efinancethai

FinTech

ประเภทของ Stablecoin ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี

ประเภทของ Stablecoin ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี

 

 

ประเภทของ Stablecoin ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี

 

 

ในสมัยก่อนเราใช้ทองในการตรึงมูลค่าของเงินเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า (Medium of exchange) โดยปริมาณเงินที่เราสามารถพิมพ์ออกมาใช้ในประเทศนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนทองคำที่เรามีอยู่ในครอบครอง (Reserves currency) ซึ่งวิธีการนี้ถูกเรียกว่า “Gold standard” 

 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาได้เลิกใช้มาตรฐานดังกล่าว แต่ใช้เป็นสกุลเงินอย่างดอลลาร์สหรัฐของตัวเองเป็นเงินสำรองในการทำกิจกรรมทางเงินทั่วโลกแทน และยังมีอีกหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ใช้สกุลเงินสหรัฐเป็นเงินสำรองแทนทองเพื่อใช้ในการพิมพ์เงิน 

 

ในฝั่งของคริปโท ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดที่มีความผันผวนสูงมาก  เราจะเห็นการขึ้นลงของราคาวันละหลาย เปอร์เซ็นต์ในหลายๆ เหรียญ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหลัก อย่างเช่น Bitcoin หรือ Ethereum หรือเหรียญเล็กๆ เช่น Dogecoin หรือ Shiba อย่างไรก็ตาม เรามีเหรียญชนิดหนึ่งที่มูลค่าค่อนข้างคงที่ เหรียญเหล่านี้มักถูกผูกราคาไว้กับสกุลเงินจริงต่างๆ อย่างสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเราเรียกเหรียญกลุ่มนี้ว่า “Stablecoins” 

 

แต่เนื่องจากการออกเหรียญคริปโทไม่ได้ถูกดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง วิธีการในการรักษาราคาของเหรียญเหล่านี้ให้มีมูลค่าคงที่จึงมีความหลากหลายและน่าสนใจ ในบทความนี้เราแบ่งวิธีการหลักๆ ออกเป็น 4 ประเภท

 

1. Stablecoins ที่ค้ำด้วยสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลอย่างสกุลเงินดอลลาร์ หรือตราสารทางการเงิน

 

เป็น stablecoins ที่ บริษัท หรือกลุ่มบุคคล ที่จะผลิตเหรียญ Stablecoins เหล่านี้ จะต้องมีการเก็บเงินจริง หรือตราสารทางการเงินไว้หลังบ้าน ซึ่งการที่มีเงินสกุลดอลลาร์ค้ำไว้ ทำให้เรามั่นใจว่าเหรียญเหล่านี้จะมีมูลค่าคงที่ ในกรณีเลวร้ายที่กลไกทั่วไปของตลาดไม่สามารถรักษาราคาของเหรียญเอาไว้ได้ ทางผู้ออกเหรียญเองสามารถใช้เงินที่เก็บรักษาไว้ในการรักษาสมดุลของราคาได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเหรียญดังกล่าวมีมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ จะทำให้ทางบริษัทสามารถซื้อเหรียญดังกล่าวคืนในราคาที่ถูกลง และการซื้อนั้นจะทำให้มูลค่าของเหรียญเพิ่มขึ้นกลับไปที่ 1 ดอลลาร์ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเหรียญดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 1 ดอลลาร์ ทางบริษัทก็สามารถออกเหรียญเพิ่มเติม เพื่อขายลงในตลาดเพื่อกดดันราคาให้กลับมามีมูลค่า 1 ดอลล่าร์เท่าเดิม ซึ่งตัวอย่างของ Stablecoins ประเภทนี้คือ USDT, USDC, BUSD, TUSD

 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของ Stablecoins ประเภทนี้ขึ้นอยู่กับว่า บริษัทที่ออกเหรียญดังกล่าวมีเงินจริงสำรองไว้ครบถ้วนจริงหรือไม่ และตราสาร หรือหนี้ต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นทุนสำรองในการออกเหรียญมีมูลค่าและสภาพคล่องเท่าไหร่ ซึ่งถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดเราควรจะเลือกใช้ Stablecoins ที่ใช้เงินดอลล่าร์ล้วนเป็นเงินสำรอง และมีการตรวจสอบจำนวนเงินสำรองที่เก็บไว้เทียบกับจำนวนเหรียญที่ปล่อยออกไปในตลาดโดยกลุ่มบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ  

 

2. Stablecoins ที่ค้ำด้วยคริปโทเคอร์เรนซี

 

การออก stablecoins ประเภทนี้มักจะไม่ต้องการตัวกลางสำหรับการออก โดยวิธีการออกจะคล้ายกับการจำนำเหรียญ โดยเราสามารถวางคริปโทอื่นๆ ไว้ที่แพลตฟอร์ม เพื่อยืมเอา stablecoins จากแพลตฟอร์มดังกล่าวออกมา ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม MakerDAO ซึ่งเราสามารถใช้คริปโทต่างๆ เช่น ETH มาวางไว้ที่แพลตฟอร์ม เพื่อถอนเอา DAI ซึ่งเป็น stablecoins ออกมาได้ ซึ่งมูลค่าของ DAI ที่เราถอนได้จากแพลตฟอร์มจะมีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าของ ETH ที่เรานำไปวางไว้ ข้อดีที่ชัดเจนของสินทรัพย์ประเภทนี้จะเป็นเรื่องของความกระจายศูนย์ของ stablecoins ที่เกิดจากความเชื่อมั่นในสกุลเงินคริปโทจากคนหมู่มาก อีกทั้งข้อมูลยังถูกประมวลผลและบันทึกด้วยรูปแบบ on-chain ที่เราสามารถตรวจสอบได้ แต่ข้อเสียสำคัญที่เกิดขึ้นคือเราจำเป็นที่จะต้องใช้คริปโทที่มีมูลค่าสูงกว่า $1 เพื่อออกเหรียญที่มีมูลค่าเท่ากับ $1 ซึ่งทำให้เกิดการเสียโอกาสจากการทำกำไรของเหรียญที่ถูกวางไว้เป็นหลักประกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อราคาของเหรียญที่วางไว้เป็นหลักประกันมีค่าลดลงมากจนถึงระดับหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดการถูกบังคับขาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียสมดุลของราคาแบบ Snow ball อีกด้วย

 

3. Stablecoins ที่ตรึงราคาด้วยอัลกอริทึม 

 

เพื่อลดปัญหาของการที่ต้องนำทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นเงินจริง หรือคริปโตอื่นๆ มาวางไว้เป็นหลักประกันสำหรับการออกเหรียญ stablecoins ได้มีการเสนออีกวิธีหนึ่งในการออกเหรียญ โดยวิธีนี้ใช้อัลกอริทึมในการตรึงราคา ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Terra ที่พึ่งจะประสบปัญหาไปก่อนหน้านี้ หลักการของ Terra ในการออก stablecoins ที่ชื่อ UST นั้น ทำได้ด้วยการสร้างเหรียญขึ้นมาอีกหนึ่งเหรียญที่ชื่อว่า LUNA โดยที่ UST และ LUNA สามารถแลกไปมาหากันได้ในเรทราคาอยู่ที่ 1 UST เท่ากับ 1 ดอลลาร์ในรูปของเหรียญ LUNA ยิ่งความต้องการเหรียญ UST มีมากเท่าไหร่ กลไกก็จะทำการนำเหรียญ LUNA ไปเผาทิ้งออกจากระบบมากเท่านั้น ส่งผลให้ราคาของ LUNA มีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อราคาของ UST มีค่าไม่เท่ากับ 1 ดอลลาร์ ยกตัวอย่างเช่น 0.95 กลไกของระบบจะทำการลดอุปสงค์ของเหรียญ UST ลงด้วยการ mint เหรียญ LUNA เพิ่ม เพื่อเผา UST ออกไปในมูลค่าที่เท่ากัน จะส่งผลให้มูลค่าของ UST กลับมาที่ 1 ดอลลาร์ แต่ในทางตรงข้าม หากราคา UST มีมูลค่าอยู่ที่ 1.05 กลไกจะทำการเพิ่มอุปสงค์ให้กับ UST โดยการเผาเหรียญ LUNA ในมูลค่าที่เท่ากันออกไป แล้ว mint เหรียญ UST เพิ่ม หลังจากนั้นราคาของ UST ก็จะกลับมาที่ 1 ดอลลาร์เหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ตาม stablecoins ประเภทนี้มีจุดอ่อนสำคัญ คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรืออยู่ในช่วงที่ตลาดมีพฤติกรรมที่ไม่ปกติ มักจะทำให้อัลกอริทึมเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเหตุการณ์ที่ UST หลุดจากราคา 1 ดอลลาร์ ทำให้คนเกิดความกังวลและและเทขาย UST จำนวนมหาศาล บวกกับตัวเร่งที่ทำให้คน mint เหรียญ UST จำนวนมาก จากดอกเบี้ยที่สูงของแพลตฟอร์ม Anchor ทำให้อุปทานของ LUNA มีล้นจนเกินจะคุมได้ อันนำไปสู่การล่มสลายของ Terra ในที่สุด

 

ความวิตกกังวลของนักลงทุน และอนาคตของ stablecoins

 

จะเห็นได้ว่า stablecoins มีข้อดีมากมาย เช่น ช่วยส่งเสริมการสร้างการยอมรับของโลกคริปโทเคอร์เรนซีให้กระจายไปยังกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และยังง่ายในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่พักเงินชั้นดีสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาของเหรียญมีความผันผวน และช่วงตลาดขาลง แม้ปัญหาที่เกิดจากการล่มสลายของ Terra-LUNA ที่ผ่านมา จะสร้างความวิตกกังวลต่อ stablecoins อย่างมากในหมู่นักลงทุน แต่กรรมวิธีในการสร้างและตรึงราคาของ stablecoins นั้นแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าผลลัพธ์จากการล่มสลายของ Terra ไม่ได้ส่งผลในเชิงพื้นฐานให้ stablecoins อื่นๆ ล่มสลายไปด้วยแต่อย่างใด

 

ในอนาคตเราอาจจะได้เจอ stablecoin ประเภทอื่นๆ ที่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของ stablecoins ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะมีการเปลี่ยนกลไกในการค้ำบางประเภทเพื่อให้สามารถขยายไปยังผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่ เราคงทำได้แค่จับตาดูว่าวิธีการดังกล่าวจะสามารถสร้างการเปลี่ยนในเชิงบวกให้กับโลกคริปโทได้หรือไม่ ซึ่งการพัฒนานั้นอาจจะเป็นตัวบ่งบอกว่าคริปโทควรเป็นทางออกของระบบการเงินของโลก หรือเป็นเพียงแค่เมกะเทรนด์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะหนึ่ง เพื่อพัฒนาคลื่นลูกใหม่ต่อไป

 

บทความโดย ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics

 

ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา Forward DeFi และ Forward Labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Facebook แฟนเพจ Em Udomsak

 

References :

[1] https://bit.ly/3HkBiVa

[2] https://bit.ly/3HpDxXC

[3] https://bit.ly/3QgGiyq

[4] https://bit.ly/3xH6v1R

[5] https://bit.ly/3QmJpF2

[6] https://bit.ly/39nb4VC

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 


 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh