รู้จักกับ ‘Bitcoin Halving’ เคานต์ดาวน์ 'แห่งความขาดแคลน' กับสถานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ!
ปรากฎการณ์ “เฉพาะตัว” ของบิตคอยน์ที่ไม่เกี่ยวกับปัจจัยภายนอกใดๆ ไม่ว่าจะถึงขั้นเกิดสงครามโลกหรือการปรับดอกเบี้ยของสหรัฐ ฯลฯ ก็คือ ในทุกๆ 4 ปี “ปริมาณการออกเหรียญจะลดลงครึ่งหนึ่ง”
เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Bitcoin Halving” และ “ครั้งที่ 4” จะเกิดขึ้นราวเดือน พ.ค.ปี 2567 หรืออีก 2 ปีนับจากนี้!
การเกิดใหม่ที่ลดลงครึ่งหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในระบบบิตคอยน์แล้วตั้งแต่แรก อาจจะลองนึกภาพถึงแบงก์ชาติที่จะกำหนด “นโยบายการเงิน” เพื่อดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพด้วยการควบคุมเงินเฟ้อ การทบทวนจะเกิดขึ้นปีละ 7-8 ครั้ง และส่งสัญญาณผ่านกลไก “การปรับอัตราดอกเบี้ย” ขึ้น /ลง /คงเดิม
“Bitcoin Halving” ก็เปรียบได้กับกลไกหนึ่งของ “นโยบายการเงิน” ในระบบบิตคอยน์ (ซึ่งบิตคอยน์ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ใครๆ ในโลกก็ใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร) ที่กำหนดไว้โดยชายผู้ใช้นามแฝงว่า “ซาโตชิ นากาโมโตะ”(เทียบได้กับผู้ว่าการแบงก์ชาตินั่นเอง) ตั้งแต่แรกกำเนิด BTC หรือเมื่อ 13 ปีก่อนนั่นเอง
“นโยบายการเงินบิตคอยน์” ถูกกำหนดไว้ว่าจะมีจำกัดเพียง 21 ล้าน BTC และมันไม่ได้ถูกปล่อยออกมาทั้งหมดทันทีในวันแรกแต่จะค่อยๆ ปล่อยเหรียญออกมาจนกว่าจะครบซึ่งจะมีเหล่านักขุด (Miners) ใช้อุปกรณ์เครื่องขุดที่มีพลังประมวลผลแรงๆ แข่งกันแก้สมการ ใครชนะจะได้เป็นคนยืนยันธุรกรรมแลกกับได้ค่าธรรมเนียมบวกกับเหรียญที่ออกใหม่ไป
การเกิดใหม่ของบิตคอยน์จะมีในทุกๆ 10 นาทีโดยประมาณ และมันจะมีกลไกพิเศษอีกอย่างที่เรียกว่า “ค่าความยาก” ในการขุดหรือเรียกสั้นๆ ว่า “Difficulty” โดยความยาก/ง่ายในการขุดบล็อกใหม่จะปรับตามค่าเฉลี่ยของ 2,016 บล็อกก่อนหน้า (ซึ่งจะกินเวลา 2 สัปดาห์) เพื่อที่จะรักษาระยะเวลาของการเกิดใหม่ให้อยู่ในราวๆ 10 นาทีไม่ช้าหรือเร็วไปกว่านั้น
ทุก 10 นาทีจะมีบล็อกเกิดขึ้น 1 บล็อก มีเหรียญออกใหม่ 6.25 BTC และในทุกๆ 210,000 บล็อก (ซึ่งจะกินเวลาราว 4 ปี) จะเกิดปรากฎการณ์ “ลดครึ่ง” หรือ Halving เพื่อให้เห็นภาพอย่างปัจจุบันทุก 10 นาทีจะมีเหรียญเกิดใหม่ 6.25 BTC ฉะนั้นเมื่อเกิด Halving ครั้งถัดไปมันจะลดเหลือ 3.125 BTC เช่นกันเมื่อถึง Halving ครั้งถัดไปอีกก็จะลดเหลือ 1.562 BTC และเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ…
บิตคอยน์ผ่าน Halving มา 3 ครั้งแล้ว โดยครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2563 ถ้านับเวลาไปอีก 4 ปีก็จะตกอยู่ที่ช่วงเดือน พ.ค.ปี 2567 หรืออีก 2 ปีเศษนับจากนี้ในการ Halving ครั้งที่ 4 เท่ากับว่าในปีพ.ศ.2683 บิตคอยน์จะออกมาครบ 21 ล้านเหรียญ หรือกินเวลาไปอีก 118 ปี!
“ปัจจุบัน มีปริมาณบิตคอยน์ในระบบ 18.97 ล้าน (ณ มี.ค.2022) หรือออกมา 90% แล้วนั่นหมายความว่าเหลือบิตคอยน์อีกเพียง 2.02 ล้าน BTC เท่านั้น”
นอกจากนี้ คำว่าปริมาณบิตคอยน์ในระบบที่ 18.97 ล้าน BTC ก็ไม่ได้หมายความว่ามันอยู่ในกระดานเทรดทั้งหมด แต่ทว่าอยู่ข้างนอกด้วยกระจายไปอยู่ในมือของทั้งนักลงทุนสถาบัน ,รัฐบาล (อย่างน้อยก็เอลซัลวาดอร์) , บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงรายย่อยที่ถือครองระยะยาว นี่ยังไม่นับกับส่วนที่หายไปพร้อมๆ กับการหลงลืมรหัสส่วนตัว (Private Key) นั่นแปลว่าที่มีหมุนเวียนให้ซื้อขายกันในเว็บเทรดทั่วโลก หรือซื้อขายกันอยู่นอกตลาด มีไม่ถึง 18.97 ล้าน BTC
และด้วยความที่เหรียญมันมีปริมาณจำกัดมันจึงช่วยป้องกันการเกิดเงินเฟ้อได้ อัตราเงินเฟ้อของบิตคอยน์จะค่อยๆ ลดลงในระยะยาว ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.73% ซึ่งลดลงจากก่อนเหตุการณ์ Halving ครั้งที่ 3 อัตราเงินเฟ้อเกือบ 4% เรียกได้ว่ายิ่งใกล้จะขุดออกมาครบเท่าไหร่เงินเฟ้อจะยิ่งลดลง
การเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ ก็เป็นเหตุผลหลักๆ ที่บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นเริ่มเปลี่ยนจากการถือครองเงินสดในงบการเงิน (ที่นับวันเงินสดจะเสื่อมค่าจากเงินเฟ้อ เพราะผลิตเพิ่มได้ไม่จำกัด) มาเป็นการเก็บรักษาบิตคอยน์แทน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้มาก่อนกาลในตลาดหุ้นแนสแดกอย่าง MicroStrategy ของนายไมเคิล เซย์เลอร์ และ Tesla ของนายอีลอน มัสก์ ส่วนในตลาดหุ้นบ้านเรามีบริษัทเดียวคือ BROOK ที่เข้าลงทุนโดยตรงใน BTC
ในแง่ของราคา เมื่อลองพิจารณาจากสถิติย้อนหลังของการเกิด Bitcoin Halving ทั้งหมด 3 ครั้งเราจะพบว่า 365 วันก่อน Halving และ 365 วันหลัง Halving ราคาบิตคอยน์นั้นปรับขึ้น แต่ทั้ง 3 ครั้งเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นหลัง Halving จะสูงกว่า ซึ่งการ Halving ครั้งล่าสุด (วันที่ 11 พ.ค.2563) พบว่าราคาปรับขึ้น 559% เมื่อผ่านไปครบ 365 วันหรือในวันที่ 11 พ.ค.2564 (จาก 356 วันก่อนเกิด Halving ปรับขึ้นแค่ 17%)
เป็นที่น่าสังเกตว่า Halving ครั้งที่ 3 ผ่านไปครบ 365 วัน บิตคอยน์ยังทำแรลลี่ต่อโดยใช้เวลาอีกประมาณ 180 วัน บันทึกประวัติศาสตร์สูงสุดที่ 69,000 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมนี้คล้ายกับ Halving ครั้งที่สอง (วันที่ 9 ก.ค.59) ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น 284% หลังการลดครึ่งผ่านไป 365 วัน จากนั้นอีกประมาณ 150 วันก็ยังคงไต่ระดับขึ้นไปได้อีก กระทั่งสร้างจุดสูงสุดตลอดกาล (ในขณะนั้น) ที่ 20,000 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2560
อ่านมาถึงตรงนี้…หากนับถอยหลังไปก็เหลือเวลาอีก “2 ปีกว่า” ที่พวกเราจะได้พบกับปรากฎการณ์เฉพาะตัวดังกล่าว “เป็นรอบที่ 4” เราจึงต้องจับตาดูให้ดีว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่! แม้สถิติในอดีตอาจไม่ได้การันตีอนาคตว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอ แต่อย่างน้อย เราจะได้นำไปเป็นข้อมูลพิจารณาประกอบการตัดสินใจใดๆ กับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง
อ้างอิง :
https://www.coindesk.com/learn/2020/03/24/bitcoin-halving-explained/
https://btc.com/stats/diff
https://bitcoinblockhalf.com/
https://chart-studio.plotly.com/~BashCo/5.embed?share_key=ljQVkaTiHXjX2W41UiqzCn
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)