efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

เปิดทางต่างชาติถือครองที่ดิน-คอนโดฯ เพิ่ม ดีจริงใช่ไหม

เปิดทางต่างชาติถือครองที่ดิน-คอนโดฯ เพิ่ม ดีจริงใช่ไหม

 

เป็นกระแสร้อนแรงไม่น้อย หลังรัฐบาลมีแนวคิดเปิดทางให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินเพิ่มเป็น  99 ปี ถือครองคอนโดฯ เป็น 75%  จนทำให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องออกมายืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ได้เป็นการขายชาติอย่างที่มีการกล่าวหาอย่างแน่นอน  และย้ำชัดเจนว่าเป็นมาตรการที่กระทรวงการคลัง เสนอเพื่อเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ


                          
อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ไม่ได้ถูกนำเข้า ครม. หรือคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคาร( 25 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ายังรอความชัดเจน เพราะรัฐบาลเองก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ด้วยว่าระยะเวลาที่ขยายให้ต่างชาติ ตามที่ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษานั้นดีจริงหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ 


                         
นอกจากเรื่องเอื้อต่างชาติแล้ว ประเด็นความเกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดิมของนายกรัฐมนตรี ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกจับตามอง ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่รัฐบาล และนายกฯต้องเคลียร์ประเด็นเหล่านี้ ไม่ให้คาใจประชาชน 


                           
ล่าสุด 18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ จะออกแถลงการณ์ สนับสนุนมาตรการนี้ เพราะเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนและจะเป็นการวางโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดิน  และจัดระเบียบควบคุมการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต โปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ


                           
ส่วนข้อกังวลในเรื่องที่ชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินทางอ้อม หรือกระทบต่อสิทธิของคนไทยในการอยู่อาศัยในอาคารชุด ก็อาจออกระเบียบเพิ่มเติมในด้านต่างๆ ดังนี้ 

 

1.การสละสิทธิการโหวตของชาวต่างชาติ ในจำนวนที่เกินกว่า 49% 

 

2.การจำกัดจำนวนที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ สำหรับโครงการที่ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ เกินกว่า 49% ไม่เกิน 75% เพื่อมิให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อม  หรือแม้แต่จัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติกรรม และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายปีในอัตราที่สูงกว่าคนไทย 


                           
อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถไฟเขียวออกกฎหมายได้ทันที เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การแก้กฎหมายต้องพิจารณาข้อดี ข้อเสียให้รอบคอบก่อนจะประกาศใช้  ข้อดีอาจมีมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในประเทศ 


                            
รัฐบาล มาแล้วก็ไป บริหารดีก็อยู่ต่อ บริหารไม่เป็นที่น่าพอใจ เลือกตั้งครั้งใหม่ก็แค่สอบตก แต่กฎหมายพอออกมาแล้ว มีผลบังคับใช้ ประชาชน คนไทย ที่ได้รับผลกระทบจะอยู่กับมันไปนานกว่านี้ ต่อให้กฎหมายแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอะอะไม่ถูกใจก็จะรื้อกันได้เลยเสียเมื่อไหร่ 


                
 ดังนั้นคิดก่อนตัดสินใจ รอบคอบก่อนจะลงมือทำ ไม่งั้นงานนี้คนที่เสียประโยชน์ ก็คือประชาชนในประเทศของพวกท่านนั่นเอง 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh