เช้านี้ KTB บวกสูงสุด 3.6% หลังโบรกฯคาดงบ Q1/66 จ่อโตแกร่ง รับอานิสงส์ขึ้นดอกเบี้ยเต็มไตรมาส แถมยังมีปันผลปี 65 ให้ยีลด์สูง 4% จ่อขึ้น XD 18 เม.ย.นี้ กางแผนปีนี้จ่อขยายสินเชื่อดิจิทัลโต 2 เท่า หนุนกำไรทั้งปี 66 ยังโตต่อได้ราว 5 – 11% แถมอัพไซด์ยังเหลือเพียบ !
*** บวกสูงสุด 3.6% รับงบ Q1/66 แกร่ง
ราคาหุ้น ธนาคารกรุงไทย (KTB) ช่วงเช้าวันนี้ (11 เม.ย.66) ดีดขึ้นทำจุดสูงสุดที่ราคา 17.30 บาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากวันทำการก่อนหน้า ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคาดังกล่าว มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 265% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น KTB เช้านี้ ปรับตัวขึ้นสูงสุด 3.6% เนื่องจากกำลังได้รับ Sentiment เชิงบวก หลังนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ KTB มีแนวโน้มอยู่ในระดับแข็งแกร่ง
*** เปิดสาเหตุทำไมงบ Q1/66 จ่อโตแกร่ง
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ของ KTB ไว้ที่ 8.9 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 1% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน มีปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ประกอบกับ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ คุณภาพสินเชื่อที่ยืดหยุ่นของ KTB จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ทรงตัวที่ระดับ 3.3% ด้วยอัตราส่วนความสามารถชำระค่าเผื่อหนี้สูญ (LLC Ratio) ที่ยังอยู่ในระดับสูง 182% ทำให้บริษัทพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่มองว่า กำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ของ KTB มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั้งเทียบปีก่อน และไตรมาสก่อน มีปัจจัยหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เต็มไตรมาส ประกอบกับ OPEX มีแนวโน้มลดลง ตามปัจจัยฤดูกาล
*** ระยะสั้นมีปันผลปี 65 แจกยีลด์สูง 4%
นอกจากนี้ ในระยะสั้น ยังมีปัจจัยหนุนราคาหุ้น KTB จากการประกาศจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 65 ที่อัตรา 0.682 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ระดับ 4% โดยจะขึ้นเครื่องหมายไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) วันที่ 18 เม.ย.นี้ และจ่ายเงินปันผล วันที่ 3 พ.ค.66
*** คาดงบ Q2/66 ยังเดินหน้าโต QoQ ได้
บล.กรุงศรี ประเมินว่า กำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ของ KTB มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน มีปัจจัยหนุนจากรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวม และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจในประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว
*** ปีนี้จ่อลุย Virtual Bank – ร่วมทุน AMC
ล่าสุด KTB เพิ่งประกาศตั้งงบลงทุน 1.2 หมื่นบ้านบาท เพื่อเตรียมตัวลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที – ดิจิทัล อีกทั้ง ยังเดินหน้า Virtual Bank โดยคาดว่า กฎจะชัดเจนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อีกทั้ง ยังกำลังมองหาพันธมิตรร่วมลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
โด บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อประเด็นดังกล่าว เพราะมองว่าแผนเติบโตระยะยาวของ KTB ที่หันมาเน้นธุรกิจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากในอดีต จะช่วยให้ KTB มี ROE ที่เร่งตัวขึ้น เช่น การเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม High Yield ผ่านช่องทาง Digital Platform ที่มีการเชื่อมโยงกับ Ecosystem อื่น ๆ เช่น เป๋าตัง และ ถุงเงิน ทำให้เข้าถึงลูกค้าหลากหลายมากขึ้น
*** ส่องกำไรปี 66 คาดโตราว 5 - 11%
บล.ทรีนีตี้ ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ KTB ไว้ที่ 3.74 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 11% จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากสินเชื่อที่กลับมาเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ และ NIM ที่อาจทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น แม้จะมีการปรับขึ้นเงินนำส่ง FIDF ก็ตาม
นอกจากนี้ ยังคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับ การต่อยอดแอปพลิเคชั่น”เป๋าตัง” ซึ่งปัจจุบัน มีการขยายการให้บริการทางการเงินร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ สำหรับสำรองหนี้ทั้งปีคาดลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ตามความเสี่ยงในระยะถัดไปมีแนวโน้มลดลง
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ KTB ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 66 (ลบ.) |
%chg YoY |
หยวนต้า |
36,446 |
8 |
เอเชีย พลัส |
35,543 |
5 |
*** กูรูชี้ Valuation ยังน่าสนใจเข้าสะสม
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า KTB ยังมีความน่าสนใจเข้าสะสม หากเทียบในเชิงมูลค่า (Valuation) สะท้อนจากการซื้อขายบน PBV เพียง 0.6 เท่า อีกทั้ง ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน ยังมีอัพไซด์สูงถึง 25% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมของเราที่ 21 บาท/หุ้น
นอกจากนี้ KTB ยังเป็นธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีความน่าสนใจในแง่การเปลี่ยนแปลงที่จะเน้นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า KTB ตั้งเป้าขยายสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มเป็น 2 เท่า แตะระดับ 100 ล้านบาท ในปี 66 เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างสูง โดยมี Loan Yield อยู่ที่ระดับ 20% และ NPL Ratio อยู่ที่ระดับ 2%
*** ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงานในระยะสั้น – กลาง – ยาว ของ KTB ยังมีศักยภาพเติบโตได้ อีกทั้ง ยังมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการขยายผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำให้อัตราการทำกำไรสูงขึ้นอีกด้วย
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
กรุงศรี |
ซื้อ |
22.00 |
ทรีนีตี้ |
ซื้อ |
22.00 |
หยวนต้า |
ซื้อ |
21.00 |
เอเชีย พลัส |
ซื้อ |
20.30 |
เมย์แบงก์ฯ |
ซื้อ |
19.00 |
ราคาเฉลี่ย |
20.86 |
ราคาหุ้น KTB ที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน ยังเหลืออัพไซด์ให้นักลงทุนได้ลุ้นอีกราว 24% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ ขณะที่ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานระยะยาวของ KTB มากขึ้น หลังเห็นสัญญาณการต่อยอดธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างอัตรากำไรสูงขึ้นได้ ...