แบงก์ชาติ กับ การเมือง
ยังไม่มีข้อสรุป สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกรรมการคัดเลือกฯ ออกมาประกาศขอขยายเวลาอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และคุณสมบัติตามกฎหมายอย่างรอบคอบ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ที่ประชุมมีมติเคาะเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนัก ว่าเป็นการนำบุคคลที่เกี่ยวโยงการเมือง เข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ จากการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ จนนำไปสู่การขยายเวลาคัดเลือก
ในขณะที่ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ธาริษา วัฒนเกส เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. หรือประธานธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุชัดเจนว่า " ในขณะนี้ มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่จะยับยั่งหายนะทางเศรษฐกิจได้"
โดยอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความไม่พอใจแบงก์ชาติ ทั้งเรื่องกรลดดอกเบี้ย ตลอดจนการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท จนนำไปสู่การคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนเข้าไปเป็นประธานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แบงก์ชาติเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งนั่นก็คือการเข้าไปแทรกแซงทำให้แบงก์ชาติขาดความเป็นอิสระในการบริหาร และกำหนดนโยบายการเงิน
และอาจทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวการแทรกแซงธนาคารกลาง
ในอดีตเราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเคยมีอำนาจ โดยให้กระทรวงการคลัง สามารถสั่งปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ โดยผู้ว่าฯ คนล่าสุดที่เคยถูกปลด ก็คือ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล สมัยที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รมว.คลัง เมื่อปี 2544 .ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสาเหตุก่อนหน้าก็คือความขัดแย้งเชิงนโยบาย ทั้งเรื่องค่าเงินบาท ดอกเบี้ย รวมไปถึงการไม่สนองนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี
แต่ปัจจุบันการปลดผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน หลังการปรับปรุง พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 โดยกฎหมายเดิมที่ให้อำนาจ รมว.คลัง เสนอแต่งตั้งและปลดผู้ว่าฯ ได้โดยไม่ต้อวระบุเหตุผลหรือข้อหา มาเป็นฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯ ต้องมาจากการสรรหา และกำหนดวาระดำรงตำแหน่งไว้คราวละ 5 ปี และการจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ของ รมว.คลัง หรือกรรมการแบงก์ชาติ ได้ก็ต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด คือ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความผิดบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ซึ่งไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน
เพราะฉะนั้นประเด็นการให้คนของรัฐบาล เข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการเข้ามาควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทยทางอ้อม เมื่อไม่สามารถสั่งให้ผู้ว่าแบงก์ชาติดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลต้องการได้
เพียงแต่การเคาะประธานแบงก์ชาติรอบนี้ อาจไม่ง่ายนัก และที่สำคัญการเอาคนการเมืองเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่ และต้องมีความจำเป็นมากขนาดไหน