งบแบงก์โค้ง 2 สดใสทั้ง YoY และ QoQ
ใกล้เทศกาลประกาศผลประกอบการแบงก์พาณิชย์ หรืองบฯ แบงก์ไตรมาส 2 ที่จะทยอยประกาศกลางเดือนนี้กันแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษอะไรมากมาย แต่ถ้ามองในแง่มุมของการลงทุน ภาพรวมของตลาด และอีกประเด็นก็คือผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจ
เพราะฉะนั้น รายได้ กำไรของกลุ่มธนาคารฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่นักลงทุน และบรรดากูรูเศรษฐกิจทั้งหลาย ยังคงให้ความสำคัญ และสนใจอยู่ เพราะเป็นดัชนีชี้วัดของตลาดทุน ตลาดเงิน และเศรษฐกิจมหภาค เป็นอย่างดี
ดังนั้นก็เลยถือว่าโอกาส เอาบทวิเคราะห์ และมุมมองของโบรกเกอร์ ตลอดจนประมาณการกำไรของกลุ่มแบงก์ในไตรมาสที่ 2 มาเป็นข้อมูลประกอบการลงทุนกัน
เริ่มจาก บล.เคทีบีเอสที (KTBST) ที่คาดว่าไรสุทธิ Q2/65 ของกลุ่มแบงก์ เพิ่มขึ้น +23% YoY จากสำรองฯที่ลดลง แต่ทรงตัว QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง และคาดว่ากำไรสุทธิรวม Q2/65 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น +23% YoY แต่ทรงตัว QoQ
สำหรับกำไรที่เพิ่มขึ้น YoY เกิดจาก 1) มีการตั้งสำรองฯที่ลดลงเนื่องจากช่วง Q2/64 มีการตั้งสำรองฯในระดับสูง และ 2) มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ
KTBST คาดว่า ธนาคารที่จะเติบโตทั้งได้ YoY และ QoQ คือ TTB, SCB, BBL, และ KBANK โดย SCB, BBL และ KBANK เติบโตได้จากสำรองฯ ที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ ส่วน TTB เติบโตได้ดีเพราะไม่มี Integration cost เข้ามากดดันแล้ว
ส่วน ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตได้โดดเด่นเมื่อเทียบ YoY เรียงจากมาก-น้อยคือ KKP +43%, TTB +35% และ KBANK +29% ส่วนใหญ่เกิดจากสำรองฯที่ลดลงเป็นหลัก สินเชื่อ Q2/65 เพิ่มขึ้น +5% YoY และ +1% QoQ เพราะสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อเช่าซื้อช่วยหนุน ส่วน NPL ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาพรวมของสินเชื่อ Q2/65 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น +5% YoY และ +1% QoQ เพราะสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อเช่าซื้อที่ฟื้นตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้ ในส่วนของ NPL รวมใน Q2/65 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.15% จาก Q1/65 ที่ 3.06%
ด้าน บล.ฟิลลิป (PST) คาดว่ากำไร Q2/65 ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ และ 8 ธนาคารหลักจะมีกำไร Q2/65 รวมกัน 53.5 พันลบ. เพิ่มขึ้น 6.7% YoY และ 3.4% QoQ ส่วนกำไรครึ่งปีแรก 65 เพิ่มขึ้น 9.8% YoY ทุกธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นยกเว้น BAY ที่ปีก่อนมีกำไรจากการขายเงินลงทุน โดยเฉพาะ KTB และ KKP ที่มีการลดระดับการตั้งสำรองลงทำให้มีกำไรครึ่งปีแรก 65 เพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุด
ฟิลลิป คงแนะนำ “ลงทุนมากกว่าตลาด” จากประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากสินเชื่อที่คาดจะเติบโตต่อ จากความต้องการสินเชื่อภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลายลง นอกจากนี้ยังมองว่ากลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผลประกอบการ โดยเลือก BBL เป็นหุ้น Top pick
ส่วน บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (UOBKH) คาดว่ากำไรของกลุ่มจะเพิ่มขึ้น 15% YoY โดยได้แรงหนุนหลักจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ลดลง สินเชื่อน่าจะเติบโตได้ดีที่ 5% YoY และ 1% QoQ เนื่องจากการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มองในแง่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มกำไรในระยะกลางของธนาคาร โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คงคำแนะนำ OVERWEIGHT โดยมี Top Pick ของเราคือ BBL และ TISCO
เห็นแบบนี้แล้ว น่าจะเบาใจได้ว่ากำไรกลุ่มแบงก์โค้ง 2 ปีนี้ ก็ยังไปได้สวย และโบรกเกอร์ก็ยังคงแนะนำให้ลงทุน เพราะมองแนวโน้มการตั้งสำรองลดลง อีกทั้งล่าสุด แบงก์ชาติก็เพิ่งออก 4 มาตรการ เพื่อปรับการดำเนินของแบงก์พาณิชย์ ตลอดจนการช่วยเหลือลูกหนี้
ประกอบด้วย 1. ยกเลิกเพดานจ่ายปันผลแบงก์พาณิชย์ 2. ให้แบงก์พาณิชย์ปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF กลับมาเป็น 0.46% ตั้งแต่ต้นปี 66 3. คงมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 66และ 4. คงอัตราผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% ถึงสิ้นปี 66 และ 8% ถึงสิ้นปี 67
ก็ยังพอหายใจ หายคอกันได้โล่งขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้