efinancethai

หุ้นเด่นวันนี้

ส่องคาดการณ์งบแบงก์ Q2/66 เจ้าไหนกำไรเด่นสุด

ส่องคาดการณ์งบแบงก์ Q2/66 เจ้าไหนกำไรเด่นสุด


หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 2/66 ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มออกมาประเมินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่จะประกาศออกมาเป็นกลุ่มแรก โดยในไตรมาสนี้นักวิเคราะห์ ต่างประเมินว่า แบงก์ขนาดใหญ่ยังมีกำไรเติบโตดี แต่กลุ่มแบงก์ขนาดกลาง ดูเหมือนจะมีกำไรที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย  

 

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย จึงได้รวบรวมมุมมองของนักวิเคราะห์ชั้นนำ ว่า ในไตรมาส 2/66 นี้ แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ มีมุมมองต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างไร หุ้นตัวไหน แนวโน้มกำไรโตดีสุด และชะลอตัวลดลงมากที่สุด  และหุ้นตัวไหนที่โดดเด่นสุดในกลุ่ม

 

 

   ธนาคาร   

คาดการณ์งบ Q2/66 (ลบ.)

เปลี่ยนแปลง
YoY

  เมย์แบงก์      ดีบีเอสฯ      เคจีไอ      เอเซียพลัส      ดาโอ      พาย   

BAY

- - - 8,676 - - 10.74%
BBL 10,143 10,185 10,301 10,550 9,793 10,424

51.55-40.68%

KBANK 10,205 10,185 11,334 10,000 9,701 -

   -5.64 ถึง-10.12%   

KKP 1,713 1,943 1,951 1,900 1,907 -

-4.03 ถึง-15.74%

KTB 9,963 10,110 10,375 10,645 10,507 10,241

27.36-19.20%

SCB 10,111 11,304 11,261 11,110 10,805 -

10.53-0.59%

TISCO 1,791 1,803 1,788 1,750 1,780 1,847

-0.05 ถึง-5.30%

TTB 4,354 4,083 4,104 4,315 4,004 4,270

16.46-26.64%

 

 

*** เอเซียพลัส ให้มากสุด กำไรแบงก์ Q2/66 แตะ 5.9 หมื่นลบ. 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิกลุ่มฯ (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท (+0.3% QoQ ,+15% YoY) ซึ่งคาดการณ์ธนาคารที่รายงานกำไรเติบโตเด่นสุดในกลุ่มฯ เชิง QoQ คือ KTB ส่วน BBL ขยายตัวสูงสุดเชิง YoY หลักๆ หนุนด้วยการขยายตัวของ NIM

 

ในทางตรงข้ามฝ่ายวิจัยประเมิน KBANK, KKP และ TISCO จะรายงานกำไรลดลงทั้ง QoQ และ YoY เพราะมอง Credit Cost ของ KBANK (กรณีลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง) และ KKP (แรงกดดันด้าน NPL จากพอร์ตเช่าซื้อ) สูงขึ้น YoY ขณะที่ TISCO ถูกกดดันจาก Non – NII ตามภาวะตลาด

 

ทั้งนี้ หากกำไรสุทธิกลุ่มฯ ไตรมาส 2/66 ตามคาด จะทำให้กำไรสุทธิกลุ่มฯ งวดครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท (+14% YoY) คิดเป็นสัดส่วน 55.4% ของประมาณการกำไรกลุ่มฯ ปี 66 ของฝ่ายวิจัยที่ 2.1 แสนล้านบาท (+8.4% YoY)

 

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มฯ ไตรมาส 3/66 เติบโต YoY หนุนด้วย NIM ที่มีทิศทางสูงขึ้น ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ M-Rate โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยภายใน 1 ปีสูงกว่าธนาคารขนาดเล็ก ขณะที่ในเชิง QoQ ยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากการรับผลของการปรับขึ้น M-Rate ช่วง มิ.ย. 66 เต็มไตรมาส และ กรณีที่ กนง. เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมวันที่ 2 ส.ค. 66 เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของกำไร QoQ

 

นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ในส่วนของ Capital market ลุ้นความชัดเจนทางการเมือง ช่วยกระตุ้นมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้น หลังฐานงวดไตรมาส 2/66 ต่ำพอสมควร ขณะที่ค่าธรรมเนียมส่วนของ บลจ. คาดหวังการฟื้นตัวของ SET Index หลัง YTD ปรับฐานราว 9.9% underperformed ประเทศอื่นมากพอควร สะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองบางส่วนแล้ว ส่งผลให้ Risk to reward ของตลาดหุ้นไทยเริ่มน่าสนใจ

 

ส่วนทิศทางกำไรสุทธิกลุ่มฯ ไตรมาส 4/66 อ่อนตัว QoQ แม้กรณีที่ กนง. ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วง ส.ค. แต่มาปรับรอบการประชุม 27 ก.ย. 66 และ / หรือ 29 พ.ย. 66 เนื่องจากงวดไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายเร่งตัวตามฤดูกาล โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ ประกอบกับ แนวโน้ม Credit Cost เพิ่มขึ้น ทั้งจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว (ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้) จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ และ โอกาสที่ธนาคารมีการเพิ่มระดับสำรอง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในปีถัดไป

 

 

*** ดาโอ ยกกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” -  Valuation ยังถูก

 

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากสำรองฯ ที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้น แต่ลดลง -3% QoQ จากกำไรจากเงินลงทุน และ รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง

 

ทั้งนี้ กำไรสุทธิไตรมาส 2/66 คาดว่า ธนาคารที่จะเติบโตทั้งได้ YoY และ QoQ มีตัวเดียว คือ KTB จากแนวโน้มสำรองฯ ที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้นได้ดี ขณะที่ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตได้โดดเด่นเมื่อเทียบ YoY เรียงจากมาก-น้อย คือ BBL +41% และ KTB +26% ส่วนใหญ่เกิดจากสำรองฯ ที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบ YoY เรียงจากมาก-น้อย คือ KBANK -10% เพราะไม่มีกำไรพิเศษจากการตีราคาที่ดินมาช่วยเหมือนไตรมาส 1/66 และ KKP -6% จากขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้น เพราะเร่งขายรถมือสอง ส่วน TISCO -4% เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงจาก Brokerage fee ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มยังเติบโตได้ต่อในปีนี้อีก +15% YoY เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะช่วยให้ NIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ ด้านแนวโน้ม NPL จะไม่ปรับตัวเร่งขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะเป็นรูปแบบค่อยๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะหลายธนาคารมีการขายหนี้เสียออกไปค่อนข้างเยอะ ทำให้คาดว่า NPLs จะทยอยเร่งตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ อยู่ที่ 3.06% จากปี 65 ที่ 2.89%

 

อีกทั้ง ยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.70x PBV (-1.0SD below 10-yr average PBV) โดยเลือก KTB, BBL เป็น Top pick โดยชอบ KTB ราคา เป้าหมายปีนี้ที่ 21.00 บาท และ  BBL ราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 195.00 บาท

 

 

*** พาย คาดกำไรทั้งปียังไม่ถึง 2 แสนลบ

 

 นายธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ว่า กำไรธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง จะทรงตัว หรือ ใกล้เคียง QoQ ซึ่งไตรมาส 1/66 มีกำไร อยู่ที่ 51,700 ล้านบาท สาเหตุมาจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อมีการเติบโต และ NIM มีมาร์จิ้นที่ดี แต่ด้วยความที่ไตรมาส 1 รับรู้กำไรจากการลงทุน โดยเฉพาะหุ้นที่ไม่ดี อาจทำให้ลดทอนส่วนบวกจากสเปรดของสินเชื่อได้ แต่ถ้าหากเทียบ YoY กำไรเติบโต 15% สาเหตุมาจาก NIM เป็นหลัก โดยสินเชื่ออาจแผ่วไปบ้าง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


 
ซึ่งปีนี้คาดกำไรโต 15% หรือ อยู่ที่ 196,000 ล้านบาท โดยให้ BBL และ KTB เป็นหุ้น Top Pick ของฝ่ายวิจัย ซึ่ง BBL แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 190 บาท และ KTB แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 21.20 บาท

 

 

*** เมย์แบงก์ มองจังหวะเข้าลงทุนอยู่ในช่วง Q4/66 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  ประมาณการกำไรไตรมาส 2/66E ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 4.83 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YoY จาก NII และต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น โดยกำไรลดลง 4% QoQ จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย(non-NII) ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (opex) ที่สูงขึ้น และผลกระทบจากฐานที่สูงหลังจากทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 1/66 

 

คาดว่า BBL, TTB และ KTB  จะมีNII ที่เติบโตแข็งแกร่งและต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงขณะที่กำไรของ KKP คาดลดลงจาก NIM ที่ลดลงและผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายรถยนต์ที่ยึดคืน ขณะเดียวกัน สินเชื่อมีแนวโน้มทรงตัว YoY เนื่องจากบางบริษัทพึ่งพาการออกหุ้นกู้ ในขณะที่ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจ SME ส่วน Non-nii มีแนวโน้มอ่อนแอเนื่องจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อต่ำและกิจกรรมในตลาดทุนที่ชะลอตัว PPoP คาดว่าจะเติบโต 13% YoY นำโดย KTB และ BBL (จาก NII ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง)คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นอย่างช้าๆ

