ก.ล.ต. เปิดนโยบายสำคัญ 10 ข้อ เดินหน้าแผนพัฒนาตลาดทุน 5 ปี (60-64) เผยมีแนวคิดจัดตั้ง "กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน" หวังช่วยรองรับความเสียหายจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุกชนิด ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล คาดใช้เวลาศึกษาราว 3-6 เดือน พร้อมเล็งทบทวนกฎหมายกำกับหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการคุ้มครองรายย่อย-เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้
*** เปิดนโยบายสำคัญ 10 ข้อ ในการขับเคลื่อนตลาดทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน "เปิดบ้าน ก.ล.ต.และนโยบายเลขาธิการในการขับเคลื่อนตลาดทุน" โดยแถลงนโยบายสำคัญ 10 ข้อ ในการเดินหน้าแผนพัฒนาตลาดทุน 5 ปี (60-64) ได้แก่ 1.การเข้าถึงตลาดทุน 2.การยกระดับคุ้มครองผู้ลงทุน 3.การขยายภารกิจให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้นด้วยโครงการ "คาราวาน ก.ล.ต.ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด" 4.การพัฒนานวัตกรรมและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ 5.การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย 6.การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ big data 7.การเสริมสร้างงานด้านต่างประเทศ 8.ความยั่งยืนของกิจการ 9.การพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 10.การพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล (digital transformation)
***เล็งตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน, ศึกษารายละเอียด 3-6 เดือน
นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า แม้ ก.ล.ต.จะเป็นหน่วยงานกำกับตลาดทุน แต่ในอีกด้านก็ต้องดูแลนักลงทุนรายย่อยด้วย ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาจัดตั้ง "กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน " หรือ Investor Protection Fund คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณารายละเอียดต่างๆ ประมาณ 3-6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อที่กองทุนฯ จะได้คุ้มครองนักลงทุน รองรับความเสียหายที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท
"ตอนนี้ยังเป็นแนวคิด ศึกษาถึงความเป็นไปได้ ที่จะตั้ง Investor Protection Fund อยากเห็นมาตรการเยียวยาผู้ลงทุน เพื่อรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในทุกประเภท ไม่ใช่แค่หุ้น" นางสาวรื่นวดี กล่าว
กองทุนดังกล่าวจะพัฒนารูปแบบขึ้นมาจากของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ (Securities Investor Protection Fund:SIPF) แต่ว่ากองทุนดังกล่าว คุ้มครองเฉพาะผู้ลงทุนในหุ้น ไม่ได้คุ้มครองการลงทุนในทุกประเภทสินทรัพย์ และจำนวนเงินคุ้มครองกองทุน SIPF จะจ่ายชดเชยให้ผู้ลงทุนแต่ละรายไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
ก.ล.ต.ยังเตรียมสนับสนุนและช่วยเหลือสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อหาแนวทางในการดูแลนักลงทุนรายย่อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
***หวังป้องกันประชาชน ไม่ให้ถูกหลอกลงทุนคริปโต
นอกจาก ศึกษาการจัดตั้ง "กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน" แล้ว อีกหนึ่งกลไกในการช่วยปกป้องและคุ้มครองผู้ลงทุน คือ การที่ ก.ล.ต.เปิดให้ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนมายัง ก.ล.ต.ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลขโทรศัพท์ "1207" รวมถึงการส่งอีเมล หรือแม้กระทั่งการเข้ามาร้องเรียนได้โดยตรงได้ที่สำนักงาน ก.ล.ต.
"ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนร้องเรียนมาที่ ก.ล.ต. เช่น ถูกหลอกลงทุนเหรียญคริปโต เราก็เจ้าภาพดูเรื่องนี้ ส่วนถ้าร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจขายตรง แชร์ลูกโซ่ จะเป็นทางดีเอสไอ ก็ต้องมาแบ่งกัน เราก็ส่งต่อไปยังหน่วยงาน 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นางสาวรื่นวดี กล่าว
อนึ่ง เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้บูรณาการความร่วมมือกับ 9 หน่วยงาน ในการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงให้ประชาชนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ 1.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) 3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 4.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) 5.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 6.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 7.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 8.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ 9.สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย
*** เล็งทบทวนกฎหมายกำกับหลักทรัพย์ฯ
นางสาวรื่นวดี กล่าวต่อว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของ ก.ล.ต. คือการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายกำกับหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 ที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2562 แต่การมีกฎหมายบังคับใช้แล้วเท่านั้นไม่พอ จะต้องประเมินการใช้กฎหมายด้วยว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่
ก.ล.ต.จึงเตรียมทบทวนกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญที่อาจจะต้องทบทวน ปรับปรุง เพื่อยกระดับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจจะต้อง ไปดูในรายละเอียดว่า ต้องแก้กฏหมายใดหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3-6 เดือน
"..สิ่งที่เรากำลังศึกษาต่อ เช่น คุ้มครองพยานมาอยู่ในกฎหมายหลักทรัพย์ฯ ด้วยมั๊ย หรือแนวคิดการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน หากจะมีการจัดตั้งจริงจะต้องแก้กฎหมายมั๊ย เป็นต้น" นางสาวรื่นวดี กล่าว
***ยกคาราวานให้ความรู้ ตจว. เล็ง จ.ขอนแก่นที่แรก
อีกหนึ่งในนโยบาย ก.ล.ต. คือ การขยายภารกิจให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้นด้วยโครงการ "คาราวาน ก.ล.ต.ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด" เพื่อเดินสายให้ข้อมูลกับภาคธุรกิจและนักลงทุนในต่างจังหวัด กระจายการรับรู้ความสำคัญของตลาดทุน โดยจะประเดิมที่แรก คือ จังหวัดขอนแก่นภายในเดือนมิถุนายนนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ อาจจะมีการพิจารณาตั้งสำนักงาน ก.ล.ต.สาขาย่อย ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นด้วย
***หารือ ก.ล.ต.ฮ่องกง หวังเปิดซื้อขายกองทุนข้ามแดน
ด้านความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ล่าสุดได้มีการหารือกับ ก.ล.ต.ฮ่องกง เพื่อหาแนวทางในการเชื่อมการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศระหว่างกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
ขณะที่เดือน ก.ค.นี้ จะมีการเดินสายพบ ก.ล.ต.ของประเทศ กัมพูชา, สปป.ลาว และ เมียนมา เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการนำหลักทรัพย์ของประเทศดังกล่าวเข้ามาระดมทุนในประเทศไทย
ส่วนประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์ไอพีโอ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ SME เข้ามาระดมทุนง่ายขึ้น จะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้