efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

หุ้นไทยไปไมถึงฝั่งฝัน

หุ้นไทยไปไมถึงฝั่งฝัน

  
ในที่สุด SET Index ก็ไปไม่รอด เพราะหลุดระดับ 1,500 จุดจนได้ หลังจากเจียนไป เจียนอยู่ มาซักพัก แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงขายของนักลงทุนไปได้ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ขายสุทธิไปแล้ว 1.58 แสนล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน 


                           
ทำให้ SET Index ตอนนี้ร่วงไปแล้ว 11% หรือ 186.52 จุด หากนับจากระดับปิดปี 2565 ที่ 1668.66 จุด มาอยู่ที่ 1,482.14 จุด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องถือเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ เมื่อเทียบกับ SET  ปิดมิ.ย.66  ที่ 1503.10 จุด และปิดเมื่อ ส.ค.66 ที่  1565.94 จุด 


                            
สรุปภาพรวมตลาดหุ้น หากนับ YTD ( ปิด 30 ธ.ค.65-28 ก.ย.66) ลดลง 186.52 จุด หรือ - 11.18%  ส่วนไตรมาส 3/66  ลดลง  20.96 จุด หรือ - 1.39%  และเดือน ก.ย.66  ลดลง 83.8 จุด หรือ - 5.35%  (เป็นการลงรายเดือนที่มากสุดของปี) 


                           
ขณะที่แรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาตินั้น  YTD (1 ม.ค. - 28 ก.ย. 66) ขายสุทธิ 1.58 แสนลบ.  ไตรมาส 3/66 ขาย 5 หมื่นลบ. และเดือน ก.ย.66  ขาย 2.3 หมื่นลบ.  (- ส.ค. ขาย 1.48 หมื่นลบ. -ก.ค. ขาย 1.26 หมื่นลบ.  )


                            
ต้องบอกว่าหลังเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีนี้ ตลาดหุ้นบ้านเราก็ผันผวนอย่างต่อเนื่อง  ทั้งจากปัจจัยต่างประเทศ และ ในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง เพราะตั้งแต่หลังการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งใช้เวลาถึง 4 เดือนที่เราๆ ท่านๆ ก็เห็นว่า SET Index แกว่งตัวขึ้นๆ ลงๆ แต่ค่อนไปทางขาลงมาโดยตลอด จนมาถึงช่วงปลายเดือนกันยายน ที่ SET ต้านทานแรงขายไม่ไหว จนหลุด 1,500 จุด  

                          
                           
ส่วนสาเหตุหลักๆที่ SETถูกกดดันให้ลงต่อ ก็มาจากการชะลอการลงทุน และการเทขายเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งก่อนและหลังผลประชุมเฟดที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50 ในการประชุมที่ผ่านมา และอีกประเด็นก็คือ Fund flow ไหลออก สอดรับกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุระดับ 36 บาท ไปแล้ว และล่าสุดก็มีเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. เมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) ที่ผ่านมาอีก ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ SET Index ทั้งหมด 


                            
ขณะเดียวกัน โบรกเกอร์ บางแห่งประเมินว่า ตลาดยังมีปัจจัย Overhang จากเรื่องแหล่งเงินทุนของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และความกังวลเกี่ยวกับการออกนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศอ่อนแอลง ระดับหนี้ของรัฐบาลจะสูงขึ้น


                     

สำหรับกลยุทธ์ การลงทุนในเดือน ต.ค. ก็ต้องลุ้นว่า ตลาดฯ จะสามารถกลับไปยืนเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้่งหรือไม่ ซึ่้งกลยุทธ์การลงทุนนั้น ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า ยังคงมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรในช่วง ครึ่งหลัง 66 - ปี 67  ที่สดใสและระดับราคาที่น่าสนใจ โดยยังคาดเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นใน 4Q23-2024 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ประกอบกับธปท.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 67 เป็น +4.4% y-y 


                          
นอกจากนี้คาดเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นในปี 67 จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้นจาก 1) ฤดูการท่องเที่ยวที่ดีที่กำลังจะมาถึง  2) การฟื้นตัวในด้านการส่งออก และ 3) ช่องว่างที่ลดลงระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และ กนง. ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งเสริมให้กระแสเงินทุนต่างประเทศไหลกลับ โดยคงเป้า SET ในช่วงกลางปี 67 ที่ 1,650







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh