เฟด... ยังไม่แผ่ว
ใครที่คิดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เมื่อวันพุธที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา จะเริ่มชะลอขึ้นดอกเบี้ย คงผิดหวังไม่น้อย เพราะ "เจอโรม พาวเวลล์" ประธานเฟด ยังคงยืนหยัดที่จะขึ้นดอกเบี้นที่ 0.75% เหมือนเดิม โดยยืนยันหนักแน่นการสกัดเงินเฟ้อ จำเป็นที่จะต้องทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นต่อไปอีก หรือจะบอกได้ว่า เฟดยังคงยึดมั่นที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเช้มงวด ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ขณะที่นายพาวเวลล์ ระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไปสู่ระดับใดที่จะจัดการกับเงินเฟ้อได้ และจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายในการสกัดการพุ่งของเงินเฟ้อ แม้ตอนนี้ความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้ทั่วโลกกังวลว่าเฟดกำลังฉุดเศรษฐกิจโลกให้ดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ เห็นได้จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงืนสกุลอื่นๆ จนกลายเป็นแรงกดดันต่อตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดูเหมือนสหรัฐฯ จะไม่ได้สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภูมิภาคอื่น นอกจากมุ่งเน้นเพียงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อภายในของตัวเองเป็นลำดับแรก โดยตั้งหน้าตั้งตาขึ้นดอกเบี้ยระดับ 0.75% ต่อเนื่อง 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ก.ค. ก.ย. และ พ.ย. ขึ้นสู่ระดับ 3.75-4% ในปัจจุบัน
“ระดับดอกเบี้ยสุดท้าย ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะทราบว่าคือระดับใด” นี่คือสิ่งที่พาวเวลล์ ย้ำไว้ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ได้แต่หวังและลุ้นว่าเฟดอาจจะชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ย ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้แทน เหมือนที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบัน Bank Policy Institute ระบุว่า ถ้อยแถลงของเฟดดูเหมือนจะให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ก่อนที่วัฏจักรของนโยบายเข้มงวดนี้จะสิ้นสุดลง ส่งสัญญาณการขี้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง
ขณะที่นักลงทุนก็คาดหวังสัญญาณจากเฟดว่าอาจจะชะลอความเร็วของนโยบายที่เข็มงวดนี้ หลังจากเร่งขึ้นดอกเบี้ยจากระดับเกือบใกล้ 0% เมื่อเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 3.75% และ 4.00% ซึ่งถือเป็นความเข้มงวดทางการเงินที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ. 1980s หรือในรอบ 40 ปี เลยทีเดียว
ไม่ง่ายกับการกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังยักแย่ ยักยัน อยู่ในตอนนี้ สหรัฐฯ เองก็รู้ตัวว่า ประเทศกำลังอยู่ใกล้ขอบเหวเข้าไปทุกที เพียงแต่การดำเนินนโยบาย หรือมาตรการของพวกเขานั้นจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยเร็วแค่ไหน และที่สำคัญจะต้องไม่ลากประเทศอื่นๆ ลงเหวไปด้วย
อย่าลืมว่าตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโร พญามังกรอย่างจีนที่หากยังคงยึดมั่น ถือมั่นกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ก็จะทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาจีนด้วยเช่นกัน ไหนจะสงครามยูเครน - รัสเซียอีก
ถึงเวลาแล้วที่เฟดอาจจะต้องกลับมาคำนึงถึงส่วนรวม แล้วเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดลง โดยการชะลอขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้ไปกระชากเศรษฐกิจถลำลึกมากจนเกินไป