efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

วิบากกรรม เศรษฐกิจตุรกี

วิบากกรรม เศรษฐกิจตุรกี

ในเช้าอันเงียบสงบเมื่อ 3 วันก่อนหน้าที่ประเทศตุรกี ขณะที่คนกำลังนอนหลับไหล กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แม็กนิจูด และร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่ปี 2482 กลายเป็นฝันร้ายของชาวเติร์ก ซึ่งล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตทะลุ 20,000 รายไปแล้ว เมื่อรวมกับประเทศซีเรีย ก็ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

เรียกได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตุรกี ทั้งๆที่ประเทศกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว และกำลังพยายามอย่างหนักที่จะลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ  และดูเหมือนจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีแล้วด้วยซ้ำ เพราะช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง โดยเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เงินเฟ้อได้ลดลงมาเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 57.7% และต่ำที่สุดนับตั้งแต่ก.พ. 2565

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นมาสู่ 99.3 ในเดือนเดียวกัน สูงที่สุดตั้งแต่ม.ค. ปี 65 หลังจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคการผลิต และภาคการก่อสร้างฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจของตุรกี น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เรื่อยๆหากไม่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เพราะบ้านเมืองเมือง ถูกทำลาย เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ระบบโครงสร้างพื้นฐานของชีวิต เช่นก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำประปา หยุดชะงักทั้งหมดเนื่องจากการก่อสร้างฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแรงขึ้นอีกครั้ง กดดันให้เศรษฐกิจตุรกีต้องกลับไปนับหนึ่งอีกครั้ง จากที่ปัจจุบันก็กำลังเผชิญภาวะถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เรียกว่าเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งเปราะบางหนักเข้าไปอีกหลังจากเหตุแผ่นดินไหว

 

ด้านดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ให้ความเห็นผ่านรายการ World Watcher จับตาประเด็นโลก เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่า ตุรกีถือเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และที่ผ่านมาก็เจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก หรือ Black Swan มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ การเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะ และโควิด-19

 

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของตุรกีหลังจากนี้ จึงน่าจับตามองที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่ง หลังจากได้คะแนนเสียงจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2542 มีความพยายามที่จะกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเข้าไว้ โดยมีความเชื่อว่า ดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของทุกอย่าง ยิ่งปล่อยให้สูงขึ้น เงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นผลจากการดำเนินการนั้นเท่าไหร่ หากยังไม่เปลี่ยนนโยบาย หรือเปลี่ยนผู้นำใหม่ เศรษฐกิจตุรกีก็อาจดำดิ่งกว่านี้ การลงทุนจากต่างประเทศอาจจะหดหาย การท่องเที่ยวอาจจะทรุด

 

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ปีนี้ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 20 ปี อาจจะเผชิญกับการเลือกตั้งที่ยากลำบากที่สุด

 

นอกจากนี้ ด้านนัยต่อเศรษฐกิจโลก ดร. ปิยศักดิ์ ชี้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับความสัมพันธ์ของรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตุรกีเป็นกาวใจร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เชื่อมทั้งสองประเทศไว้ช่วยแก้ไขเรื่องวิกฤตอาหารโลก กับปัญหาการส่งออกธัญพืชของยูเครนในทะเลดำไปยังตลาดโลก

 

และถ้าตุรกีมีปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องกลับมาแก้ไขฟื้นฟูประเทศ แน่นอนตุรกีอาจจจะไม่หันมาเป็๋นกาวใจได้อีกครั้ง ท่ามกลางสงครามอันยืดเยื้อและแย่ลงนี้ อาจจะต้องจับตาวิกฤตอาหารโลกอีกครั้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ดังนั้นนอกจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตัวเองแล้ว แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะสะเทือนถึงเศรษฐกิจโลกด้วย







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh