efinancethai

FinTech

Bitcoin ยังคงเป็นสินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออยู่หรือไม่

Bitcoin ยังคงเป็นสินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออยู่หรือไม่

 

 

Bitcoin ยังคงเป็นสินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออยู่หรือไม่?

 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดคริปโทฯ วายในปัจจุบัน มีการถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา โดยประเด็นมาจากหลายทิศ ที่แต่ดังๆ และเป็นที่พูดถึง ก็มีมาจากนักลงทุนอย่าง Paul Tudor Jones ผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนอย่างมหาศาล 

 

โดยเขามีความเชื่อว่า “Bitcoin สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากเงินเฟ้อได้” ซึ่งแน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวเกิดการโต้วาทีกันอย่างดุเดือด มีทั้งผู้มีเชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อ จนกระทั่งเหตุการณ์อย่างเงินเฟ้อได้ปะทุอย่างรุนแรง และราคา Bitcoin ก็คงระดับที่ 19,000 ดอลลาร์โดยประมาณ ณ ตอนที่กำลังเขียนบทความนี้ แต่ก็ยังไม่ให้ความเชื่อดังกล่าวเสื่อมลงแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเห็นที่ Paul และนักลงทุนที่เชื่อแนวคิดดังกล่าวเป็นจริง แต่ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คือ มูลค่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันของตลาดคริปโทฯ ดิ่งลงท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเป็นตัวเลขกว่าครึ่งหนึ่งจากมูลค่าสูงสุด แต่ถ้าสังเกตให้ลึก มันดูสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร เพราะ Bitcoin และคริปโทฯ ไม่ใช่สินทรัพย์เดียวที่ดิ่งเหว ไม่ว่าจะทอง หุ้น ก็ต่างประสบเหตุการณ์แบบเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วผลกระทบของเงินเฟ้อส่งผลต่อตลาดคริปโทฯ ยังไงบ้าง เราจะมาพูดถึงในบทความนี้กันครับ

 

เงินเฟ้อส่งผลอย่างไรกับสินทรัพย์อย่าง Bitcoin และคริปโทฯ

 

นับตั้งแต่การเกิดขึ้นมาของ Bitcoin แม้จะเผชิญวิกฤตทางการเงินอยู่บ่อยครั้งแค่ไหน แต่นโยบายทางการเงินที่ Bitcoin เติบโตมาเป็นรูปแบบ Q.E. หรือการอัดฉีดเงินเข้าระบบมาโดยตลอด ถึงจะมีการลดการอัดฉีด (Tapering) ในบางช่วงระหว่างทาง ก็ยังส่งผลเชิงบวกกับสินทรัพย์อยู่ดี การอัดฉีดเงินทำให้เงินไหลเวียนในระบบการเงินมีปริมาณมหาศาล ถ้ามองหยาบๆ การที่เงินในระบบเยอะ การไหลเงินมาลงสินทรัพย์เสี่ยงก็จะทำได้เยอะ และดันราคาได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งเป็นผลบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง Bitcoin และคริปโทฯ แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจนเกินรับมือในปัจจุบัน จนรัฐต้องออกนโยบายมา Q.T. หรือการดึงเงินออกจากระบบมาแก้ทาง และสินทรัพย์เสี่ยงทุกอย่างก็มักจะถูกเทขายเป็นอันดับแรกๆ อย่างไม่ต้องสงสัย


 

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดราคาขายอย่างรุนแรงในหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีการรีบาวด์ทางเทคนิคบ้างในหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นการยาก เมื่อผู้ควบคุมนโยบายการเงินอย่าง Federal Reserve (FED) เดินหน้าสู้ เพื่อลดเงินเฟ้อ เมื่อมองในภาพของ Macroeconomics แล้ว การจะทำให้ตลาดกลับมาวิ่งขึ้นอย่างรุนแรงในตอนนี้คงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

 

โดยสรุปแล้วในมุมส่วนตัวของผู้เขียน มองว่าแนวคิดเรื่องของ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อนั้น ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ในเมื่อราคาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการใช้สินทรัพย์ที่เป็นเงินสดอย่างดอลลาร์ ซึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามเกิดขึ้นกับเงินดอลลาร์ ก็ย่อมมีผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ รวมถึง Bitcoin และคริปโทฯ ด้วย 

 

การจะทำให้สินทรัพย์อย่าง Bitcoin เป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้อย่างเต็มสูตร ก็คงต้องทำให้เกิดการใช้งานแทนเงินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเสียก่อน ถึงพอจะพิสูจน์ได้ สำหรับในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงใกล้ปากเหวจากนโยบายและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลายคนมองจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยอยู่รอมร่อ เราคงปฎิเสธได้ยากว่า Bitcoin และคริปโทฯ เป็นเพียงอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นหนักไปทางด้านเก็งกำไร เพราะยังไงเสียอำนาจทางการเงินตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้ใช้ Bitcoin แต่เป็นผู้มีอำนาจทางการเงินสูงสุดของโลกอย่างดอลลาร์ต่างหาก 

 

"เช่นนั้นแล้วเราคงไม่จำเป็นต้องถกประเด็นการใช้ Bitcoin ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแต่อย่างใด แต่ควรจะถกประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรให้รอดช่วงนี้ไปได้ จนถึง Bitcoin ในช่วงตลาดกระทิงรอบหน้าเสียมากกว่า" 



 

บทความโดย บีม ชานน จรัสสุทธิกุล

 

ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain Technology Labs

 

Facebook แฟนเพจ Beam Chanon

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 

 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh