หุ้นนอนแบงก์(Non-Bank) กอดคอร่วงยกแผง หลัง SCB ประกาศรุกสินเชื่อรายย่อย ขณะที่โบรกฯหวั่นตลาดแข่งเดือดขึ้น ฉุดสินเชื่อโตต่ำกว่าคาด แต่มองการมาของ SCB ยังไม่ส่งผลกระทบช่วง 1-2 ปีนี้ ชี้เป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นสินเชื่อ หลังราคาหุ้นร่วงยกแผงจากความกังวลดังกล่าว คาดงบปลายปีฟื้น - กำไรปี 65 ยังโตแจ่ม!
*** SCB รุกสินเชื่อ ฉุดหุ้น Non-Bank ร่วงยกแผง
กลายเป็นกระแสข่าวร้อนแรงขึ้นมาทันที หลังธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทาง SCB จะหันมารุกธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น การส่งสัญญาณดังกล่าว สร้างความสั่นสะเทือนโดยตรงต่อบริษัทสินเชื่อขนาดใหญ่-น้อย ส่งผลให้ราคาหุ้นใหญ่ในกลุ่มดังกล่าววานนี้ (23 ก.ย.64) ปรับตัวลงยกแผง
โดย ราคาหุ้น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ร่วงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 58.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 60 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ-2.04%
ขณะที่ ราคาหุ้น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 35.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายวันดังกล่าวด้วยราคา 36.25 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ -2.02%
ส่วน ราคาหุ้น บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ร่วงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 63.75 บาท ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 65 บาทลดลง 1 บาท หรือ 1.51%
*** กูรูหวั่น อุตสาหกรรมเดือดหนัก - สินเชื่อโตต่ำคาด
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย ต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ จากประเด็นข่าวดังกล่าว เนื่องจาก จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อ มีแนวโน้มช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม มองว่า มีสินเชื่อ 5 ประเภท ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย 1.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์, 2.สินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มรถยนต์หรู, 3.สินเชื่อบัตรเครดิต, 4.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ 5.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบต่ำกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มฯ ภายใต้สมมติฐานพอร์ตสินเชื่อของแต่ละบริษัท ลดลงทุก 1% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มสินเชื่อ มีดาวน์ไซด์ราว 0.7% ขณะที่คาดว่า MICRO เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มสินเชื่อ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก เป็นหลัก
*** แต่ระยะสั้นไม่กระทบ กูรูชี้เป็นจังหวะสะสม รับงบปลายปีฟื้น
บล.ทรีนีตี้ มองว่า การรุกตลาดสินเชื่อของ SCB ในระยะสั้นยังไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ มองว่า กลยุทธ์ดังกล่าว จะช่วยหนุนการเติบโตระยะยาวมากกว่า โดยประเมินจากสมมติฐาน ธุรกิจการเงินของ SCB มีระดับ D/E Covenant ราว 7 เท่า จะทำให้มีเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อเต็มที่ 4.8 พันล้านบาท เท่านั้น
สอดคล้องกับ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่มองว่า แม้ในระยะสั้น ตลาดจะมีความกังวลต่อการรุกสินเชื่อรายย่อยของ SCB ที่อาจกระทบต่อบริษัทสินเชื่อเดิม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ ยังค่อนข้างจำกัด
ขณะที่ กำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มฯ จะเริ่มฟื้นตัวโดดเด่น ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 ถึงปี 65 หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดระดับลงจากช่วงเดือน ส.ค.ที่มีการติดเชื้อราว 2 หมื่นคน/วัน ซึ่งคาดเป็นจุดสูงสุดแล้ว จึงมองช่วงนี้เป็นโอกาสสะสมหุ้นสินเชื่อ อย่าง TIDLOR, MTC และ SAWAD
โดย นักวิเคราะห์รายอื่นๆ ได้ประเมินกำไรสุทธิปี 64-65 ของ TIDLOR-SAWAD-MTC ไว้ดังนี้
ชื่อย่อหุ้น |
บล. |
กำไรสุทธิปี 64 (ลบ.) |
%chg. YoY |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg.YoY |
TIDLOR |
เมย์แบงก์ฯ |
3,215 |
33.07 |
4,085 |
27.06 |
TIDLOR |
โนมูระฯ |
3,142 |
30.04 |
4,051 |
28.93 |
SAWAD |
บัวหลวง |
5,475 |
21.45 |
6,089 |
11.21 |
SAWAD |
เมย์แบงก์ฯ |
4,965 |
10.13 |
5,747 |
15.75 |
MTC |
หยวนต้า |
5,684 |
9.01 |
6,607 |
16.23 |
MTC |
ฟินันเซียฯ |
5,374 |
3.06 |
6,637 |
23.50 |
*** โบรกฯเลือก TIDLOR เป็น Top Pick
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ภายพรวมอุตสาหกรรมปี 64 - 67 ยังมีแนวโน้มเติบโต 11% ต่อปี ขณะที่ กำไรสุทธิของกลุ่มในช่วงปี 64 - 67 คาดเติบโตราว 15% ต่อปี แม้คุณภาพสินทรัพย์แย่ลง NPL Ratio คาดปรับระดับขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2-3% แต่เป็นระดับที่ไม่ได้น่ากังวล และบริษัทฯยังควบคุมได้ โดยยังคงเลือก TIDLOR เป็น Top Pick ของกลุ่มฯ ด้วยราคาเหมาะสม 50 บาท/หุ้น
ขณะที่ บล.เคทีบีเอสที ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานระยะยาวปี 64-67 ของ TIDLOR คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ย 30% ต่อปีหนุนโดยสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ, จำนวนผู้ใช้งาน TIDLOR Card ที่เพิ่มขึ้น และโอกาสในการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ รวมทั้งแนวโน้มค่าใช้จ่ายดำเนินงานระยะยาวที่ลดลง
*** เตรียมตัว 2 ปีจากนี้ เป็นเวลาปรับตัวเพื่ออยู่รอด!
หากอ้างอิงข้อมูลของนักวิเคราะห์ ดูเหมือนการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มสินเชื่อวานนี้ จะเป็นปัจจัยลบเชิงจิตวิทยา ที่เข้ามากระทบในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งผลการดำเนินงานในกลุ่มฯ มีแนวโน้มเริ่มฟื้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ดันกำไรปี 65 กลับมาโตแรง ส่วนการเข้ามาในตลาดของ SCB อาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี จึงเริ่มมีผลกระทบต่อกลุ่มฯ แต่นักวิเคราะห์มองว่า หลายบริษัทคงไม่อยู่เฉย และมีกลยุทธ์รับมือ ซึ่งยังพอมีเวลา สำหรับการปรับหมากในการแข่งขันอยู่บ้าง...