efinancethai

บทบรรณาธิการ

โดย
พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

: กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

[email protected]

"ผมไม่ดื้อดึง" .... ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าว

 

รัฐบาลกับแบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำงานกันได้หรือไม่? 

 

หลังจาก 2 หน่วยงาน ช่วงนี้่มีประเด็นค้างคาใจ ทั้งเรื่องดอกเบี้ย เรื่องเศรษฐกิจ ต่อเนื่องกันไม่หยุด โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย เพราะหลังจากสภาพัฒน์ออกมาหั่นเป้าจีดีพีลง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจปี66 เติบโตเพียง 1.9% ก็เลยกลายเป็นเรื่องให้ฟากฝั่งรัฐบาลโดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ออกตัวชัดว่าแบงก์ชาติควรจะลดดอกเบี้ย และถึงขนาดเสนอว่าแบงก์ชาติควรเรียกประชุม กนง. นัดพิเศษ  เพราะกว่าจะรอให้ถึงการประชุมเดือนเมษายนจะช้าและไม่ทันการณ์ 


                    

แต่แบงก์ชาติ ก็คือแบงก์ชาติ ที่ยืนยันว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ตอบโจทย์ทุกสิ่ง และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ทันที ล่าสุด ผู้ว่าแบงก์ชาติ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ"  ยืนยันชัดเจนว่าการเปลี่ยนนโยบายการเงินไม่ใช่ทางออก จีดีพีที่โตต่ำเป็นผลมาจากอุปสรรคทางการเมืองที่เกิดขึ้น จนทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ออกมาล่าช้า


                    

“แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือกระตุ้นให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้เร็วขึ้น ทั้งหมดนี้คือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโตช้า” เรียกว่าชัดเจนแจ่มแจ้ง ในมุมมองของ ธปท. ลดดอกเบี้ยก็ไม่ช่วยอะไร

 


เท่านั้นยังไม่พอ อีก 1 เหตุผลที่ ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ  ก็คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและไม่ใช่สัดส่วนน้อยๆ ที่จะมองข้ามได้ด้วย เพราะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากมาเป็นเวลานาน จูงใจให้คนไปกู้ยืมเงิน ดังนั้นหากลดดอกเบี้ยอีกจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ในแง่การพยายามควบคุมหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

 


แค่นี้ก็รู้แล้วว่า มุมมองรัฐบาล มุมมองแบงก์ชาติ สวนทางกัน และแม้ว่าในการประชุม กนง. เดือนเมษายนนี้ แบงก์ชาติจะยอมลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่รัฐบาลก็คงมองว่าอาจจะช้าไปแล้ว เรียกได้ว่าไม่มีอะไรได้อย่างใจรัฐบาลตอนนี้

 

 
แต่อย่างไรก็ดี ในระยะเวลา 2 เดือนจากนี้ เชื่อว่าแบงก์ชาติก็คงไม่ได้นิ่งนอนใจแน่ๆ เพราะต่อให้ ผู้ว่าฯ จะบอกว่า เศรษฐกิจยังฟื้นตัวอ่อนแอ แต่ก็ยังฟื้นตัวได้ และยังฟื้นต่อเนื่อง ไม่ได้วิกฤตอย่างที่อีกฝั่งว่าไว้ เพียงแต่หากเศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ครบวงจร ก็มีความจำเป็นต้องใช้ทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน ควบคู่กันไป และเมื่องบประมาณรายจ่าย สามารถใช้ได้แล้วในช่วงเดือนเมษายน เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็น่าจะเริ่มเดินเครื่องได้เต็มกำลัง 

 

"ผมไม่ได้ดื้อดึง" ......  ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวไว้







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh