ได้เวลาปิดหรือยัง ??
หนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะลงไป 30% แล้ว พอๆกับหุ้นบ้านเราที่เผลอแป๊ปเดียวก็ลงแรงในระดับเดียวกัน หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายไปเกือบจะทั่วโลก ทั้งฝั่งยุโรป อเมริกา ที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปอย่างอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ที่ตัวเลขสูงขึ้นทั้งจำนวนคนติดเชื้อ และคนเสียชีวิต
อย่างล่าสุดอิตาลี ขนาดปิดประเทศไปแล้ว แต่ตัวเลขยอดผู้เสียชีวตกลับแซงหน้าประเทศต้นตอการระบาดอย่างจีนไปเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดนายกรัฐมนตรีอิตาลี ก็เตรียมจะขยายเวลาปิดประเทศเพิ่มจากเดิมที่จะครบกำหนดวันที่ 3 เม.ย. นี้ เพราะดูยังไงแล้วอิตาลีไม่น่าจะเอาอยู่ และล่าสุดหลายๆ ประเทศต่างก็พร้อมใจกันชัตดาวน์ จำกัดการเข้าของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อปิดกั้นการระบาด
ขณะที่การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางธนาคารกลางแต่ละประเทศ ต่างก็งัดมาตรการเร่งด่วน อัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องในระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งเฟด อีซีบี บีโอเจ รวมไปถึงธนาคารกลางของอังกฤษ และไม่เว้นแม่แต่แบงก์ชาติของไทย ที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มี.ค. ที่จะถึงนี้
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยของเรานั้น ต้องยอมรับโดยดุษฏีแล้วว่าเราคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ได้ หลังจากผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากกลุ่มที่ไปสนามมวยลุมพินี เมื่อตอนต้นเดือนที่กลายเป็น Super Spreader จนเกิดการแพร่กระจายไปในหลายจังหวัด หลายกลุ่ม จนล่าสัดรัฐบาลเริ่ออกมาตรการแรงขั้น ทั้งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผับ บาร์ โรงหนัง สนามกีฬา สนามมวยฯลฯ ขณะที่ในสนามบินก็เข้มข้นคัดกรองผู้โดยสารจากต่างประเทศทุกประเทศ ต้องมีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพจากก่อนหน้าที่จำกัดแค่ประเทศกลุ่มเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งสัปดาห์หลายภาคส่วนต่างมีความเห็นค่อนข้างคล้ายคลึงกันว่ารัฐบาลควรจะใช้ยาแรง ในการป้องกันการแพร่กระจาย โดยเฉพาะการ Lockdown ประเทศ ซึ่งก็คือการยุติกิจกรรมต่างๆในประเทศ รวมถึงการเดินทางของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะการดำเนินการมาตรการของรัฐบาลในตอนนี้ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น
จะว่าไปแล้ว มาตรการเจ็บแต่จบ รัฐบาลควรจะเริ่มทำได้แล้ว เพราะหากรีรอจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่รัฐบาลกลัวนัก กลัวหนา ว่าจะย่ำแย่อาจจะทรุดหนักจนฟื้นฟูลำบาก ขระที่หากท่านยอม Lockdown ไปเลย 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็เดินหน้ากลับสู่กระบวนการฟื้นฟูประเทศ และเศรษฐกิจ ดังนั้นควรจะถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะปิดประเทศ เหมือนที่หลายๆประเทศทำอยู่ ถ้าไม่กล้าทำแล้วเมื่อไหร่จะจบ
ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีในปีนี้อาจต้องติดลบ แต่ก็ถือเป็นภาวะจำยอม เพราะจะว่าไปแล้วไม่เฉพาะเศรษฐกิจไทย แต่กระทบไปหมดทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
และขณะที่กำลังเขียนบทบรรณาธิการนี้อยู่นั้น บล.เอเซียพลัส ก็เพิ่งออกบทวิจัย หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เป็นรอบที่ 3 โดยประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบถึง 1.4% จากก่อนหน้าที่คาดโต 2.8% และ 1.6% เรียกว่าหั่นลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ เลยทีเดียว และเอเซียพลัสยังได้เปรียบเทียบตัวเลขการหั่นตัวเลขจีดีพีของแต่ละองค์กรมาให้เปรียบเทียบกันด้วยว่า ตามตารางที่เอามาให้ดูข้างล่างนี้
สถาบัน |
เดิม(ก.พ.63) |
ใหม่ (มี.ค.63) |
สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (สศค.) |
2.80% |
2.80% |
สภาพัฒน์ (สศช.) |
2.00% |
2.00% |
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย |
2.80% |
1.10% |
สภาอุตสาหกรรม (สอท.) |
2.30% |
1.80% |
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ (EIC) |
1.80% |
-0.30% |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (Kresesrch) |
2.70% |
0.50% |
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) |
1.90% |
0.80% |
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และกลยุทธ์ทิสโก้ |
1.70% |
0.80% |
IMF |
3.00% |
3.00% |
World Bank |
2.70% |
2.70% |
ASP |
2.80% |
1.40% |
เห็นแบบนี้ก็คงไม่ต้องหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นได้จากหน้ามือเป็นหลังมือหรือไม่ แต่เอาเป็นว่าปีนี้ถ้าจีดีพีไม่ติดลบได้ก็ถือว่าโชคดีสุดๆ แล้ว และก็ภาวนาพร้อมกับหวังว่าโควิดจะไม่ยืดเยื้อยาวนานเป็นปี อย่างน้อยผ่านพ้นครึ่งปีแรกไปได้ก็น่าจะพอใจชื้นได้บ้าง