"กรุงเทพการบิน" เดินหน้าลุยธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี(ดิวตี้ ฟรี) หวังตั้งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ ต่อยอดจากธุรกิจสายการบิน เผยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ นำร่องบริหารพื้นที่ในสนามบินสมุย สุราษฎร์ธานี อู่ตะเภา และหลวงพระบาง คาดสรุป 2-3 เดือนนี้ พร้อมกับมั่นใจปีนี้ทำรายได้เติบโต 7-10% ทำสถิติสูงสุดใหม่ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน
*** ลุยธุรกิจดิวตี้ ฟรี
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพการบิน จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย เพื่อร่วมมือจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ คือ สินค้าปลอดอากรในสนามบิน (Duty Free) เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้ ต่อยอดจากธุรกิจเดิม คาดจะได้ข้อสรุปใน 2-3 เดือนนี้ เบื้องต้นจะเริ่มจากการบริหารพื้นที่ภายในสนามบินที่บริษัทมีร้านค้าปลอดภาษีอยู่แล้ว ได้แก่ สมุย สุราษฎร์ธานี อู่ตะเภา และหลวงพระบาง แต่ไม่ปิดโอกาส หากสุวรรณภูมิจะเปิดให้เข้าร่วมประมูล
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Duty Free ราว 5% ของรายได้รวมภายใน 3-5 ปี
?"อย่างที่ทราบว่าธุรกิจการบินแข่งขันค่อนข้างสูง เราจึงพยายามกระจายความเสี่ยง และเห็นว่า Duty Free มีโอกาสเติบโต และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม"
*** มั่นใจรายได้ปีนี้ทำนิวไฮ
นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยมั่นใจรายได้จะเติบโต 7-10% จากปีก่อน ถือเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ ต่อเนื่องจากปี 60 ที่มีรายได้ราว 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นการเติบโตภาพรวมอุตสาหกรรมการบินที่คาดเติบโตราว 7-8% โดยยอดผู้โดยสารของบริษัทปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 7% จากปีก่อนที่มีจนวน 5.94 ล้านคน
ส่วนอัตรากำไรสุทธิปีนี้ (Net Profit Margin) จะพยายามรักษาให้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/61 ที่อยู่ราว 8.8% แต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา และต้นทุนราคาน้ำมัน
***เดินหน้าซื้อเครื่องบิน-เปิดเส้นทางบินใหม่
ปีนี้ บริษัทมีแผนลงทุนโดยใช้เงินประมาณ 2.1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อเครื่องบินใหม่ 1 ลำ ทำให้สิ้นปีจะมีฝูงบินรวม 40 ลำ นอกจากนี้จะใช้ในการการก่อสร้างครัวการบินที่เชียงใหม่ และการลงทุนในระบบไอที
โดยแผนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี ยังคงเน้นการจับมือกับพันธมิตร เพื่อให้บริการเส้นทางบินที่ครอบคลุมความต้องการ โดยปัจจุบันมีพันธมิตร 26 สายการบิน และสิ้นปีนี้จะเพิ่มอีก 1-2 ราย รวมไปถึงการให้บริการที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยว
และในเดือน พ.ย.นี้ บริษัทเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ ภูเก็ต-ย่างกุ้ง และการเพิ่มเที่ยวบินในอีกหลายเส้นทาง เพื่อรองรับความต้องการ เช่น ตราด และ เวียดนาม เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเครื่องบินที่จังหวัดสุโขทัย อยู่ระหว่างการสรุปแบบ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงกลางปี 63 ใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท
*** เรือล่มภูเก็ตไม่กระทบธุารกิจ
สำหรับกรณีเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต ไม่กระทบกับ BA เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคนละเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในภาพรวมของการท่องเที่ยว อาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลคงต้องเข้ามาแก้ไข เข้มงวดกำกับดูแลผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติได้โดยเร็ว
***โบรก"ห่วงงบ Q2-3/61 กลุ่มการบินไม่สดใส
นักวิเคราะห์ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ภาพรวมการดำเนินงานหุ้นกลุ่มสายการบินช่วงไตรมาส 2-3/61 จะเป็นช่วงที่ผลประกอบการไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะช่วงนี้ของทุกปีจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ขณะที่ปีนี้ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบเพิ่มเติม คือ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินส่วนใหญ่ 50-60% เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ดังนั้นเมื่อเงินบาทอ่อนค่าและราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน
ทั้งนี้สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประเมินว่า ช่วงไตรมาส 2/ 61 ผลประกอบการจะขาดทุนแน่นอน เว้นแต่จะมีรายการพิเศษเข้ามาเพิ่มเติม เพราะตามปกติไตรมาส 2 เป็นโลว์ซีซั่นที่สุดของ THAI อยู่แล้ว รวมถึงบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งน่าจะมีผลประกอบการขาดทุนเช่นกัน และอาจขาดทุนมากกว่าช่วงไตรมาส 2/60 ที่มีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 500 ล้านบาท
ด้านบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินไทยแอร์เอเชียนั้น พบว่าผลประกอบการช่วงไตรมาส 2/61 จะต่ำกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งช่วงไตรมาส 3/ 61 ที่จะลดลงมากเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ทำให้เกิดการยกเลิกการจองห้องพักและยกเลิกการเดินทางจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่สายการบินหลายราย ทั้ง THAI และ BA ได้รับรางวัลจากสกายแทร็กซ์ (Skytrax) องค์กรสำรวจความคิดเห็นผู้โดยสารและผู้ใช้บริการจากทั่วโลกที่ประกาศรางวัลสายการการบินโลกประจำปี 2018 (SKYTRAX World Airline Awards) นั้น ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานมากนัก เพียงแต่เป็นเกียรติประวัติที่ดีขององค์กร ซึ่งจากการประชุมนักวิเคราะห์ทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินก็ไม่เคยระบุว่ารางวัลที่ได้รับมีผลต่อยอดขาย เพราะสิ่งที่นำมาพิจารณาเป็นหลัก คือ ความสามารถด้านการแข่งขัน จุดเด่นการให้บริการ และความสามารถในการควบคุมต้นทุน