เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอๆ ใช่ไหมครับ ว่าการลงทุนใน bitcoin หรือ cryptocurrency นั้นมีความเสี่ยงสูง แต่เอาจริงๆ แล้วเคยสงสัยไหมครับว่า ความเสี่ยงที่ว่าสูงนั้นคือความเสี่ยงอะไร แค่ราคาเหรียญที่ขึ้นลงเร็วอย่างเดียวหรือเปล่า หรือแม้กระทั่ง เสี่ยงสำหรับคนอื่นแล้วจะเสี่ยงสำหรับเราไหม และที่สำคัญที่สุดคือ แล้วเราจะป้องกันความเสี่ยงนั้นได้อย่างไรบ้าง
ความเสี่ยงจากการลงทุนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ครับ คือ 1.ความเสี่ยงที่มีผลต่อทั้งระบบ (Systematic Risk) 2.ความเสี่ยงที่เกิดเฉพาะตัวกับธุรกิจหรือหลักทรัพย์นั้น ๆ (Unsystematic Risk) และ 3.ความเสี่ยงที่เกิดจากตัวเอง (Personal Risk)
1.Systematic Risk คือความเสี่ยงที่ติดตัวมากับทั้งระบบหรือทั้งตลาดของสินทรัพย์ชนิดนั้น ๆ โดยความเสี่ยงนี้จะมีผลกระทบกับทั้งสินทรัพย์ทุกตัวทั้งตลาด ทำให้บางคนจะเรียกความเสี่ยงชนิดนี้ว่า Market Risk ความเสี่ยงในกลุ่มนี้มักเป็นความเสี่ยงที่เราคาดเดาได้ยากและควบคุมไม่ได้ ตัวอย่างของ Systematic Risk ของการลงทุนใน cryptocurrency ก็อย่างเช่น
ความเสี่ยงในด้านนโยบาย กฎเกณฑ์และการกำกับดูแล เช่น ถ้าหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลออกมาเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency ก็ย่อมจะส่งผลกับราคาและสภาพคล่องของสินทรัพย์แน่ๆ ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตนะครับ เช่น เมื่อปี 2017 รัฐบาลจีนประกาศให้การระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering หรือ ICO) ผิดกฎหมาย ก็ส่งผลให้มูลค่า bitcoin รวมถึง cryptocurrency ทุกตัวทั่วโลกตกลงไปกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ ในทันที
ความเสี่ยงในด้านภาษี เช่น ในปี 2014 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ cryptocurrency หรือ virtual currency เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าข่ายต้องเสียภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) โดยถ้าเป็นการถือครองสินทรัพย์เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี จะเข้าข่าย long-term capital gain ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า short-term แต่แล้วอยู่ ๆ ในปี 2019 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ด้านภาษีในหลายๆ เรื่อง ส่งผลให้อัตราภาษีของกำไรจากเงินลงทุนระยะสั้น สามารถจะน้อยกว่าภาษีจากการลงทุนแบบระยะยาวได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับทั้งโมเดลการซื้อขาย ทั้งราคาเหรียญ ทั้งนักพัฒนา นักลงทุน กองทุน และผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งอุตสาหกรรม
ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี เนื่องจากกลไกที่ cryptocurrency ใช้ความสร้างความถูกต้องความน่าเชื่อถือของธุรกรรมและของ smart contract จะใช้กระบวนการทางคณิตศาตร์และ cryptography เป็นหัวใจ ดังนั้นหากมีการค้นพบว่า cryptography ที่ใช้อยู่สามารถถูกถอดรหัสได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ หรือจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ย่อมจะส่งผลโดยตรงกับความน่าเชื่อถือของ cryptocurrency แน่นอน เช่น ในเดือนตุลาคม 2019 เมื่อ Google ได้ประกาศความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่อง quantum computing ซึ่งแม้ว่าจะยังอีกห่างไกลมากจากการถอดรหัส cryptography ที่ bitcoin ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ส่งผลให้ราคาเหรียญปรับตัวลดลงได้ถึง 7% เลยทีเดียว
“ซึ่งในเรื่องของ technological risk นี้ ต้องขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยครับ ว่าไม่ใช่ cryptocurrency ทุกตัวที่จะได้รับผลกระทบ ต้องดูรายละเอียดทางเทคนิคของแต่ละตัวไป เช่น ถ้าบอกว่าเทคโนโลยี quantum computer จะสามารถถอดรหัสทาง cryptography ที่ใช้อยู่ได้ แต่ก็อาจจะมีบางเหรียญที่ใช้ cryptography ที่เป็น quantum-proof ทั้งหมด ซึ่งก็จะไม่ได้รับผลกระทบในทางเทคนิค แต่แน่นอนว่าในด้านราคา ในด้านภาพรวมของตลาด ย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
2.Unsystematic Risk หรือที่บางครั้งจะเรียกว่า Specific Risk นั้น หมายถึงความเสี่ยงที่ติดตัวมากับธุรกิจหรือหลักทรัพย์นั้น ๆ และจะมีผลกระทบกับเพียงธุรกิจหรือหลักทรัพย์นั้นเท่านั้น ไม่เกิดผลกระทบกับตลาดในภาพรวม ตัวอย่างของ Unsystematic Risk ของการลงทุนใน cryptocurrency เช่น
ความเสี่ยงในด้านความสามารถในการแข่งขัน เช่น หากเหรียญสกุลหนึ่ง ๆ ที่ก่อนนี้เคยได้รับความนิยมจากตลาด แล้วต่อมามีเหรียญสกุลใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีคุณลักษณะที่เหมือนกันแต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ก็ย่อมดึงดูดให้คนจำนวนมากทิ้งเหรียญนั้นไปถือเหรียญใหม่อย่างแน่นอน
