จับตา BANK RUN รอบนี้ ก่อวิกฤติครั้งใหญ่รอบใหม่ ??
ช่วงนี้เราคงจะได้ยินคำว่า "BANK RUN" บ่อยเป็นพิเศษ หลังจากโลกการเงินต้องเผชิญการล่มสลายอย่างกะทันหันของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และธนาคาร Signature ของสหรัฐอเมริกา จนส่งผลให้ตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาดหุ้น และหุ้นแบงก์พาณิชย์ ที่แพนิคกันว่าเมื่อแบงก์ 2 แห่งปิดไปแล้ว อาจมีแบงก์ล้มเป็นโดมิโนตามมา
จริงๆ แล้ว BANK RUN นั้นนักลงทุนที่คลุกคลีอยู่ในตลาดฯ มานานแล้ว น่าจะทราบกันดี เพราะคำว่า "วิ่งไปแบงก์" ง่ายๆ เพียงเท่านี้ แต่ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายเลย เพราะความหมายก็คือ การวิ่งไปเอาเงินออก และเป็นการเอาเงินออกแบบไม่ธรรมดาจนทำให้แบงก์ล้มละลาย และเหตุการณ์ที่เกิดกับ SVB และ Signature Bank ก็แสดงให้เห็นชัดเจน
ยิ่งประชาชน หรือผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่น ก็ยิ่งทำให้แบงก์รัน เกิดได้ง่าย และเร็วขึ้น โดยปัญหาในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก SVB รับฝากเงินและปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน venture capital บริษัท fintech และบริษัท start-up เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยาก หรือมีต้นทุนสูงขึ้นจึงต้องถอนเงินฝาก เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมาก เพื่อเได้ และลุกลามไปเกิดกับ Signature Bank เป็นรายต่อไป และถือเป็นวิกฤติการเงินครั้งสำคัญอีกครั้งตั้งแต่ปี 2551 หรือในรอบ 15 ปี
อย่างไรดี รัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างไวในการแก้ปัญหา และควบคุมสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ลุกลามกว่านี้ โดยล่าสุด ประธานาธิบดี ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็ประกาศให้คำมั่นอีกครั้งว่าจะดำเนินทุกวิถีทาง เพื่อความปลอดภัยของระบบธนาคารสหรัฐฯ หลังก่อนหน้าประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินช่วยพยุงธนาคารทั้ง 2 แห่งให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมไปแล้ว
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนอันตรายให้กับเศรษฐกิจ และการเงินโลกอีกครั้ง ว่า นอกจากจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะวิกฤติโควิดที่มีต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้วนั้น ยังจะมีปัญหาแบงก์รันมาให้ตามแก้สมทบเข้าไปอีก ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยากขึ้น หากสถาบันการเงินล้มเป็นโดมิโน
ซึ่งหลังจากนี้ จะเป็นสิ่งที่รัฐบาล และธนาคารกลางทั่วโลกต้องกลับไปโฟกัส ในเรื่องนี้อีกครั้ง ไม่ใช่เพียงมุ่งแต่แก้เรื่องของเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว และเราน่าจะได้เห็นในการประชุมเฟดรอบนี้ด้วยว่าพวกเขาจะยังคงยึดมั่น ถือมั่น เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือว่าจะชะลอ เพื่อให้สถานการณ์ของแบงก์ในประเทศ บรรเทาลง เพื่อให้ดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง
วิกฤตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งวิกฤติการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง หลังจากเราได้เห็นมาหลายต่อครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตซับไพร์ม หรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่ทำให้ Lehman Brothers หนึ่งในธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล้มละลาย
The European Crisis 2010 วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ที่เกิดขึ้นในสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศได้แก่ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส โดยประเทศเหล่านี้ไม่สามารถใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อไว้
ส่วนวิกฤต SVB แม้อาจจะไม่ใหญ่เท่า 2 วิกฤต ที่ยกตัวอย่างมา แต่อย่างน้อยก็ทำให้คลื่นใต้น้ำ เริ่มกระเพื่อมแล้ว และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คลื่นใต้น้ำก่อตัว สร้างความรุนแรงในอนาคตอันใกล้นี้ แล้วยิ่งล่าสุดมีเรื่อง "เครดิต สวิส (Credit suisses)" เข้ามาเสริมอีก งานนี้ สถานการณ์กลุ่มแบงก์ ไม่น่าจะจบกันง่ายๆ แน่นอน