หุ้นแบงก์รายงานกำไร Q2/66 รวม 6.1 หมื่นลบ. โต 17% ส่วนใหญ่งบดีกว่าคาด เหตุ NIM โตตามดอกเบี้ยขาขึ้น 3 แบงก์ถูกอัพเป้า ส่วนอีก 3 แบงก์ถูกหั่นเป้าแม้ 2 ใน 3 งบดีกว่าคาด แต่ยังกังวล Credit cost สูงต่อ วงการคาด H2/66 งบชะลอตัวจาก H1/66 ตามฤดูกาล แต่คาดทั้งปีกำไรรวม 1.9 แสนลบ. โต 20% แนะลงทุนแบงก์ใหญ่รับอานิสงส์ NIM โตแรง - ปันผลสูง
*** หุ้นแบงก์กำไร Q2/66 รวม 6.1 หมื่นลบ. โต 17%
หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศงบการเงินไตรมาส 2/66 ออกมาหมดแล้ว โดยมีกำไรสุทธิรวม 6.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อรวมกำไรสุทธิครึ่งปีแรก (H1/66) ของกลุ่มอยู่ที่ 1.21 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศออกมา ส่วนใหญ่ดีกว่าที่ตลาด (Consensus) คาดการณ์ไว้ เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ย (NIM) สูงขึ้น ตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
*** พบ 6 หุ้นแบงก์ถูกปรับเป้ากำไร - ราคาเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ได้สำรวจบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ออกมาหลังหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ครบถ้วน พบว่า มี 8 ธนาคารที่มีบทวิเคราะห์รองรับ โดยนักวิเคราะห์ได้มีการปรับประมาณการ ดังนี้
แห่ปรับเป้ากำไร-ราคาเหมาะสมหุ้นแบงก์ หลังประกาศงบ Q2 |
ชื่อย่อหุ้น | บล. | กำไรปี 66 (ลบ.) | %ปรับเพิ่ม | ราคาเหมาะสม (บ.) | เปลี่ยนแปลง (บ.) | %อัพไซด์* |
TTB | ฟิลลิป | 17,500 | 17.45 | 1.9 | 0.24 | 13.77 |
เอเชีย พลัส | 17,700 | 17.06 | 1.8 | 0.15 | 7.78 |
อินโนเวสท์ เอกซ์ | 17,039 | 10.07 | 1.7 | 0.2 | 1.80 |
ดาโอ | 17,067 | 7.03 | 1.85 | 0.2 | 10.78 |
เคจีไอ | 16,461 | 6.06 | 1.85 | 0.2 | 10.78 |
เมย์แบงก์ฯ | 18,329 | 5.07 | 1.75 | 0.05 | 4.79 |
BAY | อินโนเวสท์ เอกซ์ | 34,296 | 12.43 | 38 | 6 | 22.58 |
ฟิลลิป | 34,900 | 0.00 | 38 | 0 | 22.58 |
KTB | เอเชีย พลัส | 38,375 | 7.97 | 21.9 | 1.6 | 8.42 |
พาย | 39,919 | 4.55 | 23 | 1.6 | 13.86 |
กรุงศรี พัฒนสิน | 40,435 | 4.00 | 25 | 1 | 23.76 |
หยวนต้า | 37,894 | 3.97 | 23 | 2 | 13.86 |
ดาโอ | 39,693 | 3.65 | 24 | 3 | 18.81 |
ทรีนีตี้ | 39,486 | 0.00 | 24 | 2 | 18.81 |
KKP | บัวหลวง | 6,446 | -26.85 | 62 | -33 | 11.21 |
ฟิลลิป | 6,600 | -25.00 | 63 | -23 | 13.00 |
หยวนต้า | 7,658 | -17.85 | 77.5 | -7.5 | 39.01 |
เอเชีย พลัส | 6,718 | -11.59 | 65 | -8 | 16.59 |
ดาโอ | 8,239 | -8.00 | 64 | -8 | 14.80 |
KBANK | หยวนต้า | 41,830 | -5.57 | 167 | -11 | 34.14 |
ดีบีเอสฯ | 41,320 | -4.52 | 133 | -21 | 6.83 |
เอเอสแอล | 41,489 | -4.08 | 156 | -9.5 | 25.30 |
เมย์แบงก์ฯ | 40,923 | -3.46 | 140 | -20 | 12.45 |
ดาโอ | 38,744 | -0.52 | 146 | -29 | 17.27 |
SCB | หยวนต้า | 45,254 | -4.80 | 140 | -4 | 30.23 |
พาย | 42,734 | -0.15 | 122 | 0 | 13.49 |
เมย์แบงก์ฯ | 43,357 | 4.28 | 135 | 5 | 25.58 |
กรุงศรี พัฒนสิน | 41,300 | 0.00 | 125 | -5 | 16.28 |
BBL | คิงส์ฟอร์ด | 39,332 | 0.00 | 196 | 0 | 16.67 |
ฟินันเซียฯ | 37,924 | 0.00 | 197 | 0 | 17.26 |
ดาโอ | 38,608 | 0.00 | 195 | 0 | 16.07 |
ฟิลลิป | 41,700 | 0.00 | 191 | 0 | 13.69 |
ทรีนีตี้ | 36,571 | 0.00 | 181 | 0 | 7.74 |
หยวนต้า | 35,657 | 0.00 | 190 | 0 | 13.10 |
