CPF ราคาหุ้นฟื้น หลัง"กลุ่มซีพี" ชนะการประมูล "เทสโก้ โลตัส" แม้ CPF จะได้สัดส่วนถือหุ้นเพียง 20% แต่กลับเป็นผู้ชนะตัวจริงในดีลนี้! เหตุรับอานิสงส์มากสุด ช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า คาดดันยอดขายอาหารสดผ่านสาขาเทสโก้ โลตัส ทั้งไทยและมาเลฯได้อีกมหาศาล ลดต้นทุนขนส่ง และด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก ทำให้กระทบกำไรปี 63 แค่ 2.2 - 5.7% เท่านั้น
ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดตลาดวันนี้ฟื้นทำจุดสูงสุดรอบเช้าที่ 25.75 บาท หลังจากที่วูบไปแตะนิวโลว์รอบ 4 ปี ที่ 22.40 บาท ไปเมื่อวานนี้ ทั้งนี้ดัชนีมาปิดตลาดช่วงเช้านี้ไปที่ 25.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.05 บาท หรือ 4.34%
*** CPF ดิ่งทำจุดต่ำสุดรอบ 4 ปี ก่อนฟื้นตัว
วานนี้(9มี.ค.63) "กลุ่มซีพี" ประกาศชนะประมูลซื้อกิจการ "เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย" มูลค่ารวม 3.38 แสนล้านบาท คว้าสาขาเทสโก้โลตัสทั้งหมดในประเทศไทย และมาเลเซีย โดยประมูลผ่านบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วย บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL) ถือหุ้น 40% ใช้เงินลงทุน 9.59 หมื่นล้านบาท CPF ถือหุ้น 20% ใช้เงิน 4.79 หมื่นลบ.(หากรวมการถือหุ้นใน CPALL ด้วยเท่ากับถือหุ้นรวม 33.6%) และเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40% ดังนั้นจะทำให้ CPALL ได้รับสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 1.35 แสนล้านบาท และ CPF ได้รับสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.7 หมื่นล้านบาทอีกด้วย
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟมีความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนในเทสโก้เอเซีย เนื่องจากเป็นการต่อยอด Value Chain ของช่องทางการขายสินค้าของบริษัททั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย การปรับรูปแบบของการค้าเนื้อสัตว์ผ่านช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น บริษัทจึงมั่นใจว่าการลงทุนในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการที่จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยและมาเลเซียมีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มขึ้นในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้ ทำให้ยอดขายทั้งของเทสโก้และซีพีเอฟเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเทสโก้เอเซียเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าการผนึกกำลังกับเทสโก้เอเซียน่าจะส่งผลเสริมให้ผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้วนั้นดียิ่งขึ้นได้อีก
ทั้งนี้จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่าแม้ CPF จะได้ประเด็นบวกมาก แต่สิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นร่วงแรงก็คือ การที่ตลาดไม่คาดคิดมาก่อนว่า CPF จะเข้ามามีส่วนกับการประมูลเทสโก้ โลตัสทำให้ราคาหุ้นไม่เคยได้รับผลกระทบ(Price in)จากประเด็นนี้มาก่อน ดังนั้นหลังประกาศออกมาจึงเหมือนการรวบยอดผลกระทบเข้ามาในคราวเดียว
*** CPF เป็นผู้ชนะตัวจริง! รับอานิสงส์มากสุดจากเครือข่ายสาขาของ"เทสโก้ โลตัส"
แม้ CPALL จะเป็นหัวหอกในดีลซื้อกิจการ เทสโก้ โลตัส ครั้งนี้ ด้วยสัดส่วนถือหุ้นที่มากกว่า และจำนวนเงินลงทุนที่มากกว่า แต่ CPF จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จาก เทสโก้ โลตัสมากกว่า ดังนี้
1.CPF จะได้ช่องทางการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดย บล.หยวนต้า และ เอเซียพลัส ระบุว่า ปัจจุบันช่องทางค้าปลีกผ่าน Modern trade เป็นจุดอ่อนของ CPF เพราะปัจจุบันมีรายได้ผ่านการจำหน่ายผ่าน Tesco เพียงประมาณ 700 ล้านบาท/ปี ซึ่ง Tesco ครองส่วนแบ่งตลาด Hyper market ถึง 70% ดังนั้นคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 - 5 เท่าตัว สอดคล้องกับการซื้อกิจการ MAKRO ในปี 56 ซึ่งขณะนั้น CPF มียอดขายผ่าน MAKRO เพียง 500 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบัน CPF มียอดขายผ่าน MAKRO ถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี
2.นำแบรนด์ ห้าดาว รุกศูนย์อาหาร บล.หยวนต้า และ บล.เอเซียพลัส ระบุ CPF จะได้ประโยชน์อีกต่อจากการเพิ่มช่องทางการเติบโตจากการนำแบรนด์ "ห้าดาว" เข้าไปยังศูนย์อาหาร และการพัฒนาด้าน Food Service ให้ดีขึ้นโดยเฉพาะการบริหาร ศูนย์อาหารในเทสโก้ โลตัส
3.เพิ่มช่องทางการกระจายเนื้อสัตว์ไปยังมาเลเซีย ได้รับส่วนแบ่งกำไรทั้งจาก Tesco ประเทศไทยและมาเลเซียโดยตรงในสัดส่วน 20% และส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก CPALL ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น (ใน 1 - 2 ปีแรกอาจยังไม่มาก)
4.Synergy ในระยะยาว จะทำให้ Tesco เติบโตได้ก้าวกระโดด เช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับ Makro เป็น Upside ต่อประมาณการ เพราะ CPF มีสัดส่วนถือหุ้นทั้งทางตรงและอ้อมรวม 33.6% จึงได้ประโยชน์จากผลประกอบการของเทสโก้ โลตัสที่เติบโตด้วย
5.มีโอกาสที่กระแสเงินสดที่จะเข้ามาหากมีการนำสินทรัพย์ขายเข้ากอง TLGF เพิ่มเติม จากปัจจุบันยังขายเข้าน้อยมาก หรือ นำ Tesco ประเทศไทย หรือ มาเลเซียจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต
*** CPF ได้รับผลกระทบจากการเข้าซื้อไม่มาก คาดฉุดกำไรปี 63 เพียง 2.2-5.7%
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ในด้านจำนวนเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ที่ CPF ต้องลงทุน ผ่าน ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง นั้นจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และเงินกู้ยืม ซึ่งในกรณีที่คิดเป็นเงินกู้ยืมทั้งหมดจะทำให้ Net D/E ของ CPF เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่า จากเดิมที่ 1.4 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่า Covenant ที่ 2.0 เท่า จึงมองว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มทุน อย่างไรก็ตามเราคาดว่า CPF จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 63 อีกราว 4.9 หมื่นล้านบาท จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมทั้งหมด
ดังนั้นในกรณีที่ไม่รวมผลบวกจาก Synergy คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบต่อกำไรของ CPF ราว 400 ล้านบาท ถึง 1.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นราว 2.2 - 5.7% ของกำไรปี 63 ของ CPF (อ้างอิงสมมติฐานกำไรจาก Tesco 7.5 พันล้านบาท, ต้นทุนการกู้ยืม Bridging Loan ของ ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ 3.5% และต้นทุนการกู้ยืมของ CPF ที่ 3.7%) โดยผลกระทบต่อกำไรจะลดลงหาก CPF ใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานมาร่วมลงทุนด้วย
คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเหมาะสม 39 บาท ข้อดีคือการลงทุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อเงินทุนและกำไรของ CPF มากอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า
*** กูรูเตรียมปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 63-64 ขึ้น 16.8% และ 4.7% ตามลำดับ
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ขณะนี้ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 63 แต่ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 64 - 65 ขึ้นเล็กน้อย 0.1% และ 0.3% จากเดิม สะท้อนผลบวกจากการเข้าซื้อกิจการกลุ่มเทสโก้เอเชียตั้งแต่งวดไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป
แต่ภายหลังปรับปรุงประมาณการคาดกำไรสุทธิปี 63-64 จะเพิ่มขึ้น 16.8% yoy และ 4.7% yoy ขณะที่คาดกำไรปกติปี 63 - 64 จะเพิ่มขึ้น 18.9% yoy และ 11.4% yoy จากธุรกิจหมูในไทยและเวียดนามฟื้นตัวชัดเจน โดยราคาหมูไทยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 6.3% wow มาที่ 68 บาท/กก. นอกจากนี้ตลาดส่งออกไก่ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะหนุนให้แนวโน้มกำไรปกติงวดไตรมาส 1/63 จะเติบโตชัดเจนจากงวดไตรมาส 4/62
แนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเหมาะสม ปี 63 เท่าเดิมที่ 40 บาท ราคาหุ้นปรับฐานไปกว่า 21% ในรอบ 2 เดือน สวนทางกับธุรกิจหลักที่ฟื้นตัวชัดเจน
หากพูดถึง "เทสโก้ โลตัส" นักลงทุนส่วนใหญ่อาจมองไปที่ CPALL เป็นหลัก เพราะมีสัดส่วนถือหุ้นและเงินลงทุนมากที่สุด แต่ก็จะได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตโดยตรงของ เทสโก้ โลตัส เหมือนกรณี MAKRO เท่านั้น ดังนั้นในดีลนี้ CPF กลับเป็นผู้ชนะตัวจริงเสียมากกว่า เพราะนอกจากเงินลงทุนจะน้อยกว่าแล้ว ยังใช้ประโยชน์จากสาขา เทสโก้ โลตัส ได้มากกว่าอีกด้วย!