efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

ยังไม่หมดรอบ "ดอกเบี้ย" ขาขึ้น

ยังไม่หมดรอบ

"อั้นไม่ไหว" จริงๆ สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% จากที่เคยปรับไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 1.50% 

 

โดยกนง.ให้เหตุผลแม้เงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มลดลงตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก แต่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ เลยทำให้ กนง. จะเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

 

การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ น่าจะยังไม่ใช่รอบสุดท้าย เพราะบรรดากูรู หลายสำนักฟันธงทันทีว่าจะมีครั้งต่อไปแน่นอน และเราอาจจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2%

 

โดย SCB EIC คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 2% เช่นเดียวกับ Krungthai COMPASS ที่มองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้กนง. มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม ครั้งละ 0.25% จากนั้นคาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

 

ซึ่งการส่งผ่านนโยบายครั้งนี้ทำให้ ธนาคารรัฐ และเอกชน เริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วหลายแห่ง นำร่องโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ปรบขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ซึ่งถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี เลยทีเดียว ตามมาด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรการสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125 - 0.25%

 

ส่วนเอกชน ก็มีธนาคารกรุงเทพ (BBL) นำร่องขึ้นดอกเบี้ยกู้ 0.15-0.20% และดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.25%

 

หลังจากนี้ อีกหลายๆแบงก์ก็คงพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยตามๆ กันมา ใครมีหนี้สิน ใครกู้เงินซื้อบ้านไว้ จะต้องทำใจรับกับต้นทุนการกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะคาดว่าครึ่งปีแรกนี้ เทรนด์ดอกเบี้ยน่าจะเป็นขาขึ้น จนกว่าเงินเฟ้อจะนิ่งกว่านี้ รวมถึงการติดตามทิศทางดอกเบี้ยจากเฟดด้วย เพราะคาดว่าการประชุมรอบแรกของปีนี้วันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. นี้ จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% อยู่ หลังจากนั้นถึงจะเริ่มชะลอลง ตามทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะถดถอย นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้นั้น ก็อาจจะทำให้การใช้นโยบายการเงินมีความระมัดระวังมากขึ้นเหมือนกัน เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกินในอนาคตยังมีอยู่ เพียงแต่ในฟากฝั่งของประเทศไทย อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะการท่องเที่ยวยังเป็นตัวช่วยได้ดี โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน จะมีก็แต่การส่งออก ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของเราถดถอย

 

อยู่ให้ได้ เอาตัวรอดให้เป็น ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh