ราคาของบิตคอยน์ และคริปโทเคอร์เรนซี ขึ้นกับปัจจัยอะไรกันแน่?
ในช่วงที่ราคาบิตคอยน์ และ คริปโทฯ วิ่งขึ้นวิ่งลงซิกแซ็ก ไซด์เวย์แบบนี้ น่าจะมีหลาย ๆ คน สงสัยว่าราคาของแต่ละเหรียญนั้นขึ้นกับปัจจัยอะไรกันแน่ ในบทวิเคราะห์จาก Coinbase ที่ว่าด้วยเรื่องราคาของคริปโทฯ และความมีประสิทธิภาพของตลาด (market efficiency) มีข้อสังเกตุและประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง
เรื่องแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือ Market Sentiment หรืออารมณ์ของตลาดในช่วงที่เป็นขาลงของคริปโทฯ มีปัจจัยที่สะท้อนความเชื่อมั่นและมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อราคาในตลาดนั้นมี 2 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรก ‘Crypto Is Dead’ หรือกลุ่มที่เชื่อว่าคริปโตตายไปแล้ว นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะมีลักษณะ
- เริ่มมองว่าคริปโทฯ เป็นโครงการ Ponzi หรือ แชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้ล้มเหลวในที่สุด
- มีความวิตกกังวลและความสิ้นหวังอย่างมากในหมู่นักลงทุนที่นำไปสู่ FUD (Fear-Uncertainty-Doubt) ที่รุนแรง
-คนกลุ่มนี้มองว่าราคาลดลงเมื่อฟองสบู่แตก และ แนะนำให้ทุกคนออกจาก position ก่อนที่การลงทุนจะกลายเป็นศูนย์
กลุ่มที่สอง ‘The HODL’ หรือ Hold on For Dear Life ถือยาวไม่ยอมขาย ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่า
- ควรที่จะ HODL ต่อไปเป็นระยะเวลานานเพื่อรอเวลาตลาดกลับมาและเก็บเกี่ยวผลตอบแทน
- มองว่าคริปโทฯ เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและบล็อกเชนเกิดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก มีความเป็นอิสระและโปร่งใส
อย่างไรก็ตามอารมณ์ หรือ Sentiment ของ ทั้งสองกลุ่มข้างต้นนั้น ยังไม่ได้รวมถึงการพิจารณา วิเคราะห์ตลาดจากทั้งแนวโน้มในอดีต (historical trend) ที่เราเห็นในคริปโทฯ และ วิธีที่เราเห็นความสัมพันธ์ (correlation) กับตลาดหุ้นโดยรวมและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น จึงควรจะวิเคราะห์ราคาของคริปโทฯโดยใช้วิธี Market Efficiency ร่วมด้วย
“Market Efficiency คือ ประสิทธิภาพของตลาด ซึ่งตอบสนองต่อการที่ราคาสะท้อนถึงการประเมินของตลาดในอนาคตของสกุลเงินดิจิทัล มุมมองนี้ช่วยให้เราเข้าใจแนวโน้มในอดีตของราคาคริปโทฯ และความสัมพันธ์กับตลาดการเงินโดยรวม”
ในช่วง5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มิถุนายน 2017 ตลาดคริปโทฯ เติบโตมากกว่า 860 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มที่สดใสของตลาด ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเติบโตของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในสถาบันการลงทุนและการค้าขายแบบรีเทล เช่น การรับชำระราคาสินค้าด้วยเงินคริปโทฯ รวมไปถึงการพัฒนาโปรเจกต์เทคโนโลยีที่สำคัญ บนพื้นฐานของคริปโทฯ อย่าง NFT และพื้นฐานของ Web 3.0 ปัจจัยเหล่านี้ยังส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดในเดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมาเราจะเห็นความสัมพันธ์(correlation) ระหว่างหุ้นและตลาดคริปโทฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่างจากช่วง 10 ปีแรกของราคาบิตคอยน์และคริปโทฯ ระหว่างปี 2010 - 2019 ที่แทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นเลย
ความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นนี้อธิบายได้ว่าคริปโทฯ มีความเกี่ยวพันกับระบบการเงินทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นมันจึงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก คริปโทเคอร์เรนซีปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงที่คล้ายกับหุ้นเทคโนโลยี (Tech stocks) และ สินค้าโภคภัณฑ์น้ำมัน (oil commodities) อย่างมาก
การตกต่ำของมูลค่าตลาดคริปโทฯ ณ ปัจจุบันจึงมาจากปัจจัยด้านมหภาค (macro-factors) ที่แย่ลง คิดเป็น 2 ใน 3 หรือ 66% ซึ่งอิทธิพลของธนาคารกลางเมื่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีส่วนสำคัญมากในการกำหนด การเคลื่อนไหวของราคาคริปโทฯ เมื่อธนาคารกลางทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ทั้งคริปโทฯ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ตกลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ ในขณะที่ ปัจจัยจากตัว โปรเจกต์คริปโทฯ รวมทั้ง อุตสาหกรรมคริปโทฯ เอง นั้นเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของปัจจัยร่วมในการกำหนดการเคลื่อนไหวของราคาคริปโทฯ เท่านั้น
ในตลาดขาลงแบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่นักลงทุนจะเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งทำความเข้าใจในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งมันจะเป็นช่วงที่เราเห็นโปรเจกต์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น เพราะช่วงนี้ไม่มีใครกาวใครได้ จากเหตุการณ์การล่มสลายของโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่ทำให้เรามองเห็นว่า โปรเจกต์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ นั้นก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน และที่สำคัญซึ่งผมอยากจะเตือนย้ำ ๆ ซ้ำสำหรับมือใหม่คือ อย่า All-in ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ควรจะต้องบริหารจัดการเงินให้ดี กระจายความเสี่ยงให้เป็น ถ้าจะเก็บของถูกก็พอทำได้ แต่ต้องเก็บเงินสดไว้ด้วย
*ข้อมูลอ้างอิง
https://www.crypto-news-flash.com/coinbase-attributes-two-thirds-of-the-crypto-market-correction-to-global-macro-factors/
https://blog.coinbase.com/coinbase-institute-research-crypto-prices-and-market-efficiency-d45c1f3c5b25
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)