ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ดูเหมือนจะทำให้หลายต่อหลายคนโล่งอกไม่น้อย
แม้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดกันว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นทีเดียว 0.5% ซึ่งน่าจะเกิดแรงกระเพื่อมในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทันที โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะนั่นถือต้นทุนการเงินที่จะเพิ่มขึ้นของประชาชน
แต่อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นความจำเป็นที่ ธปท. ต้องดำเนินการเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากราคาน้ำมัน ราคาสินค้า อุปโภค บริโภค รวมทั้งอาหารสดต่างๆ ตลอดจนส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศ กับต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ถ่างออกมาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อเงินไหลออก และกระทบต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งถ้าไม่ขึ้นก็คงไม่ได้เช่นกัน
ซึ่ง กนง. ก็ให้เหตุผลชัดเจนแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป แต่เงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง
อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 66 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย
ดังนั้นการประชุม กนง. ครั้งหน้าวันที่ 28 ก.ย. นี้ ก็ยังมีความเป็นไปได้สูง ที่ กนง. จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในรอบนี้ ยืนยันว่าจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระชากแรงจนทำให้ตลาดการเงิน หรือต้นทุนการเงินของประชาชนกระทบมากนัก
เช่นเดียวกับ ประธานสมาคมธนาคารไทย ผยง ศรีวาณิช ก็ออกมารับลูกชัดเจน โดยระบุว่า สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการ ธปท. ที่ให้แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติในรูปแบบ Smooth Takeoff โดยนโยบายดอกเบี้ยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ารายย่อย และ SME โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ
โดยตัวเลขล่าสุดของการช่วยเหลือลูกหนี้ของสมาคมฯ และธนาคารสมาชิก ตั้งแต่เกิดโควิดมานั้น ในเดือนก.ค. 63 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท แต่หลังสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ณ เดือนพ.ค. 65 ลูกค้าภายใต้มาตรการลดลงเหลือ 1.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท และมีการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SME ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) จำนวน 3.2 แสนล้านบาท ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบไม่สูงขึ้นมาก และคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน
เห็นแบบนี้แล้ว อย่างน้อยก็พอจะเบาใจได้ว่า ทั้งธปท. และธนาคารพาณิชย์ ยังคงพร้อมจะช่วยเหลือลูกหนี้ และค่อยๆ ใช้นโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เราๆ ท่านๆ ที่ต้องมีภาระเงินกู้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และสาระพัดเงินผ่อนอีกหลายอย่าง ก็คงจะต้องทำใจด้วยว่า ความเคยชินกับอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ก็จะลดน้อย ถอยลงไป แต่มองอีกมุมหนึ่ง แม้จะขึ้นดอกเบี้ย ก็ยังคงเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับต่ำอยู่