เช้านี้ CPF ดีดทำนิวไฮรอบ 2 เดือน ตาม SET ปิดบวก 19.99 จุด – ผลงานเริ่มฟื้น ด้านโบรกฯมองกำไร Q2/65 เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นตัว หลังราคาเนื้อสัตว์ยังพุ่ง - ธุรกิจต่างแดนส่งสัญญาณฟื้น ชี้ครึ่งปีหลังต้นทุนอาหารสัตว์จ่อลด ตามรอบเก็บเกี่ยวใหม่ คงเป้ากำไรปี 65 โตแกร่ง 15.68 - 22.15% แถมอัพไซด์ยังเปิดกว้าง !
*** นิวไฮรอบ 2 เดือน รับงบส่งสัญญาณฟื้น
ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ช่วงเช้าวันนี้ (17 พ.ค.65) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 25.50 บาท ทำระดับราคาหุ้นสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ในรอบ 2 เดือน ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 25.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท หรือ 2.23% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 113.22% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น CPF เช้านี้ ปรับตัวขึ้นไปทำนิวไฮในรอบ 2 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุน จากการรีบาวด์ของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่เช้านี้ปิดบวก 19.99 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.23% ประกอบกับ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ ยังมองว่า ผลการดำเนินงานของ CPF มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 1/65
*** กูรูมองกำไร Q2/65 เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นตัว
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ มองว่า ผลการดำเนินงานของ CPF มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป มีปัจจัยหนุน จากราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นในหลายภูมิภาค ขณะที่ ราคาหมูในประเทศไทย ยังปรับตัวขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนหมู ส่งผลให้ราคาไก่ (สินค้าทดแทน) ปรับตัวดีขึ้นจากปัญหาดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ CPF ประเมินว่า ราคาเนื้อหมูในประเทศไทย จะอยู่ที่ 90 บาท/กิโลกรัม ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ขณะที่ การส่งออกไก่ยังมีความต้องการสูงในทวีปยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ส่งผลให้ซัพพลายไก่ในยูเครนหายไป รวมถึง การเปิดประเทศของญี่ปุ่น ทำให้การบริโภคฟื้นตัวขึ้น
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่มองว่า ผลการดำเนินงานของ CPF มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป มีปัจจัยหนุนจากธุรกิจในประเทศไทย (37% ของรายได้รวม) มีแนวโน้มฟื้นตัว จากธุรกิจไก่, หมู และ สัตว์น้ำฟื้นตัว โดยราคาไก่เป็น ล่าสุดอยู่ที่ 42 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5% ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/65 และ เพิ่มขึ้น 30.1% จากปีก่อน
ขณะที่ ราคาหมูหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 97.4 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.6% ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/65 และ เพิ่มขึ้น 30.7% จากปีก่อน ตามความต้องการบริโภคฟื้นตัว แต่ยังมีปัญหาหมูขาดแคลน นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ของทุกปี ยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกไก่ และ กุ้ง อีกด้วย
*** จับตา! ธุรกิจต่างแดน กอดคอส่งสัญญาณฟื้น
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ธุรกิจในต่างประเทศของ CPF เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับธุรกิจในประเทศ โดยธุรกิจในเวียดนาม (21% ของรายได้รวม) จะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มปรับตัวขึ้น จากความต้องการบริโภคฟื้นตัว หนุนแนวโน้มราคาหมูในเวียดนาม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6 หมื่นดอง/กิโลกรัม (90 บาท/กิโ,กรัม) เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน
ขณะที่ ธุรกิจในประเทศจีน (CTI) มีแนวโน้มฟื้นตัวด้วยเช่นกัน ตามทิศทางราคาหมูในประเทศจีนฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 15 หยวน/กิโลกรัม (77 บาท/กิโลกรัม) โดย CPF คาดว่า ราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มในประเทศจีน จะปรับตัวขึ้นเป็น 19 หยวน/กิโลกรัม (97 บาท/กิโลกรัม) ในช่วงครึ่งหลังของปี 65
ส่วน ธุรกิจ Bellisio ในสหรัฐฯ คาดว่า จะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/65 เป็นต้นไป จากการปรับกลยุทธ์ โดยเพิ่มเมนูใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และ การดำเนินการผลิตของโรงงานมากขึ้น นอกจานี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ทำให้คาดว่า ผู้บริโภคจะหันมารับประทานอาหารแช่เย็น แช่แข็งมากขึ้นด้วย
*** กูรูมองต้นทุนสูง ถูกชดเชยด้วยเนื้อสัตว์หมดแล้ว
บล.กรุงศรี ระบุว่า ก่อนหน้านี้ CPF เผชิญกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับสูง โดยมองว่า ต้นทุนดังกล่าว อาทิ กากถั่วเหลือง และ ข้าวโพด ยังอยู่ในระดับสูงในช่วงไตรมาส 2/65 จากความตึงตัวของซัพพาย หลังได้รับผลกระทบจากการทำสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน
อย่างไรก็ตาม มองว่า ราคาเนื้อหมู และ เนื้อไก่ ที่ปรับตัวสูงขึ้น จะช่วยชดเชยต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ต้นทุนกากถั่วเหลือง และ ข้าวโพด มีโอกาสลดลงในช่วงไตรมาส 3/65 หนุนด้วยเมล็ดธัญพืช จากฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ในประเทศอาร์เจนติน่า และ สหรัฐฯ
*** กูรูคงมุมมองกำไรปี 65 ฟื้นแรงราว 15 - 22%
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ยังคงมุมมองกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ฟื้นตัวจากปีก่อนได้ เบื้องต้นประเมินกำไรสุทธิปี 65 ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 19.20% จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนหลัก จากธุรกิจหมู และ ไก่ ในประเทศไทยฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจ และ ปัญหาการขาดแคลนหมู นอกจากนี้ ยังคาดธุรกิจส่งออกไก่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว เช่นเดียวกับ ธุรกิจหมูในรัสเซีย
สอดคล้องกับ บล.เอเชีย เวลท์ ที่ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 22.15% จากปีก่อน ตามทิศทางราคาขายเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นในหลายภูมิภาค ประกอบกับ ต้นทุนอาหารสัตว์ ที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ประกอบกับ การเริ่มวางจำหน่ายสินค้า Plant-Based ในทวีปเอเชีย และ จะเริ่มจำหน่ายในทวีปยุโรป ตั้งแต่ไตรมาส 2-3/65 และ สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 4/65 โดยตั้งเป้าการขายปีนี้ไว้ที่ 4 พันตัน
สรุป มีนักวิเคราะห์ 3 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg YoY |
เอเชีย เวลท์ |
15,915 |
22.15 |
เอเชีย พลัส |
15,532 |
19.20 |
กรุงศรี |
15,072 |
15.68 |
*** โบรกฯมอง Valuation น่าสนใจเข้าสะสม
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า มูลค่าหุ้น (Valuation) ณ ปัจจุบัน ของ CPF ยังมีความน่าสนใจเข้าสะสม สะท้อนจากการซื้อ – ขาย บน PBV เพียง 0.9 เท่า จึงมองว่า ช่วงนี้เป็นอีก 1 จังหวะที่ดีในการทยอยเข้าสะสมหุ้น เพื่อรอรับการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป
ขณะที่ บล.กรุงศรี ปรับคำแนะนำหุ้น CPF ขึ้นเป็น"ซื้อ" (เดิมแนะนำ"ถือ") สะท้อนจากราคาเนื้อสัตว์ และ อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ประกอบกับ CPF ยังมีแผนในการนำธุรกิจในประเทศจีน และ เวียดนาม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี ซึ่งจะช่วยปลดล็อคมูลค่าธุรกิจของ CPF ในระยะถัดไป
*** ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ" มั่นใจการฟื้นตัว
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่าผลการดำเนินงานในระยะถัดไปของ CPF มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามราคาเนื้องสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุน อาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง หนุน GPM เริ่มฟื้น
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
เอเชีย พลัส |
ซื้อ |
32.00 |
ทิสโก้ |
ซื้อ |
32.00 |
กรุงศรี |
ซื้อ |
31.50 |
เอเชีย เวลท์ |
ซื้อ |
30.00 |
โนมูระฯ |
Neutral |
26.00 |
ราคาเฉลี่ย |
30.30 |
ราคาหุ้น CPF ณ ปัจจุบัน ยังมีอัพไซด์เหลือให้นักลงทุนได้ลุ้นอีกราว 20% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ ขณะที่ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวก ต่อผลการดำเนินงานปี 65 ของ CPF โดยมั่นใจว่า กำไรสุทธิปีนี้ ยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นราว 15.68 - 22.15%