efinancethai

FinTech

วิวัฒนาการของเงินจากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิวัฒนาการของเงินจากอดีตสู่ปัจจุบัน

 

 

วิวัฒนาการของเงินจากอดีตสู่ปัจจุบัน


 

 

เงินเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิตประจำวันของเราที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งตลอดประวัติศาสตร์ จากต้นกำเนิดดั้งเดิมที่เรียบง่ายไปจนถึงการพัฒนาล่าสุดในยุคดิจิทัล แนวคิดเรื่องเงินได้ถูกพัฒนาไปอย่างมาก ในบทความนี้ เราจะพาคุณเดินทางย้อนเวลาไปสำรวจการพัฒนาของเงินเพื่อดูวิวัฒนาการของเงินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

วิวัฒนาการของเงินในแต่ละยุค
 

ยุคที่ 1 การแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์

 

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า Barter ซึ่งเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ แท้จริงแล้วการ Barter นี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนที่แนวคิดเรื่องเงินจะเกิดขึ้นและก่อนจะมีหน้าตาเหมือนที่เรารู้จักในปัจจุบัน ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ผู้คนมีการค้าขายกันผ่านระบบการแลกเปลี่ยน เพื่อแลกมาซึ่งสินค้าและบริการโดยจะขึ้นอยู่กับตามความต้องการและความพร้อมของแต่ละบุคคล ยุคนี้นับเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญครั้งแรกในวิวัฒนาการของเงินที่เกิดขึ้นผ่านรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์สิ่งของต่าง ๆ ที่ได้มีการผลิตในสมัยนั้น เช่น สินค้าการเกษตร ธัญพืช ปศุสัตว์ และโลหะมีค่าจำพวกทองคำและเงิน การแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ เพราะผู้คนมีความต้องการในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นและทำให้เกิดมูลค่าอยู่ในตัว ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนเป็นวิธีการค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ระบบการแลกเปลี่ยนนี้มีก็มีข้อจำกัดเพราะความต้องการสินค้าแลกเปลี่ยนของนั้นมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

Source: Wikipedia

 

 

ยุคที่ 2 การกำเนิดของเหรียญกษาปณ์
 

เหรียญเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ของเงิน ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรลิเดีย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของทะเลอีเจียน (พื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือตุรกี) ลิเดียมีกษัตริย์ “ครีซัส” ที่มุ่งส่งเสริมการค้าอย่างกว้างขวาง มีการเริ่มใช้ทองคำเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสินค้าและประดิษฐ์เหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ประวัติศาสตร์ถือว่าชาวลิเดียนเป็นชนชาติแรกที่คิดประดิษฐ์เหรียญกษาปณ์ขึ้นเพื่อใช้ในการค้า เหรียญกษาปณ์ของลิเดียทำจากอิเล็กตรัม (โลหะผสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทองคำและเงิน) มีน้ำหนักและราคาแตกต่างกัน เงินเหล่านี้มีเครื่องหมายราชลัญจกรหรือตราแผ่นดินประทับรับรอง มีชื่อและเครื่องหมายทำให้ผู้คนสามารถจดจำได้ง่ายและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
 

Source: mrarranger

 

ตลอดหลายศตวรรษหลังจากนั้น เหรียญกษาปณ์ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ละอารยธรรมได้มีการสร้างระบบเหรียญกษาปณ์ของตนเองที่แตกต่างกัน ตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ “เดนาเรียส” เหรียญเงินที่ใช้ในสาธารณรัฐโรมันและจักรวรรดิโรมัน เหรียญของจีนและดีนาร์อิสลาม เหรียญเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนพกพาสะดวกและมีความทนทาน ทำให้กลายเป็นสกุลเงินรูปแบบสำคัญสำหรับการค้าและการพาณิชย์

 

ยุคที่ 3 การปรากฎตัวของเงินกระดาษ

 

เมื่อการค้าและการพาณิชย์ขยายตัว การถือเหรียญโลหะจำนวนมากกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก สิ่งนี้นำไปสู่การปรากฎตัวของเงินกระดาษ โดยจีนเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ริเริ่มใช้เงินกระดาษ ตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์ซ่งเหนือ (ช่วง ค.ศ. 960–1127) ซึ่งเป็นช่วงที่ทองแดงกำลังขาดตลาดเนื่องจากถูกเอาไปผลิตเหรียญ 

 

