efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

ดิจิทัล วอลเล็ต ... ยังไงก็ไปให้สุด

ดิจิทัล วอลเล็ต ... ยังไงก็ไปให้สุด

 

ดูเหมือนจะไม่ง่ายเสียแล้ว กับอภิมหาโครงการ แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน หลังจากเจอแรงต้านค่อนข้างถี่ในช่วงนี้ ตั้งแต่อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่นำทีม 99 นักวิชาการออกมาคัดค้านว่าเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย  จนตอนนี้รายชื่อพุ่งขึ้นไป 133 รายแล้ว เช่นเดียวกับ ฟากฝั่ง ส.ว. หลายคนที่ออกมาไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน


                            
 และล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่ 


                           
 เรียกว่าเป็นการตั้งคณะกรรมการโดยใช้โมเดล เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยทำก่อนหน้านี้ และหาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา ครม.หรือรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ  


                            
ดังนั้น ยิ่ง ป.ป.ช. ออกมาเตือนเช่นนี้ การจะเดินหน้าโครงการของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องรอบคอบมากกว่าเดิม เพราะวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท เป็นเงินมหาศาล และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อภาระหนี้ของประเทศในอนาคตอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่เพดานหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ส.ค. ตอนนี้อยู่ที่ 61.78% ต่อจีดีพี  ถึงแม้จะขยายเพดานเป็น 70% (ตั้งแต่ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์) ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะประมาทไม่ได้  และอย่าลืมว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงปัจุบันนี้กว่า 6 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ยังทยอยใช้หนี้ไม่หมดเลย


                               
ขณะที่นักวิชาการ ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวอยู่แล้ว รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากขนาดนั้น แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพการลงทุนและการส่งออกมากกว่า แถมการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก  แถมเงิน 5.6 แสนล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย และอีกหลากหลายเหตุผล ที่หลายๆคนคงเห็นผ่านตากันไป 


                               
มีคนไม่เห็นด้วย ก็ย่อมมีคนที่เห็นต่าง เพราะดูเหมือนฝั่งที่สนับสนุนก็ไม่หวั่นกับโครงการนี้ แม้ยังไม่รู้ว่าจะเงินจริงๆ อยู่ที่ไหน ก็ยังยืนยันจะไปต่อให้สุด และยืนยันว่าโครงการจะเป็นประโยชน์กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าให้โตได้ 5% หรือจะเรียกว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเลยก็ได้ ไม่ใช่โครงการประชานิยม หรือหาเสียงแจกเงินอย่างเดียว 


                              
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในที่สุดโครงการนี้ ก็น่าจะเดินต่อไปอยู่ดี เรียกว่าเดินหน้าให้สุดทาง เพียงแต่จะแจกอย่างไร แจกแบบไหน หรือจะแบ่งลงทะเบียนตามความสมัครใจก็ได้นั้น ...  แต่ในมุมผู้เขียนแล้ว ลงว่าเป็นเงิน 10,000 บาท ในเมื่อรัฐบาลประกาศจะแจกแล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องรับกันทั้งนั้น จะมีเงิน ไม่มีเงิน จะจน หรือจะรวย ส่วนใครจะเอาไปทำอะไร ยังไงก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล 

 

แต่ในที่สุดแล้ว วงเงินที่รัฐบาลจะเอามานั้น ต้องเคลียร์ให้ชัด และต้องชี้แจงให้ประชาชนและทุกฝ่ายที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ว่า รับ 10,000 บาทแล้ว ลูกหลานเราจะไม่ต้องตามไปใช้หนี้ผูกพันในอนาคตด้วยนะ ใครก่อหนี้ก็ต้องรับผิดชอบกันด้วยนะ







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh