ถอดบทเรียน หายนะแบงก์ FED และความโลภ กับ อนาคตเศรษฐกิจโลก
ช่วงนี้เกิดเรื่องช็อครายวัน ธนาคารถึงสามแห่ง Silvergate, Sillicon Valley Bank, Signature Bank ถูกปิดตัวลง ซึ่งถือเป็นการล้มของแบงค์ที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับที่สองของประวัติศาสตร์อเมริกา เราจะมาถอดบทเรียนครั้งนี้กัน
1 ผลประโยชน์ของแบงค์จากช่องว่างของดอกเบี้ย
ธนาคารทั่ว ๆ ไปรับเงินฝากของลูกค้ามา โดยแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ จนเกือบจะเป็นศูนย์ ส่งผลให้ต้นทุนของการยืมต่ำมาก แต่ธนาคารสามารถนำเงินยืมต้นทุนต่ำเหล่านี้ไปซื้อพันธบัตร ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อหาผลกำไรได้ ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ ใช้วิธีนี้ในการแสวงหาผลกำไรในช่วงที่ผ่านมา
2 การขึ้นดอกเบี้ยของ FED
จากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้โรงงานและภาคการผลิตต่างๆ หยุดชงัก หลายๆ ธุรกิจต้นทางล้มหายตายจาก ส่งผลให้ข้าวของแพง เกิด #ภาวะเงินเฟ้อ สูงสุดในรอบ 40 ปี ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ได้ทำการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนพฤศภาคมในปีที่ผ่านมาได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 4.75% จาก 0.25% โดยหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนของการลงทุนในกิจการต่างๆ สูงมากขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนต่างๆ ของผู้คนเพิ่มขึ้น เมื่อคนเหลือเงินน้อยลง จับจ่ายใช้สอยน้อยลง ความต้องการสินค้าน้อยลง ก็จะส่งผลให้ข้าวของราคาถูกลง
3 การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาพันธบัตร
ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาของพันธบัตรลดลง ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรที่จ่าย 1,000 บาท ในอีกสามปีข้างหน้าอาจจะมีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 800 บาท นั่นคืปเราจ่าย 800 บาทเพื่อเงิน 1,000 บาทในอนาคต แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น จะทำให้เงิน 800 บาท ควรจะมีมูลค่ามากกว่า 1,000 บาทในอนาคต ส่งผลให้ราคาของพันธบัตรที่จะจ่าย 1,000 บาท มีค่าลดลงต่ำกว่า 800 . ธนาคารที่หาผลประโยชน์จากช่องว่างของดอกเบี้ยก็เริ่มประสบกับปัญหา ที่ทำให้บัญชีของตัวเองเริ่มที่จะติดลบ ซึ่งเอาจริงๆ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะมันเป็นการขาดทุนชั่วคราว (unrealised loss) ถ้าธนาคารไม่ขายพันธบัตรเหล่านี้ และถือไปจนครบอายุ ก็จะได้เงินทั้งหมดคืนตามสัญญาของพันธบัตร ซึ่งรวมดอกเบี้ยไปแล้วด้วย
4 การแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร Bank Run
พวกเราต้องเข้าใจก่อนว่าเราอยู่ในยุคของ Fractional Reserve ซึ่งหมายความว่าธนาคารทำเงินฝากของเราไปหาผลประโยชน์ และไม่ได้เก็บเงินฝากไว้ 100% ซึ่งธนาคารเป็นธุรกิจที่ leverage สูงมากๆ โดยปกติจะมีการเก็บเงินอยู่แค่ไม่ถึง 3-15% เท่านั้นเอง . เมื่อมีการระแคะระคายถึงการขาดทุนของธนาคารจากการถือพันธบัตร ทำให้คน และสถาบันต่างๆ ที่ฝากเงินไว้เริ่มทยอยกันถอนเงินออก และแจ้งคนที่อยู่ในเครือข่าย หลายๆคนที่มีชื่อเสียงเริ่มแจ้งผ่าน social media ต่างๆ จนแบงค์เริ่มขาดสภาพคล่อง
ซ้ำร้ายแบงค์อย่าง Silvergate หรือ SVB มีลูกค้ารายใหญ่เยอะมากๆ โดยสำหรับ SVB เงินในบัญชีที่มียอดสูงกว่า 250,000 usd มีมากถึง 89% ซึ่งการมีลูกค้ารายใหญ่เยอะขนาดนี้ย่อมส่งผลให้เงินไหลออกได้ง่าย เพราะรายใหญ่ไม่เหมือนรายย่อย มี stickiness ต่ำ พร้อมที่จะย้ายเงินตลอดเวลา เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หนำซ้ำคนเหล่านี้มักจะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เมื่อย้ายออก ก็ย่อมสะกิดเพื่อนๆให้ระวัง และถอนเงินออกด้วยเช่นกัน
เมื่อธนาคารเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพที่ขาดเงินสด ก็ย่อมต้องขาดทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงพันธบัตรอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิด realised loss ขึ้นมา (บางแห่งขายก่อนด้วยซ้ำ) ส่งผลให้เกิดการขาดทุน และไม่สามารถชำระหนี้เงินฝากได้ครบตามจำนวน
5 การตัดสินใจกระโดดอุ้มแบงค์ของ FED
การที่ FED ออกมาประกาศอุ้มแบงค์อย่าง SVB โดยคืนเงินให้กับผู้ฝากเต็มจำนวน สำหรับผมถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี (ที่สุดเท่าที่ทำได้ในตอนนี้) เหตุผลเพราะไม่ใช่แค่ SVB แน่นอน ที่ประสบปัญหากับราคาของพันธบัตร หลายๆธนาคารก็ประสบปัญหาเดียวกัน และมียอดติดลบค้างอยู่สำหรับพันธบัตรเหล่านี้ การที่ FED ออกรีบออกมาอุ้มผู้ฝากเงินเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ฝาก และทำให้ความกลัวในตลาดลดลง เพราะถ้าประชาชน รวมถึงสถาบันต่างๆ ยังหวาดกลัว เมื่อมีคนเริ่มต้นถอนและปล่อยข่าว ย่อมต้องมีแบงค์ที่ 4,5,6 ที่จะล่มสลายตามมา รวมถึงยังช่วยลดความกังวลจากโดมิโน่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากสถาบันต่างๆ ที่ฝากเงินไว้กับ SVB
อย่างไรก็ตาม ผลเสียของการอุ้มแบบนี้ อาจจะทำให้เกิด moral hazard ซึ่งทำให้ธนาคารต่างๆ ตัดสินใจแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง รวมอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อของค่าเงินของสหรัฐอเมริกา
6 ผลกระทบหลังจากนี้
แม้ FED จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะเข้ามาช่วยผู้ฝากที่ได้รับผลกระทบจาก SVB อย่างเต็มที่ และคาดหวังจะช่วยทำให้ความกลัวลดลง และสามารถที่จะหยุดการแผ่ขยายของปัญหาได้ อย่างไรก็ตามการล้มของธนาคาร เกิดจากความกลัวที่บางครั้งก็อาจจะไม่ได้มีเหตุผลมากนัก ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ
ในระยะสั้น start ups ต่างๆ ที่ใช้บริการ SVB ย่อมได้รับผลกระทบ ทั้งในแง่ของการดำเนินการทางการเงินต่างๆ รวมไปถึงการใช้เงิน ซึ่งอาจจะทำให้หยุดชะงัก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะ start ups, tech companies ใหญ่ๆ เกือบจะทั้งหมดใน Sillicon valley เป็นลูกค้าของ SVB
การล้มลงของธนาคาร ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของ FED ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลายๆคนมองว่า FED จะยังคงให้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาหลัก โดยแนวโน้นรวมจะยังคงเป็นการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจจะผ่อนปรน และเบาลงในระยะสั้น
ล่าสุดความกังวลดังกล่าวก็ได้ส่งไม้ต่อมาให้กับ Credit Suisse ธนาคารยักใหญ่อันดับ 2 ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่กำลังเจอปัญหาสภาพคล่อง เพราะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน โดยมีผลประกอบการอยู่ในจุดที่ขาดทุน เป็นมูลค่ากว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการดำเนินกิจกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ธนาคารแห่งชาติสวิสได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าจะเข้ามาช่วยอุ้ม ปล่อยกู้ให้ถ้าจำเป็น แต่ความกังวลหลายทิศทางยังคงถาโถม และหลายคนยังติดภาพจำกลัวว่าจะล้มแบบ Lehman Brothers ในปี 2008 แต่ผลกระทบน่าจะส่งผลมากกว่าหลายเท่า เพราะสินทรัพย์รวมของ Credit Suisse มีมูลค่าสูงกว่า Lehman Brothers เกือบ 3 เท่า
การประคับประคองของธนาคารแห่งชาติสวิสที่เข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายวงกว้างทางฝั่งยุโรป อาจจะเป็นแค่การแก้ผ้าเอาหน้ารอด เพื่อต่อเวลาวิกฤตครั้งใหญ่ที่อาจจะกำลังคืบคลานเข้ามาอย่าง Recession ที่ Goldman Sache ได้ปรับเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะเกิดวิกฤตินี้จาก 10% เป็น 35% ในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าว หากมันเกิดในกรณีที่เลวร้ายแบบในปี 2008 จะส่งผลในเชิงลบต่อตลาดทุนทั้งทางฝั่งหุ้น และคริปโทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ไ่ด้ กล่าวคือ สินทรัพย์ที่ถูกมองว่าเสี่ยง และจับต้องไม่ได้ จะถูกเทขายหมดจากนักลงทุนสถาบัน
ยิ่งทางฝั่งคริปโทที่ยังอยู่ในเฟสของการสร้าง adoption ยิ่งได้รับผลที่หนัก เพราะราคาทุกอย่างยังคงผูกอยู่กับสกุลเงินทางฝั่งของ traditional อยู่ แต่ถ้ามองอีกมุม เป็นฝั่งการเอาตัวรอด เมื่อศรัทธาที่ลดน้อยถอยลงของสกุลเงินอย่างดอลลาร์ ที่เป็นผลพวงจากการล้มของสถาบัน อาจจะทำให้หลายคนเริ่มมองหาเงินที่พวกเขาเป็นเจ้าของจริงๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่มันจะคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าผู้มีอำนาจจากโลกการเงินเก่า เราคงทำได้แค่ต้องเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดกับผลกระทบเหล่านี้ต่อไป ว่าผู้คุมกฎเหล่านี้จะรับมือปัญหาได้อยู่หมัดได้อีกนานแค่ไหน
บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ FWX - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Facebook แฟนเพจ ติดเล่า เรื่องลงทุน
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)