ส่วนในยุโรป การใช้เงินกระดาษครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้คือในประเทศสวีเดน ช่วงศตวรรษที่ 17 ธนบัตรที่ออกโดยธนาคารเอกชนและหน่วยงานกลางค่อย ๆ ได้รับการยอมรับ แทนที่ความจำเป็นในการถือเหรียญโลหะหนัก การนำเงินกระดาษมาใช้ถือเป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของเงิน ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายและซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

Source: First banknotes in Europe | Sveriges Riksbanken

 

ยุคที่ 4 ยุคแห่งการธนาคารกลางและเงินเฟียต

 

ในศตวรรษที่ 20 มีการเพิ่มขึ้นของระบบธนาคารกลางและการนำเงินทั่วไปมาใช้อย่างแพร่หลาย เงินเฟียต (Fiat) มีมูลค่าเนื่องจากรัฐบาลประกาศว่าเป็นเงินที่ชำระได้อย่างถูกกฎหมาย ประชาชนมีความมั่นใจในความมั่นคงของหน่วยงานที่ออกเงิน  และด้วยปัญหาขาดแคลนทองคำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบการเงินโลกจึงเปลี่ยนไปเป็นมาตราปริวรรตทองคำ (Gold Exchange Standard) ที่มีประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางผู้ถือครองทองคำไว้ประเทศเดียว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะเก็บสกุลของประเทศนั้นไว้แทนทองคำ

 

จนมาในปี ค.ศ.1971 ประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำ แล้วเปลี่ยนระบบทางการเงินอีกครั้ง เป็นระบบ Fiat Currency ที่ทุกประเทศต่างถือเงินตราเป็นหลักคำ้ประกันแทน

 

เมื่อประสบปัญหาทางการเงินรัฐบาลสหรัฐจึงมีการออกนโยบาย Quantitative Easing (QE) ที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินหมุนเข้าไปเพิ่ม และนำมาซึ่งความไม่เชื่อใจในสกุลเงินเฟียตของคนบางกลุ่มในปัจจุบันเพราะหากมีการใช้มาตรการ QE ในปริมาณมากและนานเกินไป ก็อาจส่งผลเสียด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จนทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง อัตราดอกเบี้ยลดลง ขาดแรงจูงใจในการออมเงินและ ทำให้นักลงทุนยอมนำเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

 

ในยุคนี้เรายังได้เห็นความเฟื่องฟูของการเกิดขึ้นของเงินอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเปิดตัวบัตรเครดิตและเดบิต วิธีการชำระเงินเหล่านี้ได้ปฏิวัติวิธีการทำธุรกรรมของผู้คน ทำให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

ยุคที่ 5 การปฏิวัติทางดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัล
 

ในปี 2009 นวัตกรรมที่สำคัญได้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งการเงินไปอย่างชัดเจน ด้วยการเข้ามาของบิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกของโลก สร้างขึ้นโดยบุคคลหรือกลุ่มนิรนามที่รู้จักกันในชื่อ Satoshi Nakamoto ที่นำเสนอรูปแบบเงินดิจิทัลแบบกระจายอำนาจที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง บิตคอยน์เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมและบางคนมองว่าเป็นอนาคตของเงิน แต่ในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังไม่มีกฏหมายที่แน่ชัดในการอนุญาตให้ใช้จ่ายและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีเพียงบางประเทศและในธุรกิจบางประเภทเท่านั้น อาจด้วยสาเหตุความผันผวนสูงของราคาที่ยังทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไม่สามารถรักษามูลค่าในตัวมันเองได้

 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อธนาคารกลางและรัฐบาลยังได้สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

 

 

Source: The History And Evolution Of Money – Satoshi Speaks

 

บทสรุป

 

วิวัฒนาการของเงินเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงนวัตกรรมและความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ จากการแลกเปลี่ยนและเงินสินค้าโภคภัณฑ์ไปจนถึงการปฏิวัติทางดิจิทัลของสกุลเงินดิจิทัล เงินได้เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม เมื่อเราก้าวไปข้างหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ เรียนรู้ และศึกษาผลกระทบ การเดินทางของเงินยังอีกยาวไกลและเป็นสิ่งที่พวกเราต้องคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

 

 

อ้างอิง: Bitkub, Bitkub Blog, Investopedia, Wikipedia, Bot.or.th, Bitkub Academy

 

คำเตือน:

-สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

-คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh