หลัง TASCO ประกาศว่าจะหยุดซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลา ตามที่ US State Department ของสหรัฐฯร้องขอ ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยลบกระทบการดำเนินธุรกิจของ TASCO อย่างหนัก
ราคาหุ้นตอบรับด้วยการร่วงติดฟลอร์ต่อเนื่องถึง 2 วันทำการ จากความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่ง TASCO จะเดินหมากแก้วิกฤติครั้งนี้อย่างไร และจะทันเวลาหรือไม่? ต้องติดตาม!
**** นักลงทุนยังไม่คลายกังวล ฉุดราคาร่วงต่อเนื่อง
ราคาหุ้น บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ช่วงเช้าวันนี้ (16 ส.ค.63) ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ หลังราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ต่อเนื่องถึง 2 วันทำการก่อนหน้า แต่ช่วงเช้าวันนี้ราคาลบน้อยลงจาก 2 วันทำการก่อนหน้า
โดยราคาหุ้น TASCO ร่วงไปทำจุดต่ำสุดของช่วงเช้าวันนี้ ที่ราคา 15.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 16.10 บาท ลดลง 1.30 บาท หรือ 7.47% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 1,374.57% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า จากความกังวลยกเลิกซื้อน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอลา โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาหุ้น TASCO ปรับตัวลงอย่างหนักราว 56.25% ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา
*** สหรัฐฯคว่ำบาตรเวนูเซเอลา สะเทือนถึง TASCO
หลังจากช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สหรัฐฯ เตรียมมาตรการคว่ำบาตรประเทศเวเนซูเอลาเพิ่มเติม ด้วยการตัดช่องทางการซื้อขายน้ำมันของเวเนซูเอลาทั้งหมด ซึ่ง TASCO กลับกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากการวิวาทกันของ 2 ประเทศดังกล่าว
เนื่องจากโรงกลั่นในเมือง Kemaman ประเทศมาเลเซียของ TASCO ต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว จนกว่าการคว่ำบาตรระหว่างเวเนซูเอลากับสหรัฐฯจะจบลง หรือจนกว่า TASCO จะสามารถหาแหล่งน้ำมันดิบจากที่อื่นมาชดเชยได้
สาเหตุที่ทำให้ โรงกลั่นในเมือง Kemaman ต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว เนื่องจากโรงกลั่นดังกล่าว ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้น้ำมันดิบชนิดหนักจากเวเนซูเอลาเป็นหลัก ซึ่งน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาเป็นน้ำมันดิบที่ TASCO ใช้ในการผลิตมากที่สุด คิดเป็น 90% ของน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด
*** ผลกระทบรุนแรงแค่ไหน?
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็น"ลบ"ต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจาก 50% ของปริมาณการขายยางมะตอยราว 2.0 – 2.2 ล้านตันต่อปีของ TASCO มาจากผลผลิตน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลา (อีก 50% มาจาก 3rd party) ดังนั้น การยกเลิกซื้อขายน้ำมันดิบกับเวเนซูเอลา จะทำให้ TASCO ขาดแคลนสินค้าในการจำหน่ายทันที
โดย ประเมินว่ากำไรปกติปี 63 ของ TASCO ยังได้รับผลกระทบไม่มากเท่าใดนัก เนื่องจากปัจจุบัน TASCO มีน้ำมันดิบที่สามารถผลิตได้จนถึงไตรมาส 1/64 ขณะที่กำไรปกติปี 64 อาจกระทบมากสุดถึง 40 - 50% หาก TASCO ไม่สามารถหาแหล่งน้ำมันดิบจากที่อื่นได้เลย ทำให้โรงกลั่นในประเทศมาเลเซียต้องหยุดดำเนินการทั้งปี
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่าจากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว จะกระทบการผลิตและประมาณการกำไรจากการดำเนินงานปี 63 ของ TASCO ราว 10 - 20% ส่วนในปี 64 จะกระทบมากกว่านี้ ถ้า TASCO ต้องปิดโรงกลั่นในเมือง Kemaman ตลอดปี เพราะโรงกลั่นในประเทศมาเลเซียของ TASCO ถูกออกแบบเพื่อใช้กับน้ำมันดิบชนิดหนักโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม หาก TASCO สามารถซื้อน้ำมันดิบชนิดหนักจากแหล่งอื่นมาทดแทนน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาที่ TASCO ทำสัญญาซื้อไว้ในราคาถูกได้ ก็จะกระทบผลประกอบการปี 64 ไม่มากนัก แต่คาดว่ามาร์จิ้นจะต่ำลงจากเดิมอยู่ดี
*** มีแผนรับมืออย่างไรบ้าง?
ต้องบอกว่าการหยุดซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาของ TASCO ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในปี 63 เนื่องจาก TASCO ยังมีน้ำมันในสต็อกเพียงพอไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/64 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไป จึงจะเข้าสู่ช่วงวิกฤติของจริงสำหรับ TASCO ถ้าหากไม่รีบทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดย บล.หยวนต้า ระบุว่า จาการประชุมนักวิเคราะห์รอบล่าสุด ผู้บริหาร TASCO ได้นำเสนอแผนการแก้ไขเฉพาะหน้า จากการหยุดซื้อน้ำมันดิบของเวเนซูเอลา ดังนี้
1.ภายในช่วงก่อนเดือน พ.ย.63 TASCO จะพยายามนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาให้ได้มากที่สุด
2.TASCO พยายามหาแหล่งน้ำมันดิบจากประเทศอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ โดยจะเพิ่มความสำคัญจากการซื้อน้ำมันดิบผ่าน Trading Company ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ TASCO ซื้อน้ำมันดิบผ่านผู้ผลิตโดยตรง เนื่องจาก Trading Company มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันที่กว้างกว่า
3.TASCO จะพยายามนำน้ำมันดิบที่หาซื้อได้จากแหล่งใหม่ ๆ มาผสมกับน้ำมันดิบที่ซื้อจากเวเนซูเอลาที่ยังมีอยู่ในสต็อก เพื่อยืดเวลาให้โรงกลั่นในเมือง Kemaman เดินเครื่องได้นานที่สุด
4.TASCO จะพยายามซื้อยางมะตอยจากโรงกลั่นในภูมิภาคที่ TASCO สามารถจัดหาได้ เพื่อเข้าไปรุกธุรกิจค้าปลีกยางมะตอยใน 8 ประเทศอาเซียนที่ TASCO เข้าไปลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดค้าปลีกเป็นตลาดที่ให้ Margin สูงกว่าตลาดค้าส่ง
5.TASCO จะพยายามพัฒนาสินค้ายางมะตอยเกรดพิเศษที่ให้ Margin สูง ออกมาจำหน่ายมากขึ้น
6.TASCO จะรุกธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนและผิวทางผ่านบริษัทลูก 2 แห่งของ TASCO เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดยางมะตอยในประเทศ
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ว่า แม้ TASCO จะมีแผนบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การต้องหยุดซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลา และหยุดเดินเครื่องโรงกลั่นในเมือง Kemaman จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโรงกลั่นดังกล่าวมีกำลังการผลิตยางมะตอย 1 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดขายยางมะตอยทั้งหมดที่ TASCO ขายในแต่ละปี ดังนั้นจะทำให้ยอดขายของ TASCO ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง
*** โบรกฯ รุมหั่นราคาเป้าหมาย ปรับคำแนะนำเป็น"ขาย"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ พร้อมใจกันหั่นราคาเป้าหมาย และลดคำแนะนำลงเป็น"ขาย"เท่านั้น เนื่องจากมองว่า แม้ TASCO จะมีแผนรับมือการหยุดซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลา แต่ยังไม่เห็นความชัดเขนของแผนรับมือดังกล่าว ว่าจะสามารถชดเชยกำไรสุทธิที่มีแนวโน้มหดตัวแรงในปี 64 จากการไม่สามารถซื้อน้ำมันดิบราคาถูกจากเวเนซูเอลาได้ จนกว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯจะจบลง
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสมเดิม (บ.) |
ราคาเหมาะสมใหม่ (บ.) |
หยวนต้า |
ขาย |
31.00 |
12.40 |
ดีบีเอสวิคเคอร์ส |
ขาย |
31.00 |
14.00 |
ทิสโก้ |
ขาย |
32 .00 |
15.00 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง |
ขาย |
30.00 |
16.00 |
ราคาเฉลี่ย |
31.00 |
14.35 |
เดิม TASCO เป็นหุ้นที่จะพุ่งแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 63 จากราคายางมะตอยปรับตัวสูงขึ้น แต่การคว่ำบาตรเวเนซูเอลาของสหรัฐฯ กลายเป็นปัจจัยลบฉุดพื้นฐาน TASCO เปลี่ยนในชั่วข้ามคืน เพราะต้องยอมรับว่าน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาเป็นหัวใจในการผลิตของ TASCO เนื่องจากมีปริมาณมาก และราคาถูก นอกจากนี้ โรงกลั่นหลักของ TASCO ยังถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาโดยเฉพาะเสียด้วย
ส่วนกลยุทธ์ลงทุนในช่วงนี้ หลายคนเลือกที่จะเทขายเพื่อตัดขาดทุน ส่วนนักลงทุนที่ไม่มีหุ้น TASCO คงทำได้แค่รอจนกว่าการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาจะจบลง หรือจนกว่า TASCO จะหาแหล่งน้ำมันดิบที่มีคุณภาพและราคาเทียบเท่าเวเนซูเอลาได้ จึงจะเป็นเวลาเหมาะสมที่จะเข้าลงทุนอีกครั้ง...