บิตคอยน์ จะเป็นสกุลเงินหลักในอนาคตได้หรือไม่?
ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.explodingtopics.com ณ เดือนมีนาคม 2023 ระบุว่าในโลกนี้มีสกุลเงินดิจิทัลอยู่ 22,904 สกุล อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกสกุลเงินดิจิทัลที่มีการใช้งานหรือยังคงอยู่ทุกเหรียญ เมื่อลดจำนวนเหรียญที่ตายแล้วออกไปจะเหลือประมาณ 8,832 สกุลเท่านั้นที่ยังคงใช้งานอยู่ แต่นั่นก็ยังเป็นจำนวนมหาศาลอยู่ดี ยิ่งหากเราเป็นมือใหม่ หากใครที่กำลังหาข้อมูลที่จะศึกษาคริปโทซัก 1 เหรียญ คงต้องมี “บิตคอยน์” เป็นเหรียญอันดับต้น ๆ
บิตคอยน์เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ กว่า 14 ปี จากมูลค่าจำนวน 10,000 BTC ที่ใช้แลกพิซซ่าได้ 2 ถาดจนมาถึงปัจจุบันกับการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี Market Cap สูงที่สุดในโลก ได้รับทั้งความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกและการต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วย จนนำมาสู่คำถามที่ว่าแล้วในอนาคตเราจะเห็นบิตคอยน์กลายมาเป็นสกุลหลักได้หรือไม่? มาลองดูปัจจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดและคุณสมบัติของความเป็นเงิน ดังนี้
1.การกระจายอำนาจ ไม่มีคนควบคุม - Bitcoin ทำงานอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กระจายการเก็บข้อมูลเก็บไปยังโหนดจำนวนมากภายในเครือข่าย ข้อมูลไม่ได้ถูกเก็บและควบคุมโดยตัวกลางตัวเดียวเหมือนกับระบบเงินเฟียต (Fiat currency) นั่นจึงทำให้ Bitcoin มีการกระจายอำนาจที่สูงนั่น เพราะเมื่อหากเปรียบเทียบกับเงินเฟียตที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หลาย ๆ ประเทศจะมีธนาคารกลางเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมค่าเงิน
2.อุปทานจำกัด - มนุษย์ไม่ได้ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) มาตั้งแต่ต้น แต่มนุษย์ใช้สิ่งที่มีจำนวนจำกัดและหาได้ยากเป็นสื่อกลางแทน เช่น เปลือกหอย และพัฒนาไปเป็นเหรียญ ทองคำ และพันธบัตรทองคำตามยุคสมัย สิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติที่เหมือนกันคืออุปทาน (Supply) ที่มีจำกัด ซึ่ง Bitcoin เองก็ถูกออกแบบมาให้มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น แต่เงินเฟียตในปัจจุบันไม่ได้มีทองคำค้ำประกันเหมือนพันธบัตรทองคำสมัยก่อนแล้ว ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินออกมาเท่าไหร่ก็ได้นั่นเอง
3.พกพาสะดวก - การที่เงินอยู่ในรูปแบบดิจิทัล แน่นอนว่าทุกคนจะพกพาเงินนี้ไปไหนแบบไม่ล่อตาล่อใจคน แล้วยังสามารถทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บและเข้าถึงได้จากทุกที่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพียงผู้ใช้จำรหัสผ่านหรือ Private Key ไว้ก็สามารถเข้าถึง Bitcoin ของตัวเองได้จากทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ไม่จำเป็นต้องลำบากพกให้หนักกระเป๋าเหมือนเงินสดหรือทองคำเลย
4.การแบ่งหน่วยย่อย - บิตคอยน์ เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีคุณสมบัตินี้ทำให้เราสามารถใช้เพื่อทำธุรกรรมขนาดเล็กได้ จึงมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง คล้ายกับเงินในปัจจุบันที่หากเราใช้เงินเฟียตในการจ่ายเงินซื้อของจำนวน 5.8764356 ดอลลาร์ คงทำได้ยาก แต่หากเป็นสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เราไม่จำเป็นต้องตั้งราคาเต็ม 1 BTC หรือ 0.5 BTC ในการทำธุรกรรมเสมอ โดยสามารถใช้เป็นหน่วยทศนิยมได้สูงถึง 7 หลัก หรือ 0.00000001 BTC
5.การดูแลรักษา - บิตคอยน์มี Private Key เป็นเหมือนกุญแจที่ใช้เพื่อเข้าถึงสินทรัพย์ในกระเป๋า และใช้เซ็นรับรองในขั้นตอนการทำธุรกรรม หน้าตาเหมือนรหัสผ่านยาว ๆ ที่มีทั้งตัวเลขและตัวอักษรภาษาอังกฤษปนกัน ทำให้การสุ่มเจอหรือเลียนแบบ Private Key ชุดเดียวกันแทบเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถสร้าง Private Key และกระเป๋าขึ้นมาหลายชุดเพื่อเป็นกระเป๋าสำรอง หรือเพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาความเป็นส่วนตัวได้อีกด้วย
บิตคอยน์กับการเป็นเงินสกุลเงินหลัก
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เราเริ่มเห็นภาพชัดกับการนำบิตคอยน์มาเป็นสกุลเงินจริงในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อมองในมุมกลับ บิตคอยน์ก็ยังมีข้อจำกัดและปัญหาที่น่ากังวลใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
- การรักษามูลค่า เมื่อมูลค่าของ 1 BTC ยังมีค่าต่างกันทุกชั่วโมงในทุกวัน เราเองคงกังวลใจแน่ ๆ ว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่จะลดลงมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเมื่ออยู่ภาวะตลาดหมีที่ตลาดซบเซาและมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งการไม่สามารถรักษามูลค่าได้ ส่งผลให้การใช้คริปโตเคอเรนซีหรือบิตคอยน์มาเป็นฐานเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้า เพื่อตั้งราคาสินค้าและบริการน้อยมาก
- การรองรับทำธุรกรรม นักวิชาการอีกฝั่งยังมองว่า คริปโตเคอร์เรนซียังไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยระยะเวลาในการทำธุรกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะนอกจากต้องมีการกระจายอำนาจของระบบ แล้วยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบ (Security) ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรม (Scalability) ที่ลดลงหากมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากระดับประเทศหรือภูมิภาค
- ความเชื่อมั่นของคนในวงกว้าง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ที่ถูกยอมรับทั่วโลกเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
- กฏหมายและการบังคับใช้ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่ออกกฏหมายรับรองให้สกุลเงินดิจิทัลรวมถึงบิตคอยน์ ยกเว้นประเทศเอลซัลวาดอร์และสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้กำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซี่ (บิตคอยน์) ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย ส่วนในแอลจีเรีย บังคลาเทศ จีน อียิปต์ อิหร่าน โมร็อกโค โบลิเวีย โคลัมเบีย มีกฏห้ามใช้คริปโทเคอร์เรนซี่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในประเทศด้วย กล่าวได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังไม่มีกฏหมายและการยอมรับสำหรับการเป็นสกุลเงินหลักและใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมายด้วย
อ้างอิง Explodingtopics, Thaijo, Thaipublica, Bitkub Blog
คำเตือน
-คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน
-ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื้อหาข้างต้นเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาโดยใช้ข้อมูลในอดีตและเครื่องมือวิเคราะห์ อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)