โดย วรพจน์ ธาราศิริสกุล CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
กับกระแสราคาของ Bitcoin และ DeFi ทำให้มีคนสนใจที่จะมาเข้าสู่โลกแห่งคริปโทเคอร์เรนซีกันมากขึ้น คำถามแรกๆ ที่มีก็คือ จะเริ่มต้นยังไงดี วันนี้เลยอยากจะมาเล่าถึงเรื่องแรกที่ทุกคนต้องรู้ และเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ เรื่องกระเป๋าเงินคริปโทเคอร์เรนซีกันอีกครั้งนะครับ
โลกของ DeFi คือ โลกของการเงินรูปแบบใหม่ที่ทุกธุรกรรมจะรองรับเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น ดังนั้น เราจะต้องเริ่มจากการมีคริปโทเคอร์เรนซีไว้ในครอบครองก่อน เหรียญคริปโทต่างๆ ก็เหมือนกับเงินที่ต้องมีกระเป๋าเอาไว้เก็บ เอาไว้ใช้จ่าย คริปโทเคอร์เรนซีก็เช่นกัน
กระเป๋าคริปโทจะคล้ายๆ กับแอปพลิเคชัน E-Banking ของธนาคาร ที่สามารถดูได้ว่ากระเป๋าของเรามีเหรียญอยู่เท่าไหร่ และสามารถโอนเหรียญไปมาได้ โดยตัวเหรียญคริปโทจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ในกระเป๋าที่เรามี แต่กระเป๋านี้จะเป็นตัวกลางที่ทำให้เราเข้าไปดูข้อมูลและทำธุรกรรมบนบัญชีของเราที่เก็บอยู่บน Blockchain ได้
จุดเริ่มต้นที่เราจะสามารถซื้อคริปโทเคอเรนซีได้ เราจะต้องเข้าไปซื้อที่ Crypto Currency Exchange หรือตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็เป็นเหมือนจุดแลกเปลี่ยนจากเงินบาทไปเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งในเมืองไทยก็มีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกกฏหมายถึง 7 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ Bitkub, Satang Pro, Huabi, ERX, Zipmex, Upbit, Z.comEx ดังนั้น Exchange ต่างๆเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าเป็นกระเป๋าคริปโทแรกของเรา แต่ดูแลโดย Exchange นั้นๆ สำหรับคนที่อยากลงทุนคริปโท อาจจะต้องมองทางเลือก Exchange ในต่างประเทศ เช่น Binance ด้วยเช่นกัน เพราะเหรียญ DeFi ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ List ในประเทศไทย
เมื่อเรามีคริปโทเคอร์เรนซีมาแล้ว และอยากเริ่มลองไปลงทุนในแอปพลิเคชันต่างๆ ใน DeFi ก็มีความจำเป็นที่จะต้องโอนเหรียญออกจาก Exchange มาอยู่ในกระเป๋าคริปโทของเราเอง เพื่อที่จะไปต่อกับแอปพลิเคชันนั้นๆ ตรงนี้แหละที่อยากจะเน้นให้ทุกคนเข้าใจว่าเมื่อเป็นกระเป๋าคริปโทของเราเอง ความรับผิดชอบทั้งหมดจะอยู่ที่เราเอง เราต้องดูแลอย่างดี ถ้าพลาดไปจะไม่มีใครมาช่วยเราได้
ในเชิงเทคนิคกระเป๋าคริปโทจะเป็น Software ที่ใช้เก็บกุญแจ (Key) ที่เราจำเป็นต้องใช้ เพื่อเข้าไปดูข้อมูลและทำธุรกรรมที่อยู่บน Blockchain นั้นๆ โดยกุญแจของกระเป๋า จะแบ่งเป็นสองกุญแจ คือ Public Key กับ Private Key ซึ่งเป็นชุดรหัสตัวเลขสองชุดไม่ซ้ำกัน ที่ต้องใช้ทำงานร่วมกันในแต่ละกระเป๋า
-
Public Key จะเป็นเหมือนเลขที่บัญชีธนาคารหรือบางคนจะเรียกว่า Address โดยใครที่มี Address ของเรา ก็จะสามารถโอนเหรียญมาที่เราได้
-
Private key จะเป็นเหมือนลายเซ็นของเจ้าของบัญชี สิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกความเป็นเจ้าของ Wallet แต่ละ Wallet เปรียบเสมือนกับรหัสผ่านของ E-Banking ดังนั้น Private Key จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ถ้าใครรู้ก็จะสามารถเข้า Account ของเรา และนำเหรียญไปใช้ได้เลย และในอีกทางถ้าเราลืม Private Key ไป เราก็จะไม่สามารถใช้เหรียญใน Address นั้นๆ ได้อีก
ขอเน้นอีกครั้งครับว่า การเก็บรักษา Private Key นี้ล่ะคือจุดสำคัญที่สุดในกระบวนการทุกอย่างของคริปโทเคอร์เรนซี เพราะถ้าเป็นเงินที่อยู่ในธนาคาร เวลาเราลืม Password เราจะสามารถขอให้ธนาคารออก Password ใหม่ให้เราได้ แต่ถ้าเราลืม Private Key บน Blockchain จะไม่มีใครสามารถออกใหม่ให้เราได้ เพราะเราเป็นคนเดียวในโลกที่รู้ Private Key นั้น และเงินที่อยู่ในบัญชีนั้นจะหายไปตลอดกาล
ปัจจุบัน กระเป๋าคริปโทรูปแบบต่างๆ ได้ถูกสร้างชึ้นโดยมีการเก็บรักษา Private Key ที่ต่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ให้มากที่สุด ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน กระเป๋าคริปโทถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
Hot Wallet and Cold Wallet อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ Hot Wallet คือกระเป๋าที่ต่ออยู่กับ Internet ในขณะที่ Cold Wallet ไม่ได้ต่อกับ Internet
Hot Wallet
เมื่อ Hot Wallet คือกระเป๋าที่ต่ออยู่กับ Internet การเข้าถึงและใช้งานก็จะง่าย เหมาะกับการใช้งานประจำวัน เช่น การเทรด หรือการใช้จ่ายประจำวัน และเมื่อเป็นกระเป๋าที่อยู่บน Internet จึงไม่มีอะไรปลอดภัย 100 % จึงมีความเสียงสูงที่จะเกิดการ Hack ได้ ตัวอย่างของกระเป๋า Hot Wallet คือ Online Wallet ที่อยู่บน Exchange ที่ช่วยดูแล Private Key ให้ หรือ Desktop Wallet และ Mobile Wallet เช่น Metamask, Trust Wallet และ SavePal ที่ผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ดูแล Private Key เอง เป็นต้น
Cold Wallet
Cold Wallet ก็จะตรงข้ามกับ Hot Wallet คือ ไม่ได้ต่อกับ Internet ตลอดเวลา ซึ่งการใช้งานจะยุ่งยากกว่า ผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบดูแล Private Key เอง แต่ก็ได้มาซึ่งความปลอดภัยจากการ Hack ตัวอย่างของ Hardware Wallet เช่น Ledger, Trezor เป็นต้น
แล้วเราจะเลือก Wallet แบบไหนดี?
จากข้อดีข้อเสียของ Wallet แต่ละแบบ เมื่อเราจะเลือก Wallet สักแบบก็ควรจะต้องเหมาะสมกับการใช้งาน และจุดสำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยของทรัพย์สินของเรา ไม่มีกระเป๋าแบบไหนแบบเดียวที่จะเหมาะกับทุกคน และไม่มีกระเป๋าแบบไหนปลอดภัย 100% ตัวอย่างง่ายๆ แบบนึงก็ให้มองเหมือนกับการเก็บเงินในชีวิตประจำวัน คือ ถ้าเราเก็บเงินส่วนใหญ่ไว้ในตู้เซฟ และนำออกมาบางส่วนเท่านั้นมาใส่ในกระเป๋าเงินเพื่อใช้จ่าย ดังนั้น การเก็บคริปโทไว้แบบระยะยาวไม่ค่อยใช้เหมือนกับเก็บในตู้เซฟ ก็ควรจะเลือกกระเป๋าแบบ Cold Wallet เช่น Hardware Wallet หรือ Paper Wallet และสำหรับคริปโทที่เราต้องการนำมาใช้หรือเทรดจึงค่อยเอาออกมาบางส่วนมาบน Hot Wallet ใน Online Wallet ทั้งหลาย เป็นต้น
เทคโนโลยีของกระเป๋าเงินคริปโทในแต่ละประเภทก็มีพัฒนาการตลอดเวลา และก็ยังมีหลาย Brand ให้เลือกอีกต่างหาก ดังนั้นเมื่อเราเริ่มตัดสินใจเข้าสู่โลกของคริปโท คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเข้าใจในการทำงานของแต่ละกระเป๋า เพื่อเลือกกระเป๋าเงินที่น่าเชื่อถือและเหมาะที่จะดูแลสินทรัพย์ของเรามากที่สุด ตอนนี้ เรารู้จักที่เก็บคริปโทเคอเรนซีแล้ว
ในบทความถัดไปเราจะมาแนะนำถึงเหรียญคริปโทแบบ Stable Coin ในแต่ละรูปแบบ ที่จะช่วยให้เราสามารถลงทุนใน DeFi ได้อย่างปลอดภัยกันครับ.