ซึ่งตัวอย่างที่จะยกมาเล่าในหัวข้อนี้จะเป็นระบบ DeFi หรือ Decentralized Finance ครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเรื่องของ Cryptocurrency โดยตรงแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันสูงมาก และคิดว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่อง competitive risk นี้
โดยเหตุการณ์นี้เกิดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2020 ครับ ในช่วงนั้น Decentralized Exchange หรือ DEX ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดตัวหนึ่งคือ Uniswap แต่แล้วอยู่ๆก็มี DEX ที่ชื่อ Sushiswap เปิดตัวขึ้นมา โดยนอกจากระบบจะมีความสามารถเทียบเท่ากับ Uniswap ทุกประการ แล้วก็ยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แถมยังกลไกพิเศษที่ช่วยให้สามารถดูดเอาลูกค้าของ Uniswap มาเป็นของตัวเองผ่านทางการทำ yield farming อีกด้วย ซึ่งผลก็คือ เหรียญของ Uniswap มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ได้ถูกนักลงทุนนำไปฝากไว้กับ Sushiswap และทำให้เหรียญของ Sushiswap มี Market Cap พุ่งสูงขึ้นเป็น 300 ล้านดอลลาร์ในชั่วข้ามคืน (เรื่องนี้มีรายละเอียดสนุกๆเยอะมาก ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังแบบเต็มๆนะครับ)
ความเสี่ยงในด้านนโยบาย กฎเกณฑ์และการกำกับดูแล ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง regulation ก็สร้างผลกระทบกับทั้งระบบ แต่ในบางกรณีก็กระทบแค่เหรียญใดเหรียญหนึ่งเท่านั้น เช่น ในเดือนธันวาคม 2020 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้ฟ้องร้องผู้บริหารและบริษัทผู้ออกเหรียญสกุล XRP ในข้อหาการระดมทุน โดยการออกหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดย SEC สหรัฐฯ มองว่าเหรียญ XRP เป็นหลักทรัพย์ ดังนั้นการที่บริษัทได้ขายและแจกจ่ายหลักทรัพย์ XRP ให้กับนักลงทุนโดยทั่วไป โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนให้กับนักลงทุน ถือเป็นความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่บริษัทผู้ออกแย้งว่า XRP เป็นเงิน มิใช่หลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมก็ได้เคยตัดสินไว้เมื่อปี 2015 แล้ว ว่า XRP เป็น virtual currency ซึ่งผลของความไม่ชัดเจนนี้ทำให้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ (cryptocurrency exchange) ใหญ่ๆ ทั่วโลกทยอยระงับการซื้อขาย XRP และราคาได้ร่วงจาก 0.55 ดอลลาร์เหลือ 0.25 ดอลลาร์ในทันที (แต่เหล่าผู้สนับสนุนก็ช่วยกันดันราคากลับขึ้นมาที่ 0.37 ดอลลาร์จนได้ครับ รายละเอียดของเรื่องนี้ก็สนุกมากเช่นกันครับ ไว้จะยกมาเล่าให้ฟังเมื่อมีโอกาส)
ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคา อันนี้น่าจะเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนใน cryptocurrency ได้ยินได้ฟังหรือแม้กระทั่งได้ประสบด้วยตัวเองมากที่สุดแล้วครับ ซึ่งความเสี่ยงนี้ไม่ได้มีแค่ด้านราคาปรับตัวลงอย่างรวดเร็วเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมไปถึงความเสี่ยงที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย อย่างเช่น ราคาของ Bitcoin เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 119% ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน (และร่วงลงมา 19% ใน 3 วันให้หลัง)
3.Personal Risk ก็จะหมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากตัวนักลงทุนเอง เช่น การทำรหัสผ่าน หรือ key หาย, การใส่ราคาผิด, ใส่ address ปลายทางผิด ไปจนถึงการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด จนเกิดความเสียหายกับพอร์ตการลงทุน เป็นต้น
ตามวิเคราะห์มาข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยใช่ไหมครับว่า ความเสี่ยงด้านราคาของ cryptocurrency เป็นเพียงความเสี่ยงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ในการลงทุนจริง ยังมีความเสี่ยงอย่างอื่นอีกมาก และการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำก็ไม่ใช่แค่การดูที่ความรุนแรง หรือ impact เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น หรือ likelihood ด้วย เช่น บางเหตุการณ์อาจจะดูรุนแรงมาก แต่โอกาสจะเกิดมีน้อยมาก หรืออีกหลายร้อยปีถึงจะเกิด อย่างนี้ก็อาจนับได้ว่าเสี่ยงน้อย เป็นต้น
ซึ่งเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งหวั่นใจว่าทำไมมีแต่ความเสี่ยงเยอะแยะเต็มไปหมดนะครับ ถ้าจะวิเคราะห์กันโดยละเอียดแล้วในทุกการลงทุน (หรือการเลือกไม่ลงทุน) ก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ฝากเงินไว้ในธนาคารยังมีความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ หรือเสี่ยงว่าธนาคารจะเจ๊งได้เลย เพราะฉะนั้นวิธีการลงทุนให้ปลอดภัยที่สุด ไม่ใช่การลงกับสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงเลย แต่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสมต่างหาก
ในตอนหน้า ผมจะมาคุยต่อเรื่องวิธีและเครื่องมือที่สามารถใช้ในการจัดการความเสี่ยงของการลงทุนใน cryptocurrency ทั้ง systematic และ unsystematic risk ครับ