เช้านี้ MTC ดีดทำนิวไฮรอบ 2 เดือน รับเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่โบรกฯคาดงบ Q1/66 จ่อโตได้ทั้ง YoY – QoQ รับรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อ อีกทั้ง หุ้นจ่อขึ้น XD 27 เม.ย.นี้ แจกยีลด์ 2.7% ชี้ยังมีช่องว่างขยับขึ้นดอกเบี้ยชดเชยค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ยังทรงตัวสูง คาดกำไรปีนี้โตได้ราว 2 – 19%
*** นิวไฮ 2 เดือน รับเงินเฟ้อชะลอตัว
ราคาหุ้น บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ช่วงเช้าวันนี้ (19 เม.ย.66) ดีดขึ้นทำจุดสูงสุดที่ราคา 37.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.02% จากวันทำการก่อนหน้า ทำระดับราคาหุ้นสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) รอบ 2 เดือน ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 37 บาท เท่ากับราคาปิดวันทำการก่อนหน้า มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 72.49% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ระบุสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น MTC เช้านี้ ปรับตัวขึ้นทำนิวไฮรอบ 2 เดือน เนื่องจากกำลังได้รับ Sentiment เชิงบวก จากเงินเฟ้อในประเทศไทย เข้าสู่โหมดชะลอตัว อีกทั้ง ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ MTC มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง
*** เปิดสาเหตุทำไมงบ Q1/66 จ่อโตแกร่ง
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ของ MTC ไว้ที่ 1.4 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 1% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน มีปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ อีกทั้ง ผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขาย มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม MTC ยังเผชิญกับแรงกดดันด้านการตั้งสำรองหนี้สูญ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรสุทธิในช่วงดังกล่าว ยังเติบโตขึ้นจากปีก่อนไม่มากนัก
ขณะที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ MTC คือ การเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 23% จากปีก่อน อีกทั้งยังมีผลตอบแทนสินเชื่อ (Yield) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10bps ประกอบกับ Credit cost คาดลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6% เทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 4%
*** ระยะสั้นยังมีปันผลปี 65 ให้ยีลด์ 2.7%
นอกจากนี้ MTC ยังประกาศจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 65 ในอัตรา 0.95 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ระดับ 2.7% คิดเป็น Payout Ratio ที่ระดับ 39.5% สูงกว่าระดับปกติของบริษัทที่ 15% โดยจะขึ้นเครื่องหมายไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) วันที่ 27 เม.ย.นี้ และจ่ายเงินปันผล 17 พ.ค.66
*** แม้สำรองฯยังสูง แต่กูรูชี้มีวิธีรับมือ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า การตั้งสำรองหนี้เสียพอร์ตสินเชื่อของ MTC ยังอยู่ในทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ตามขนาดหนี้เสีย (NPL) ที่ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะ
แต่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า ยังมีวิธีที่ MTC จะสามารถลดผลกระทบดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจุบัน MTC คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ (สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 16% และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 18% ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยที่ระดับ 24%)
ทั้งนี้ เพื่อบริหารจัดการ Credit cost ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก MTC จึงได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บางส่วนขึ้น ทำให้ Yield เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนราว 40 bps อีกทั้ง MTC ยังมีช่องให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีก หาก Credit cost ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
*** คาด NPL จะผ่านจุดพีคราว Q3/66
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า จากการสอบถามข้อมูลไปยังผู้บริหาร MTC มองว่า NPL ที่ยังไม่ลดลง เป็นผลจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างทั่วถึง โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวแล้ว แต่ส่งออกยังไม่ค่อยดีเท่าไร เชื่อว่า การที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้เป็นผลหลักจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ประเมินว่า NPL ในช่วงครึ่งปีแรกจะไม่เกินระดับ 3.3%
ขณะที่ คาดว่า NPL จะผ่านจุดสูงสุดของปีในช่วงไตรมาส 3/66 หลังผ่านพ้นหารเลือกตั้ง จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น หนุนรายได้ในกลุ่มรากหญ้าระยะสั้น ประกอบกับ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
*** ส่องกำไรปี 66 คาดโตได้ราว 2 - 19%
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ MTC ไว้ที่ 6 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 19% จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนจากอัตราการเติบโตสินเชื่อปี 66 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 18% หลังความต้องการสินชื่อในพื้นที่ต่างจังหวัดเร่งตัวขึ้น จากการที่การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง
นอกจากนี้ MTC ยังมีแผนเดินหน้าเปิดสาขาเชิงรุก โดยปีนี้ตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 600 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสาขาทั้งหมด 7.2 พันแห่ง เพื่อรองรับ และขยายพื้นที่บริการแก่ลูกค้าทั่วถึงมากขึ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ MTC ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 66 (ลบ.) |
%chg YoY |
เคจีไอ |
5,340 |
5 |
แลนด์ฯ |
5,149 |
2 |
*** กูรูชี้ Valuation กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับคำแนะนำหุ้น MTC ขึ้นเป็นซื้อ (เดิมแนะนำถือ) หลังราคาหุ้นก่อนหน้านี้ปรับตัวลงอย่างมาก จากความกังวลเรื่องการตั้งสำรองฯยังสูง จนทำให้ Forward P/E ปี 66 – 67 ของ MTC อยู่ที่ระดับ 13.5 เท่า และ 11 เท่า ตามลำดับ ซึ่งเรามองว่า ที่ระดับดังกล่าว ถือว่ามีความน่าสนใจเข้าลงทุนเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้ง MTC ยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง และมีเครือข่ายที่ใหญ่สุดกระจายไปทั่วประเทศ ประกอบกับ ธุรกิจ Non – Bank ยังมีความจำเป็นต่อกลุ่มลูกค้าระดับล่าง จึงทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานของ MTC ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว
*** ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
หยวนต้า |
ซื้อเก็งกำไร |
44.00 |
เคจีไอ |
ซื้อ |
42.00 |
ฟิลลิป |
ซื้อ |
42.00 |
แลนด์ฯ |
ซื้อเมื่ออ่อนตัว |
38.00 |
ราคาเฉลี่ย |
41.50 |
หากอ้างอิงข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ดูเหมือนว่า Credit cost ของ MTC ยังคงทรงตัวสูงต่อไปสักระยะ แต่ยังมีปัจจัยที่พอช่วยลดผลกระทบได้บ้าง คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังพอมีช่องว่าให้ขยับขึ้นได้ และคาดว่า เมื่อ NPL ผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/66 ไปแล้ว ก็มีโอกาสที่ ผลการดำเนินงานของ MTC จะเร่งตัวแรงขึ้นได้
ทั้งนี้ ราคาหุ้น MTC ตั้งแต่ต้นปี (YTD) ลดลงราว 4% ถือว่ายังค่อนข้าง Laggard หุ้นในกลุ่มอื่น ๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน เหลืออัพไซด์ให้นักลงทุนได้ลุ้นอยู่ราว 14% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ อีกด้วย ...