เปิดรายชื่อผู้เข้าชิง Virtual Bank คาดไม่พลิกโผ
ไม่เกิน 27 ก.ย.นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศรายชื่อผู้ที่ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank หลังจากเปิดรับสมัครมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 และปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาเปิดรับเป็นเวลา 6 เดือน
หากไม่มีอะไรพลิกโผจากก่อนหน้านี้ 5 กลุ่มใหญ่ที่ยื่นแข่งขันชิงใบอนุญาตครั้งนี้ จะประกอบด้วย
- กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ประกาศชัดเจนโดย ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ว่าร่วมกับพันธมิตร 2 ราย คือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก หรือ OR ยื่นของใบอนุญาตไปแล้ว โดยเชื่อว่า Virtual Bank จะสามารถตอบโจทย์การให้บริการได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved หรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ตามวัตถุประสงค์ของ ธปท. และกระทรวงการคลัง
- กลุ่ม BTS กรุ๊ป ที่ส่งบริษัทวีจีไอ บริษัทลูกเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โดยผนึกกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ Sea Group จากสิงคโปร์ และบริษัทไปรษณีย์ไทย ซึ่งกลุ่มนี้ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยล่าสุดว่า อยู่ระหว่างพิจารณา
- กลุ่ม เอสซีบีเอ็กซ์ หรือ SCB ร่วมกับพันมิตร คาเคาแบงก์ จากเกาหลีใต้ และ Webank จากจีน
- นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Lighthub Asset ฟินเทคชั้นนำของไทยของชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ที่จับมือกับพันธมิตรฟินเทคจากฮ่องกงอย่าง WeLab ยื่นขอใบอนุญาตช่นกัน
- และกลุ่มสุดท้าย บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เจ้าของแอปฯ TrueMoney ของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ที่จับมือ Ant Group บริษัทฟินเทคในเครือ Alibaba จากจีน และธนาคารญี่ปุ่น MUFG Bank ก็ยืนยันว่าได้ร่วมชิงไลเซนส์ด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ก็คงไม่มีรายชื่อแปลกไปจาก 4 กลุ่มนี้ที่ต่างก็มีจุดแข็งแตกต่างกันไป อย่างเช่น KTB ที่ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นจุดขาย พร้อมกันฐานผู้ใช้งานที่มีอยู่ และเมื่อร่วมกับ ADVANC และ OR ต้องเรียกว่ามหาศาล ขณะที่BTS ที่ส่ง VGI เข้าประกวด ก็มีฐานผู้ใช้งานจากบัตรแรบบิท ผนึกกับ Sea Group เจ้าของแพลตฟอร์มยักษ์ Shopee และ BBL แบงก์อันดับ 1 ของประเทศ
ส่วนกลุ่ม CP นั้นก็มีข้อได้เปรียบจากการเป็นผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ทรูมันนี่ ในประเทศ ที่มีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคน แถมยังมีสาขา 7-11 และโลตัส สนับสนุน ยิ่งได้แอนท์ กรุ๊ป ที่เชี่ยวชาญเรื่องฟินเทค ก็ยิ่งช่วยสนับสนุนการได้ไลเซนส์มากขึ้น
และกลุ่มสุดท้าย คือ SCBX ซึ่งมีคาเคาแบงก์ ของเกาหลีใต้ และ WeBank ของ Tencent Group ร่วมเป็นพันธมิตรก็มีดีในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแบงก์
เพราะฉะนั้น ชื่อชั้น ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพของกลุ่มที่จะเปิดตัวเข้าแข่งขันเพื่อชิงไลเซนส์ Virtual Bank ครั้งนี้ ต่างก็เข้าเกณฑ์และเหมาะสมกับการมีคุณสมบัติในการให้บริการไม่แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่ว่า ธปท. จะพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ตามเอกสารและข้อมูลที่นำเสนอเข้ามาแค่ไหน ก่อนที่จะเสนอรายชื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณา และประกาศรายชื่อผู้ชนะในเดือนมิ.ย. ปีหน้า หรืออย่างช้าไม่เกิน ก.ย. ปีหน้า
จากนั้นเมื่อได้ผู้ชนะได้ไลเซนส์ หรือใบอนุญาตแล้ว ก็ให้เวลาในการเตรียมความพร้อมต่างๆ ก่อนเปิดดำเนินธุรกิจภายในเดือน มิ.ย. 2569 หรืออย่างช้าไม่เกิน มิ.ย. 2570
แต่ที่แน่ๆ ใครที่ได้ใบอนุญาตไปก็น่าจะช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ Virtual Bank ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินเพียงพอหรือตรงกับความต้องการ