เช้านี้ KTC บวกสูงสุด 0.84% หลังโบรกฯคาดกำไร Q4/65 จ่อโตทั้ง YoY – QoQ หลังสินเชื่อขยายตัวเด่น แถมต้นทุนลดหนุนต้องอัพเป้ากำไรปีนี้ ส่วน Q1/66 มี"ช้อปดีฯ"รอหนุนผลการดำเนินงาน มองปี 66 กำไรยังโตราว 8 – 10% เดินหน้าทำนิวไฮต่อเนื่อง แถมอัพไซด์ยังเหลือเพียบ !
*** บวกสูงสุด 0.84% รับงบ Q4/65 แกร่ง
ราคาหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ช่วงเช้าวันนี้ (28 ธ.ค.65) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 59.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.84% จากวันทำการก่อนหน้า ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 59.25 บาท เท่ากับราคาปิดวันทำการก่อนหน้า มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 84.82% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น KTC ช่วงเช้าวันนี้ ปรับตัวขึ้นสูงสุด 0.84% เนื่องจากกำลังได้รับปัจจัยหนุน หลังนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่ประเมินว่า KTC จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 เติบโตได้ทั้งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และไตรมาสก่อน (QoQ)
*** เปิดสาเหตุทำไมงบ Q4/65 จ่อโตแกร่ง
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า KTC จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 (ราว 18 – 20 ม.ค.66) ที่ 1.83 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 47% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน มีปัจจัยหนุน จากสินเชื่อรวมที่เติบโตขึ้น 11% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นขยายตัว 11% ตั้งแต่ต้นปี (YTD)
โดยปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อของ KTC ขยายตัวโดดเด่น คือ ผลบวกจากช่วงเทศกาลเฉลมฉลองปลายปี, การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ และการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง คาดว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเติบโตขึ้น 9% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียม, ค่าบริการ และหนี้สูญรับคืน
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ มีแนวโน้มลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะในช่วงไตรมาส 4/65 มี addition ECL ของ KTBL ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ส่วน Coverage Ratio ประเมินว่า ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 418%
สอดคล้องกับ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ที่ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 ของ KTC ไว้ราว 1.8 พันล้านบาท เติบโตขึ้นทั้ง YoY และ QoQ มีปัจจัยหนุนจากสินเชื่อรวมที่เติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน และ 5% จากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงขึ้น ขณะที่ สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมาขยายตัว 8% จากปีก่อน
ด้าน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย คาดเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน และ 4% จากไตรมาสก่อน ตามรายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัว และรายได้หนี้สูญรับคืนสูงขึ้น อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯลดลง 24% จากปีก่อน เพราะไม่มีรายการพิเศษการปรับมูลค่าสำรอง KTBL จำนวน 539 ล้านบาท เหมือนปีก่อน
*** ต้นทุนเริ่มลด หนุนโบรกฯอัพเป้ากำไรปีนี้
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ KTC ขึ้นจากเดิมอีก 4% เป็น 7.2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 23% จากปีก่อน เพื่อสะท้อนต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ไตรมาส 3/65 ที่ผ่านมา ซึ่งจาก NPL Coverage ที่สูง และสินเชื่อมีหลักประกันเพิ่มขึ้น (เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และเช่าซื้อรถบรรทุก)
เราจึงลดคาดการณ์ต้นทุนสินเชื่อของ KTC เหลือ 5% (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.5%) ตั้งแต่ปี 65 – 68 ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) น่าจะอยู่ในระดับ 24 – 25% สำหรับปีนี้ และปี 66 ตามลำดับ
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ KTC ดังนี้
บล. | กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) | %chg YoY |
หยวนต้า | 7,251 | 23 |
ดาโอ | 7,198 | 22 |
*** โบรกฯชี้ Q1/66 ยังมีปัจจัยหนุนผลงาน
บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ KTC ยังมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจาก จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของสินเชื่อรวมแล้ว ยังมีปัจจัยพิเศษหนุนผลการดำเนินงานเพิ่มเติม อย่างโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล"ช้อปดีมีคืน" ระหว่าง 1 ม.ค. – 15 ก.พ.66
*** ส่องกำไรปี 66 ทำนิวไฮต่อ โต 8 - 10%
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ KTC ไว้ที่ 7.9 พันล้านบาท ทำระดับกำไรสุทธิสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) เติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน หนุนโดยสินเชื่อรวมขยายตัว 10% จากปีก่อน ตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวต่อเนื่อง และสินเชื่อ KTBL ที่เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก (ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม สคบ.)
นอกจากนี้ Loan Yield จะปรับตัวขึ้น 10 bps จากสินเชื่อส่วนบุคคล (High Yield) ที่เพิ่มขึ้น และการใช้วงเงินในบัตรที่สูงขึ้น ขณะที่ คาดว่า NPL จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 2.1% ตามการเพิ่มฐานลูกค้า Higher income ขณะที่ Cost of fund จะเพิ่มขึ้นปีละ 10 bps ตามอัตราดอกเบี้ยในอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
เช่นเดียวกับ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่ประเมินว่า กำไรสุทธิปี 66 ของ KTC มีแนวโน้มทำนิวไฮได้ต่อเนื่อง โดยประเมินไว้ที่ 7.65 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนหลัก จากการเติบโตของรายได้รวม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวม, ค่าธรรมเนียม – บริการ และหนี้สูญรับคืน
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ KTC ไว้ดังนี้
บล. | กำไรสุทธิปี 66 (ลบ.) | %chg YoY |
หยวนต้า | 7,942 | 10 |
เอเอสแอล | 7,801 | 8 |
*** กูรูชี้พื้นฐาน – Valuation ยังน่าสนใจ
บล.เอเอสแอล ระบุว่า KTC ยังมีความน่าสนใจในเชิงปัจจัยพื้นฐาน สะท้อนจากกำไรสุทธิ ทีมีแนวโน้มทำนิวไฮต่อเนื่องถึงปี 67 เป็นอย่างน้อย หนุนโดยปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และการขยายไปยังฐานลูกค้าใหม่ ๆ และการขยายพอร์ตสินเชื่อพี่เบิ้มที่ทำได้ดี อีกทั้ง คุณภาพสินเชื่อแกร่ง มี NPL coverage สูงกว่า 200% และการ Synergy กับ KTB ช่วยต่อยอดธุรกิจในระยะยาว
ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแง่มูลค่า (Valuation) หุ้น KTC ยังมีอัพไซด์ค่อนข้างสูงราว 19% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมของเราที่ประเมินไว้ที่ 68 บาท/หุ้น อีกทั้ง ยังเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ จุดเด่นที่สำคัญ คือ การจัดการต้นทุนดอกเบี้ยที่โดดเด่น เพราะมีวงเงินดอกเบี้ยต่ำจาก KTB
อีกทั้ง ช่วงที่ผ่านมา KTC ยังได้เพิ่มสัดส่วนหุ้นกู้ระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่อยู่ในเทรนด์ขาขึ้นอีกด้วย
*** ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงานของ KTC ยังมีแนวโน้มเติบโตทำนิวไฮได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 เป็นอย่างน้อย ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 หนุนให้อัตราการใช้จ่าย – สินเชื่อ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามต่อเนื่อง
บล. | คำแนะนำ | ราคาเหมาะสม (บ.) |
โนมูระฯ | ซื้อ | 75.00 |
เอเอสแอล | ซื้อ | 69.50 |
หยวนต้า | ซื้อ | 68.00 |
ดาโอ | ซื้อ | 68.00 |
เมย์แบงก์ฯ | ซื้อ | 68.00 |
ราคาเฉลี่ย | 69.70 |
ราคาหุ้น KTC ที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน ยังเหลืออัพไซด์ให้นักลงทุนได้ลุ้นอีกราว 17% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ ขณะที่ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในระยะสั้น KTC ยังมีปัจจัยหนุน จากผลการดำเนินงานไตรมาส 4/65 และ ไตรมาส 1/66 เติบโตโดดเด่น อีกทั้ง ระยะยาว คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิจะทำนิวไฮได้ถึงปี 67 เป็นอย่างน้อยอีกด้วย