เอเชีย พลัส | 40,140 | 0.00 | 191 | 0 | 13.69 |
TISCO | ฟินันเซียฯ | 7,462 | 0.00 | 111 | 0 | 13.27 |
คิงส์ฟอร์ด | 7,266 | 0.00 | 104 | 0 | 6.12 |
ฟิลลิป | 7,924 | 0.00 | 107 | 0 | 9.18 |
เอเชีย พลัส | 7,430 | 0.00 | 108 | 0 | 10.20 |
หยวนต้า | 7,614 | 0.00 | 116 | 0 | 18.37 |
เคจีไอ | 7,200 | 0.00 | 107.5 | 0 | 9.69 |
ดาโอ | 7,440 | 0.00 | 105 | 0 | 7.14 |
ที่มา : บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) *อัพไซด์เทียบราคาปิด 24 ก.ค.67 |
8 ธนาคารดังกล่าว ถูกนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 - ราคาเป้าหมาย ขึ้นและลงจำนวน 3 ธนาคาร เท่ากัน ส่วนอีก 2 ธนาคาร ยังถูกโบรกเกอร์คงประมาณการกำไรสุทธปี 66 - ราคาเป้าหมายไว้ดังเดิม
*** TTB ถูกโบรกฯอัพเป้ากำไรสูงสุดถึง 17%
ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ถูกนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ขึ้นมากที่สุดระหว่าง 5.07 - 17.45% เป็น 1.64 - 1.83 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 16 - 30% จากปีก่อน อีกทั้งยังถูกปรับราคาเหมาะสมขึ้นอีก 0.05 - 0.24 บาท/หุ้น ได้ราคาเหมาะสมใหม่ระหว่าง 1.75 -1.9 บาท/หุ้น หนุนให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ระหว่าง 4.79 - 13.77%
สาเหตุหลักที่นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิ - ราคาเป้าหมายของ TTB ขึ้น เป็นเพราะกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 8% จากการเติบโของ NIM ที่ทำได้ 3.21% (ตลาดคาดเติบโต 3.1%) เพราะมีการปล่อยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น อาทิ สินเชื่อรถแลกเงิน (จำนำทะเบียน), สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมสูงกว่าคาดด้วย
*** พบอีก 2 แบงก์ ถูกอัพเป้าหลังงบ Q2/66
ขณะที่ มีอีก 2 ธนาคาร ที่ถูกนักวิเคราะห์ปรับกำไรสุทธิปี 66 - ราคาเหมาะสมขึ้น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ถูกปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 12.43% เป็น 3.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 13% จากปีก่อน และถูกปรับราคาเหมาะสมขึ้นอีก 6 บาท/หุ้น เป็น 38 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ 22.58%
สาเหตุหลัก ที่นักวิเคราะห์ปรับคาดการณกำไรสุทธิ - ราคาเป้าหมายของ BAY ขึ้น เป็นเพราะกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ดีกว่าที่โบรกเกอร์คาดไว้ถึง 18% เนื่องจาก NIM ที่เพิ่มขึ้น 30 bps จากไตรมาสก่อน ตามผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 48 bps จากไตรมาสก่อน ซึ่งมากกว่าต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 22 bps จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ การเติบโตของสินเชื่อ BAY ช่วงไตรมาส 2/66 ยังดีกว่าคาด โดยเติบโตขึ้น 3.1% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 2.8% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เติบโตขึ้น 3.1% ปัจจัยหลัก เป็นเพราะการเติบโตของลูกค้ากลุ่มรายย่อย และผู้ประกอบการ SME ช่วยหนุน
ด้าน ธนาคารกรุงไทย (KTB) ถูกปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ขึ้นจากเดิม 3.65 - 7.97% เป็น 3.7 - 4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 13 - 20% จากปีก่อน อีกทั้งยังถูกปรับราคาเหมาะสมขึ้นอีก 1 - 3 บาท/หุ้น เป็น 21.9 - 25 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ระหว่าง 8.42 - 23.76%
สาเหตุหลัก ที่นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิ - ราคาเป้าหมายของ KTB ขึ้น เป็นเพราะ NIM ที่เติบโตขึ้นมากกว่าคาดอยู่ที่ 3.21% (ตลาดคาดเติบโต 3.1%) เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และเน้นขยายสินเชื่อรายย่อย, บ้าน และ KTB Leasing มากขึ้น และต้นทุนความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ (Credit cost) ลดลงพร้อมคุณภาพสินทรัพย์ที่ไม่น่ากังวล
*** ฟาก KKP ถูกหั่นเป้ากำไร - ราคาเป้าหมายมากสุด
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ถูกปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ลงมากที่สุด 8 - 26.85% เหลือ 6.4 - 8.2 พันล้านบาท หดตัว 15% จากปีก่อน - เติบโตขึ้น 7% จากปีก่อน อีกทั้งถูกปรับลดราคาเหมาะสมลงอีก 8 - 33 บาท/หุ้น เหลือ 62 - 77.5 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ลดลงเหลือระหว่าง 11.21 - 39.01%
สาเหตุหลัก ที่นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิ - ราคาเป้าหมายของ KKP ลง เป็นเพราะกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ถึง 24% ตามการตั้งสำรองฯที่รวมขาดทุนรถยึดอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท (ตลาดคาด 2.3 พันล้านบาท) ประกอบกับ คาดการณ์ว่า KKP จะยังเผชิญการตั้งสำรองฯสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 66
ส่วนอีก 2 ธนาคารที่ถูกปรับลดคาดการณ์ลง ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ถูกปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 66 ลงจากเดิม 0.52 - 5.57% เหลือ 3.8 - 4.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 9 - 17% จากปีก่อน อีกทั้งถูกปรับลดราคาเหมาะสมลงอีก 9.5 - 29 บาท/หุ้น เหลือ 133 - 167 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน เหลืออัพไซด์ระหว่าง 6.83 - 34.14%
สาเหตุหลัก เป็นเพราะแนวโน้มการตั้งสำรองฯที่ยังเพิ่มขึ้นได้ต่ออีกจนถึงอย่างน้อยช่วงครึ่งแรกของปี 67 เนื่องจากการ Clean up B/S ถุกเลื่อนออกไปเพราะปี 66 มีลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ สะท้อนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง จาก NPL ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% (ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 3.04%)
ฟาก บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ถูกปรับลดกำไรสุทธิลงจากเดิม 0.15 - 4.8% เหลือ 4.1 - 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 11 - 22% จากปีก่อน และถูกปรับราคาเหมาะสมลงอีก 4 - 5 บาท/หุ้น เหลือ 122 - 140 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน เหลืออัพไซด์ระหว่าง 13.49 - 30.23%
สาเหตุหลัก เป็นเพราะ Credit cost ปี 66 มีแนวโน้มมากกว่าเป้าหมาย 1.2 - 1.4% ของบริษัท หลังผู้บริหาร SCB มีมุมมองระมัดระวังต่อคุณภาพหนี้กลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัญญาณเชิงลบมากขึ้น เพราะใหล้หมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกหนี้จะต้องเริ่มจ่ายขั้นต่ำในอัตราสูงขึ้น จึงมีโอกาสไหลตกมาเป็น NPL มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม SCB เป็นธนาคารที่โบรกเกอร์มีมุมมองไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากมีนักวิเคราะห์ที่ปรับคาดกำไรสุทธิปี 66 - ราคาเหมาะสมของ SCB ขึ้นด้วย เพราะมองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ทาง SCB จะได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ NIM ตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ในช่วงดังกล่าวอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง
*** ส่วน TISCO - BBL ยังถูกโบรกฯคงเป้าเดิม
ทั้งนี้ 2 ธนาคารที่เหลือ ยังคงถูกโบรกเกอร์คงเป้าหมายตามเดิม ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ถูกคาดกำไรสุทธิปี 66 ระหว่าง 3.5 - 4.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 21 - 41% จากปีก่อน และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 181 - 197 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ระหว่าง 7.74 - 17.26%
ปิดท้ายด้วย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ยังถูกนักวิเคราะห์คงกำไรสุทธิปี 66 ไว้ระหว่าง 7.2 - 7.9 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 0.5 - 10% จากปีก่อน และคงราคาเหมาะสมไว้ระหว่าง 104 - 116 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ระหว่าง 6.12 - 18.37%
*** วงการชี้งบ H2/66 จ่อชะลอ QoQ แต่ยังโต YoY ได้
ด้าน บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ช่วงครึ่งหลังปี 66 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 66 ตามปัจจัยฤดูกาล เนื่องจากธนาคารจะมีการตั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการลงทุนต่าง ๆ จำนวนมากในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าว ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน ตามทิศทางการตั้งสำรองฯของธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นขาลง ประกอบกับ NIM ที่เริ่มมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้น ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เนื่องจากสภาพคล่องเงินฝากยังไม่ตึงตัว
ขณะที่ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ คาดทยอยเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี หนุนให้ทั้งปี 66 หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรสุทธินวมกันราว 1.97 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 20% จากปีก่อน
*** แนะลงทุนหุ้นแบงก์ใหญ่ - ปันผลสูง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินพื้นฐานของธนาคารไทยยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยระยะสั้นจะมีปัจจัยหนุนราคาหุ้นจากการประกาศจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรกของปี 66 โดยแนะนำ SCB เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่คาดผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่น
อีกทั้ง ในระยะยาว SCB จะมีความน่าสนใจมากขึ้น ตามสัดส่วนกำไรธุรกิจ Consumer Finance เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งเป็นหุ้นธนาคารที่มีการจ่ายเงินปันผลระดับสูง โดยคาดเงินปันผลทั้งปี 66 จะคิดเป็น Dividend Yield ระดับ 6.5%
สอดคล้องกับ บล.โกลเบล็ก ที่เสริมว่า ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น "Overweight" โดยแนะนำลงทุนหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เพราะคาดจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มธนาคารขนาดเล็ก โดยมี Top pick คือ SCB, BBL, KTB, KBANK และ TISCO