   

ยังคงเลือก KTB, TTB และ BBL เป็น Top Pick ของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2/66 จากการ เติบโตของ PPoP ที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ทรงตัว และ NIM ที่สูงขึ้น ทั้งนี้NIM โดยรวมของธนาคารมีแนวโน้มเติบโต QoQ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อและการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงขึ้นในไตรมาส 2/3/66 หุ้นเด่นของเรายังคงเป็นตัวเดิม เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่จำกัด สำหรับธนาคารที่ยังคงunderperform (KBANK และ KKP) เราแนะนำให้รอจังหวะดีๆ ตอนที่ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์คลี่คลายก่อนจะดีกว่า (คาดว่าจะเห็นในไตรมาส 4/66)

 

 

*** ดีบีเอสฯ มอง BBL -  KTB -  SCB กำไรจะดีทั้ง YoY และ QoQ

 

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คาดกำไรสุทธิ  Q2/66 กลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโตดี YoY โดยประเมินกำไรสุทธิ 7 ธนาคาร มีกำไรสุทธิงวดนี้เท่ากับ 49.9 พันล้านบาทเติบโต +14.8%YoY (-0.4%QoQ) โดยคาดว่า BBL, KTB, SCB จะมีกำไรสุทธิ เติบโต YoY และ QoQ

 

ด้านสินเชื่อ Q2/66 คาดว่าจะเติบโตอ่อนๆ คาดไว้ +0.6%YoY, +0.7%QoQ โดยสินเชื่อแบงก์เล็ก (KKP,TISCO) เติบโต YoY ได้ดีกว่าแบงก์ใหญ่ส่วนรายได้ Fee กระเตื้องขึ้น YoY สำหรับการตั้งสำรอง ECL ขึ้นกับแต่ละแบงก์ แต่โดยรวมคาดว่าจะลดลง QoQ (-9.3%QoQ)  ให้น้าหนักการลงทุน Overweight กลุ่มธ.พ. โดยให้ BBL และ KTB เป็นหุ้น Top Picks

 

 

*** เคจีไอ มอง KBANK ต้องระวัง แต่ราคาน่าสนใจ  

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  คาดว่ากำไรกลุ่มธนาคารใน Q2/66 จะเพิ่มขึ้น 14% YoY แต่จะลดลง 1% QoQกำไรที่เพิ่มขึ้น YoY จะเป็นเพราะ NIM ดีขึ้นส่งผลให้ NII เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของ BBL และ KTBซึ่งกำไรอ่อนไหวกับ NIM อย่างมาก ส่วนธนาคารอื่น ๆ เราคาดว่า NII จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เพราะ NIMดีขึ้นในจังหวะที่ช้ากว่า 

 

เราคาดว่ากำไรของ KBANK น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอเนื่องจาก FVTPL และค่าใช้จ่ายในการกันสำรองอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ส่วนกำไรของ SCB จะโตน้อยกว่าเพราะกำไรจากการลงทุน ในขณะที่กำไรของ TTB จะสะดุดเพราะรายได้ค่าธรรมเนียมตลาดทุนลดลง เช่นเดียวกับTISCO และ KKP 

 

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการกันสำรอง และ FVTPL เราคาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักของ กลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น 13% YoY ใน Q2/66 และ 14% ในงวด ครึ่งแรก ปี 66  


 
จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในประเทศช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล เราพบว่าธนาคารต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันไปในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 โดย SCB ได้ลดสถานะในตลาดเงิน และลดการลงทุนในตราสารหนี้ลง แล้วนำสภาพคล่องไปขยายสินเชื่อ ในขณะที่ KTB นำสภาพคล่องส่วนเกินมาลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งสวนทางกับ BBL ส่วน KBANK ยังอยู่ในโหมดระมัดระวัง โดยชะลอการขยายสินเชื่อ และเพิ่มสถานะในตลาดเงินซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้YTD ในขณะเดียวกัน การเร่งขายหนี้เสียออกมาจะทำให้ธนาคารกลับมาดำเนินกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตได้อีกครั้งในปีหน้า ส่วนในแง่ของราคาหุ้น เรามองว่า BBL ยังถูกที่สุด และตอนนี้ราคาหุ้น KBANK ดูน่าสนใจมากขึ้น โดยคิดเป็น PBV เพียง 0.6x และPE ที่ 8x 







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด