ฟุตบอลโลก เรื่องใหญ่ของใครหลายคน
เอาจริงๆ เหมือนที่จั่วหัวเลย ฟุตบอลโลก 4 ปีมีครั้ง เป็นมหกรรมกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนทั่วโลกให้ความสนใจมานานเกือบร้อยปี ตั้งแต่เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930 จนปัจจุบัน โดยครั้งล่าสุดนี้ ปี 2022 นี้ คือครั้งที่ 22 เรียกได้ว่าทุกครั้งที่ฟุตบอลโลกเตะ ความคึกคัก และสีสรร ในการเชียร์ มักจะติดตามมาเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ไม่เคยได้เข้าร่วมฟุตบอลโลก อย่างประเทศไทย
กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬายอดฮิต หรือจะบอกว่าเป็นกีฬาอันดับ 1 ของบ้านเรามานาน และก็ได้รับความนิยมมาต่อเนื่อง ซึ่งในรอบ 10 กว่าปีมานี้ ประเทศไทยมักจะโชคดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่หลายประเทศในโลกที่มักจะได้ดูฟุตบอลระดับโลกกันทุกนัด ทุกทัวร์นาเมนท์ ทั้งฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร รวมไปถึงฟตบอลลีกดังๆในยุโรป เป็นที่อิจฉาของประเทศเพื่อนบ้านยิ่งนัก
แต่สำหรับปีนี้ประเทศไทยอาจไม่โชคดีเช่นนั้น แม้ล่าสุด สำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะเพิ่งอนุมัติเงิน 600 ล้านบาท สำหรับซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกให้แล้วก็ตาม แต่เมื่อดูจากค่าลิขสิทธิ์ 1600 ล้านบาท บอกเลยว่าไม่ง่ายจริงๆ กับการต้องหาเพิ่ม แม้จะบอกว่าเดี๋ยวก็มีเอกชนรายใหญ่มาช่วยลงขัน แต่ถามจริงว่า เราจะต้องใช้วิธีนี้ไปอีกกี่ครั้ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัญหายุ่งยากแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เราต่างรู้ดีว่าเกิดจากไหน
จำกันได้หรือไม่ กฎ Must Have - Must Carry ที่ กสทช. ออกเกณฑ์มาเมื่อปี 2555-2556 กำหนดการถ่ายทอดรายการกีฬาระดับโลกต้องออนบนฟรีทีวี และต้องออกทุกช่อง ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อความเท่าเทียมอย่างยิ่งยวดนั่นเอง กลายมาเป็นก้างขวางคอชิ้นยักษ์ของกสทช.อยู่ทุกวันนี้ เพราะการออกเกณฑ์แบบนี้มันคือของแสลงสำหรับเอกชน เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์จะแพงหูฉี่ เพราะเราต้องออกทุกแพลตฟอร์ม ดังนั้นเลยทำเอกชนไม่กล้าเสี่ยงที่จะทุ่มลงทุนซื้อ เพราะกสทช. การันตีได้หรือไม่ว่า ถ้าเอกชนซื้อแล้ว เขาจะไม่ขาดทุน
ยกเว้นแต่ กสทช. ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ก็จะกลายเป็นข้อครหาว่าควรจะเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นมากกว่ามาซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยส่วนหนึ่งดูฟุตบอล นั่นคือสิ่งที่ หลายครั้งบ้านเรามักจะมีคำถามเสมอมา คนตั้งเกณฑ์ ก็ตั้งไป แต่ไม่ได้ดูความเป็นจริงว่า เกณฑ์ที่ตั้งนั้นใช้ในทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน
แล้วก็ย้อนกลับมาอีกว่า เรามีบทเรียนมาแล้วจากการที่ต้องไปขอเอกชนมาลงขันจ่ายเงิน เพื่อให้เป็นไปตามกฎ กสทช. แล้วทำไมปีนี้ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายถึงไม่เตรียมการ ฟีฟ่าเข้าเริ่มขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากันเป็นปี ต่อให้ผ่านเอเยนต์ มันก็มีเวลาเจรจาให้ต่อรอง หรือแม้แต่พูดคุย ดึงเอกชนมาร่วมว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่มาเร่งรีบ มาคุยกันตอนเหลือเวลาแค่เดือนเดียว ทำเหมือนซื้อเวลา ยื้อเวลา รอเวลาเพื่อต่อรอง ? หรืออย่างไร
ทัวร์นาเมนท์ใหญ่ระดับโลกแบบนี้ คนที่เขาเป็นมืออาชีพ เขารู้ดีว่าควรต้องทำยังไง แต่นี้เหมือนบ้านเราตั้งใจรอใกล้ แล้วค่อยเจรจา ทำเหมือนไม่ได้ตั้งใจให้ประชาชนได้ดูจริงๆ บางทีคราวนี้ ถ้าบรรดาเอกชนพร้อมใจกันไม่ช่วยลงขัน เพราะรู้สึกเบื่อกับการต้องโดนแบบนี้เป็นประจำแล้วอ้างประชาชน คนไทยก็น่าจะเตรียมใจว่าเราอาจจะอดดูฟุตบอลโลก
อุตส่าห์ได้จัดงานประชุมระดับโลกอย่าง APEC แต่การบริหารจัดการ กับเรื่องซื้อลิขสิทธิ์ กลับทำเหมือนเด็กจบใหม่ เริ่มฝึกงาน ไหนจะกฎ "2 Must" ที่ปัญหารอบนี้ ก็น่าจะรู้อยู่ว่าควรสังคายนาใหม่ บางทีถ้าไม่มีกฎนี้ คนไทยอาจไม่ต้องมารอลุ้นกันนาทีสุดท้ายแบบนี้ เพราะ 600 ล้านบาทที่ได้มา แล้วมาต่อรองขอถ่ายทอดสดบางนัด ทางฟีฟ่าเค้าก็ไม่รับข้อเสนอแล้ว เพราะที่รับทาบมาคือถ้าจะซื้อ ก็ต้องซื้อให้ครบ 64 นัด
ตอนนี้ก็เหลือแค่รออัศวินขี่ม้าขาว มาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก ตอนคราวฟุตบอลยูโร คนไทยก็แห่ซื้อรองเท้ากันมาแล้ว คราวนี้แฟนบอลชาวไทยก็อาจจะต้องหันมาช่วยซื้อสินค้ากันอีกก็ได้ หากได้ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
*** นี่แหละ ถึงบอกว่า ฟุตบอลโลกเป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายคน