efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

เลือกพรรคที่ชอบ ... ลุ้นนายกฯ ที่ใช่

เลือกพรรคที่ชอบ ... ลุ้นนายกฯ ที่ใช่

 

ในที่สุดก็รู้กันไปเรียบร้อยแล้ว หลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จับสลากเบอร์ ส.ส. และพรรคการเมือง ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งจะใช้เป็นเบอร์เพื่อลงคะแนนในวันเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งครั้งนี้ใครจะเข้าคูหาเลือกตั้งคงต้องดูเบอร์กันให้ดีๆ เอาให้ชัวร์ก่อนกา เพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือก และบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ จะแยกเป็นคนละเบอร์ ไม่ใช่เบอร์เดียวกันเหมือนเลือกตั้งครั้งก่อน 


                             
ซึ่งต้องบอกว่าการกำหนดเบอร์ คนละเบอร์แบบนี้ อาจจะสร้างความสับสนในการลงคะแนนได้ไม่มากก็น้อย แถมรอบนี้บรรดาเบอร์เลือกตั้งของแต่พรรค หรือเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังเป็นเลข 2 หลักอีกด้วย เพราะฉะนั้นจะเลือกพรรคที่ชอบ หรือเลือกเบอร์ที่ใช่ ก่อนอื่นเลยต้องจำเบอร์ให้ได้ก่อน

 
                              
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ อะไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ทุกฝ่ายต่างก็จับตามองว่า ว่าที่นายกฯ คนใหม่ จะเป็นใคร มาจากพรรคไหน จะยังเป็นคนเก่า คนเดิม หรือว่าเป็นคนใหม่ ซึ่งตอนนี้แต่ละพรรคก็ได้เปิดตัวแคนดิเดตครบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คน คงมีนายกฯ ในใจกันแล้ว


                              
เพียงแต่คะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น คะแนนปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียวคงไม่พอสำหรับนายกฯ ที่ใช่ของใครหลายๆ คน เพราะต้องดูคะแนนเสียง ส.ส. แบบแบ่งเขต และตัวแปรสำคัญก็คือ ส.ว. โดยแบ่งเป็น ส.ส. 500 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง 


                              
หากยังจำกันได้ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อปีพ.ศ. 2562 ก็เป็นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยผู้ที่จะได้รับเลือก ต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ (375 เสียง) ซึ่งตอนนั้น ที่ประชุมเสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อชิงตำแหน่ง และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 


                              
แต่สำหรับปีนี้ เชื่อว่าการลงคะแนนเลือกนายกฯ น่าจะร้อนแรงกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อดูจากรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคที่ประกาศออก รวมไปถึงบรรดานโยบายหลักๆ ที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่พ้นเรื่องของประชานิยม เช่น  นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ  เพิ่มเงินเดือน  เพิ่มค่ารักษาพยาบาล และโครงการต่อยอดนโยบายเดิมๆ และอีกสารพัดแจกฟรีหลากหลายโครงการ ที่ล้วนแต่เอาใจประชาชนเป็นหลัก ก็อยู่ที่ว่าใครจะถูกใจนโยบายของใคร 


                     
เพียงแต่ที่แน่ๆ ต้องเผื่อใจด้วยว่า เลือกพรรคที่เราชอบแล้ว แต่ก็ยังต้องลุ้นนายกฯ ที่ใช่ด้วย อย่างที่บางพรรคบอกไว้ หากไม่ได้แลนด์สไลด์ ก็ยากที่หวัง ...เพราะการเมืองไทยที่ดูเหมือนคาดเดาได้ง่าย แต่เอาเข้าจริง ก็มีพลิกโผในตอนสุดท้ายได้เหมือนกัน อะไรที่ว่าแน่ อาจไม่แน่ในท้ายที่สุด







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh