โบรกฯ ประสานเสียงกำไร AOT ปี 63 วูบ 5-10% ราคาหุ้นหาย 5 บาท หลังคมนาคมจ่อเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก(PSC) ไม่เกิน 10% หรือประมาณ 2.67 พันลบ. แค่คาดยังใช้เวลาตีความกฎหมายอีก 3 เดือน พร้อมเตือน BA อาจโดนร่างแหไปด้วย ประเมินราคา AOT ที่ 74-86 บ.
หุ้นของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ปรับตัวลงมาอย่างหนัก โดยวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.62 ราคาอยู่ที่ 73 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือ 2.99% มูลค่าการซื้อขาย 2.99 พันล้านบาท หลังจากมีข่าว ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งศึกษา ข้อกฎหมาย ในการแบ่งรายได้ ที่จัดเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) สนามบิน 6 แห่งของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน
โดยนักวิเคราะห์ชั้นนำต่างประเมินว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลลบต่อกำไร AOT ในปี 2563 ลดลงสูงถึง 10% และราคาจะหายถึง 5 บาท/หุ้น แต่ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนเรื่องการตีความกฎหมายซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ
* ประเมินทางออก 3 กรณี แต่เชื่อระยะยาวหนุนอุตสาหกรรมการบิน
บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินเป็น 3 ทางออก ในการจัดเก็บค่าบริการ PSC ดังนี้
1) หากกฤษฎีกาตีความว่ากฎหมายข้างต้นไม่รวมถึงสนามบินของ AOT ประเด็นข้างต้นจะไม่มีผลต่อกำไรสุทธิและราคาเป้าหมายของ AOT
2) กฤษฎีกาตีความว่ากฎหมายข้างต้นรวมสนามบินของ AOT ด้วย และรัฐมนตรีฯ กำหนดให้ AOT แบ่งรายได้ PSC ในสัดส่วน 5% เข้ากองทุนหมุนเวียนฯ จะทำให้กำไรสุทธิและราคาเป้าหมาย (TP20F) มี Downside risk -3% ถึง -4% และ -3% ตามลำดับ
3) กฤษฎีกาตีความว่ากฎหมายข้างต้นรวมสนามบินของ AOT ด้วย และรัฐมนตรีฯ กำหนดให้ AOT แบ่งรายได้ PSC ในสัดส่วน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนฯ จะทำให้กำไรสุทธิและราคาเป้าหมาย (TP20F) มี Downside risk -6% ถึง -8% และ -6% ตามลำดับ
ทั้งนี้มีมุมมอง Negative ประเด็นข้างต้นทำให้ AOT มีความเสี่ยงต้องแบ่งรายได้ PSC เข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน ทำให้กำไรสุทธิและราคาเป้าหมาย (TP20F) อย่างไรก็ดี หากรัฐฯ มีการใช้เงินทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเราเชื่อว่าจะช่วยให้อุตฯ การบินไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นข้างต้นยังต้องกฤษฎีกาตีความก่อน แนะนำ NEUTRAL ที่ 74.0 บาท
* กระทบเป้ากำไรปี 63 -64 ที่ 5.2% และ 4.9% ตามลำดับ
บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เรามีมุมมองเชิงลบต่อข่าวดังกล่าวเพราะอาจก่อให้เกิด downside risk ต่อราคาเป้าหมายและประมาณการกำไรของเราได้ โดยเราเชื่อว่าประเด็นสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาคือ
1) สนามบิน 6 แห่งของ AOT นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ที่จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ ต่างจากสนามบิน 29 แห่งของกรมท่าอากาศยานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100%
2) เพื่อตรวจสอบว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้ได้กับทุกสนามบินในประเทศไทยซึ่งรวมถึง 3 สนามบินของ BA หรือไม่
3) พ.ร.บ. ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกิจการร่วมค้าโครงการอู่ตะเภาอย่างไร
ทั้งนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการที่กรมท่าอากาศยานเรียกเก็บเงินจาก PSC ของ AOT ในอัตราส่วน 10% เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียน ราคาเป้าหมายสิ้นปี FY2563 จะลดลงเหลือ 82.10 บาท และก่อให้เกิด downside risk ต่อประมาณการกำไรปี FY2563-64 ของเราในระดับ 5.2% และ 4.9%
* เตือนหากกฤษฏีกาตีความในวงกว้าง BA อาจโดนด้วย
บล.เคทีซีมิโก้ เปิดเผยว่า แม้ประเด็นดังกล่าว จะยังเป็นเพียงข้อแสนอ แต่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ AOT เพราะเรื่องดังกล่าวยังต้องรอกฤษฏีกาตีความ ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานมากกว่า 3 เดือน
ทั้งนี้ใน มาตรา 60/43 ของ พ.ร.บ. ขนส่งทางอากาศ ปี 2562 กำหนดให้ รมต. คมนาคม มีอำนาจกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาต นำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราไม่เกิน 10% เข้าบัญชีทุนหมุนเวียน หากกฤษฏีกาตีความในวงกว้างครอบคลุมทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อทั้ง AOT และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA (ผู้รับสัมปทานและดำเนินการสนามบินสมุย) รวมไปถึงสนามบินอู่ตะเภาที่อยู่ระหว่างการประมูลหาผู้ดำเนินการ ซึ่งการตีความลักษณะนี้อาจเกิดการขัดแย้งต่อกฎหมายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเชิงลบต่อประมาณการกำไรสุทธิ และราคาพื้นฐานของ AOT โดยหากสมมติฐานให้รายได้ค่าบริการผู้โดยสาร (Passenger Service Charge - PSC) ลดลงจากเดิม 10% จะทำให้รายได้รวมในปี FY2020E ลดลงจากเดิม 4% เป็น 64.7 พันล้านบาท กำไรหลักลดลงจากเดิม 6% เป็น 26.6 พันล้านบาท และราคาพื้นฐานลดลงจากเดิมราว 3.00 บาท/หุ้น เป็น 77 บาท (จากปัจจุบันราคาพื้นฐานอยู่ที่ 80 บาท อิงวิธี DCF)
* คาดขั้นตอนตีความใช้เวลาถึง 3 เดือน
บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า หลังจากได้พูดคุยกับ AOT แล้วพบว่า เรื่องดังกล่าวต้องรอการตีความกฎหมายจากกฤษฎีกา ซึ่งคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนในการได้ข้อสรุปว่าจะมีผลในทางปฎิบัติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องใช้กับทุกสนามบินของไทย ซึ่งเชื่อว่ามีผลกระทบทางลบกับโครงการใหม่ (เช่น อู่ตะเภา) รวมทั้งผู้ประกอบการสนามบินรายอื่นด้วย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับรายได้จาก PSC ของ AOT เท่ากับ 2.67 หมื่นล้านบาทในปี FY62 หากคิดเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน 10% อยู่ที่ประมาณ 2.67 พันล้านบาท ซี่งอาจกระทบต่อกำไรประมาณ 8-10% หากเรื่องดังกล่าวนำมาใช้ในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นราว 4-5% จากราคาเป้าหมายปัจจุบันของเราในขณะนี้ เราแนะนำซื้อ AOT โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 86.00 บาท
* แนะชะลอลงทุนก่อน รอความชัดเจน
บล.เคทีบี เปิดเผยว่า เรามองเป็นลบต่อราคาหุ้นของ AOT โดยหากกรณี worst case ที่ AOT จะต้องแบ่งรายได้ PSC เข้ากองทุนฯ 10% ในปี 2020E จะอยู่ที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท จะกระทบกำไรในปี 2020E ลดลงราว 8% (หลังหักภาษี) และจะทำให้กำไรสุทธิปี 2020E เหลือเติบโตเพียง +2% YoY จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต +11% YoY และจะกระทบต่อราคาเป้าหมายสูงสุดไม่เกินที่ 5.00 บาท (คำนวณโดยวิธี DCF ที่ WACC 7% และ terminal growth 4%)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังต้องรอกฤษฎีกาตีความจะสามารถบังคับใช้กับท่าอากาศยานของ AOT ได้หรือไม่ (แตกต่างจากท่าอากาศยานของ ทย. ที่ภาครัฐถือหุ้น 100% และปัจจุบัน AOT มีการเก็บ PSC ไว้เพื่อพัฒนาสนามบินของ AOT เอง) สำหรับ AOT เราประเมินราคาเป้าหมายที่ 88.00 บาท หากเป็นกรณี worst case จะกระทบราคาเป้าหมายเหลือ 83.00 บาท ซึ่งยังสูงกว่าราคา AOT ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นแนะนำ ชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจน
* ASP ชี้ราคา AOT ลงทุก 1% จะกด SET ลง 1 จุด
บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่จะ แบ่งรายได้ที่จัดเก็บจากผู้โดยสารขาออก มาเข้าสู่ บัญชีเงินทุนกรมท่าอากาศยาน ทั้งนี้โครงสร้างรายได้ของ AOT มีส่วนที่มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก 42.5%
ทั้งนี้หากถูกจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้ออกมา 10% ก็จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรราว 8% และทำให้ Fair Value ลดลงราว 5 บาทต่อหุ้น ประเมินว่ากรณีดังกล่าวน่าจะสร้างแรงกดดันต่อหุ้น AOT และส่งผลต่อเนื่องมายัง SET Index โดยทุก 1% ของราคาหุ้น AOT ที่ปรับลดลง น่าจะทำให้ SET Index ลดลงประมาณ 1 จุด
โบรกฯ |
ผลกระทบกำไร |
กระทบราคา |
ราคาเป้าหมาย |
|
|
|
|
บล.โนมูระ พัฒนสิน |
-8% (ปี63) |
ราคาลดลง 6% |
74 บาท |
|
|
|
|
บล.กสิกรไทย |
- 5.2% (ปี 63) |
- |
82.10 บาท |
|
- 4.9% (ปี 64) |
|
|
|
|
|
|
บล.เอเซียพลัส |
8 % (ปี 63) |
ราคาลดลง 5 บาท |
- |
|
|
|
|
บล.เคทีซีมิโก้ |
- 6% (ปี 63) |
ราคาลดลง 3 บาท |
77 บาท |
|
|
|
|
บล.เคจีไอ |
- 8 ถึง 10% (ปี 63) |
|
86 บาท |
|
|
|
|
บล.เคทีบี |
8 % (ปี 63) |
ราคาลดลง 5 บาท |
83 บาท |
* คมนาคมสั่งทย.เร่งศึกษากฎหมาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายทวี เกศิสำอาง รักษาการ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งศึกษา ข้อกฎหมาย ในการแบ่งรายได้ ที่จัดเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) สนามบิน 6 แห่งของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน
ทั้งนี้เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของ ทย. ทั้ง 28แห่ง โดยให้เร่งหารือกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากยังมีข้อสงสัยว่า สนามบินนั้นหมายถึงสนามบินทั้งหมดหรือไม่ คือ สนามบินของ ทย. 28 แห่ง และสนามบินของ ทอท.อีก 6 แห่ง รวมถึงสนามบินของเอกชน
ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2562 มาตรา 60/42 ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารสนามบินที่ใช้เพื่อสาธารณะเป็นการทั่วไป รัฐมนตรีมีอำนาจให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราไม่เกินร้อยละ10 เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียน กรมท่าอากาศยาน ตามมาตรา 60/44
ทั้งนี้หากแบ่งรายได้จากค่า PSC สนามบิน 6 แห่งของทอท. ที่อัตรา 10% คาดว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน มีรายได้จากสนามบินกระบี่ ประมาณ 546 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น ดังนั้นรายได้ที่เข้ากองทุนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าเป็นอย่างน้อย จะทำให้สามารถมีเงินไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของทย. ทั้ง 29แห่ง ได้รวดเร็วกว่ารอ เงินงบประมาณจากรัฐบาล