นที่หนี้สินสูงกว่าทุนมากเกินปกติ และผลการดำเนินงานไม่ดีนัก รวมถึงมีสภาพคล่องทางการเงินน้อย

 

*** เปิดสูตรเช็คความเสี่ยงเรื่องหนี้

"มงคล พ่วงเภตรา" ระบุว่า นักวิเคราะห์มักใช้ตัวเลขทางการเงิน 4 ข้อ เพื่อชี้วัดว่าใครกำลังได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ประกอบด้วย 1.ระดับหนี้ที่มีสูงแค่ไหน 2.หนี้สินต่อทุนสูงเกิน 3 เท่าหรือไม่ 3.หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยเทียบกับ EBITDA ไม่ควรเกิน 2 เท่า และ 4.กำไรเทียบดอกเบี้ยจ่ายสอดคล้องกันมากแค่ไหน หลังจากนั้นก็ไปดูต่อถึงแนวโน้มธุรกิจและผลการดำเนินงาน


ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กล่าวว่า ปกตินักวิเคราะห์จะดู D/E เป็นหลัก จากนั้นไปตามต่อถึงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ต่าง ๆ 


ส่วน "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" แนะนำว่า ดัชนีที่ใช้ชี้วัดว่า บจ.นั้น ๆ กำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนหรือไม่ ให้ดูกำไรหลังหักต้นทุนการขาย หากเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายแล้วพบว่ายังมากกว่า 3 - 4 เท่า ก็ถือว่ายังไม่มีความน่ากังวลอะไร แต่หากต่ำกว่าก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้เริ่มระวังได้เช่นกัน

 

*** พบ 62 บจ. D/E เกิน 3 เท่า

ทั้งนี้เมื่อสำรวจข้อมูลสถิติจากโปรแกรม SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามี 62 บจ.ที่ปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงกว่า 3 เท่า สูงสุดถึง 121.97 เท่า โดยมี 6 บริษัท D/E สูงเกิน 10 เท่า และ 31 บริษัทสูงเกิน 5 เท่า 


ขณะเดียวกันมี 35 บริษัทที่อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ต่ำกว่า 1 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ณ ไตรมาส 2/66 ติดลบ


นอกจากนี้พบว่าในกลุ่ม 62 บจ.ที่หนี้สินต่อทุนเกิน 3 เท่า มี 19 บริษัทที่ผลการดำเนินงานขาดทุนตั้งแต่ปี 65 ถึงสิ้นงบไตรีมาส 2/66

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด