efinancethai

Crypto Verse

สรุป 20 ประเด็นร้อนวงการคริปโท ปี 2564

สรุป 20 ประเด็นร้อนวงการคริปโท ปี 2564

ตลอดปี 2564 มีหลายเหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นในวงการคริปโทเคอร์เรนซี เราคัดมา 20 เรื่อง เพื่อได้เรียนรู้อดีตและเข้าใจปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์อนาคต ขอรวบเรื่องราวส่งท้ายปีฉลูให้กับเพื่อนๆ ทั้งที่เพิ่งเข้ามาศึกษาและที่อยู่กันมานานแล้ว ไปกันเลยค่ะ   

 

1. Bitcoin มีมูลค่า 7 หลักเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

 

ปี2564 เป็นปีที่ Bitcoin เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น หลายคนเข้ามาเริ่มลงทุนก็เพิ่งจะปีนี้ล่ะ โดย Bitcoin มีมูลค่าแตะ 7 หลักเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ต้อนรับปีใหม่ 2564  มาดูสถิติกัน (อ้างอิงจาก Binance)

 

ครั้งที่ 1 ในเดือน ม.ค. = 41,950 ดอลลาร์ต่อ  BTC  (1.25  ล้านบาท)

ครั้งที่ 2 ในเดือน ก.พ. = 58,352 ดอลลาร์ต่อ  BTC  (1.77  ล้านบาท)

ครั้งที่ 3 ในเดือน มี.ค. = 61,844 ดอลลาร์ต่อ  BTC  (1.93  ล้านบาท)

ครั้งที่ 4 ในเดือน เม.ย. = 64,854 ดอลลาร์ต่อ BTC  (2.02  ล้านบาท)

ครั้งที่ 5 ในเดือน ต.ค. = 67,000 ดอลลาร์ต่อ  BTC  (2.22 ล้านบาท)

ครั้งที่ 6 ในเดือน พ.ย. = 69,000 ดอลลาร์ต่อ  BTC  (2.33 ล้านบาท)

 

2. Bitkub ระบบล่ม เซ่นราคา Bitcoin แตะ 1 ล้าน

 

เปิดต้นปี 2564 Bitcoin แตะ 1 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อ่วมที่สุดคงไม่ใช่ใครนอกจาก Bitkub เรียกได้ว่าเจอ "ทุกขลาภ" ลูกค้าก็อยากจะได้แต่หลังบ้านนั้นรับไม่ทัน ร้อนถึง ก.ล.ต.ต้องออกหนังสือเตือน ให้เร่งแก้ไขก่อนที่ลูกค้าจะเดือดไปมากกว่านี้ ซีอีโอท๊อป ถึงขั้นต้องเปิดโรงแรมให้พนักงานนอน เพื่อจะได้ทำงานใกล้ออฟฟิศ ประหยัดเวลาเดินทาง เร่งจัดการอัปเกรดระบบ และสุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ใครที่อยู่ในโมเมนต์นั้นน่าจะจำภาพได้ดี  เดือดดาลมากทั้งราคาเหรียญ ทั้งอารมณ์ลูกค้าที่ใช้บริการเว็บเทรด Bitkub  

 

3. ICO ตัวแรกของประเทศไทย  "สิริฮับ โทเคน" 

 

"สิริฮับโทเคน" ของบริษัท SPV77 คือ ICO ตัวแรกของไทย นับตั้งแต่มี กม.สินทรัพย์ดิจิทัล 2561 และกว่าจะออกมาได้ก็ใช้เวลาหลายปีเนื่องจากเป็น     “ตัวแรก”  ต้องเป็นแบบอย่างให้ตัวอื่นๆ ที่จะออกตามหลัง โดยเฉพาะ ICO ที่มีอสังหาริมทรัพย์หนุน ซึ่ง “สิริฮับ โทเคน” ก็ขายเกลี้ยง ที่แน่ๆ รายใหญ่ก็มากวาดซื้อเองด้วยทั้ง SIRI ทั้ง XPG  แต่พอเข้าเทรดในตลาดรอง (มีที่เดียวคือ ERX) ราคาก็ต่ำจองเฉย พูดง่ายๆ ว่า ซื้อขายกันไม่ถึงโทเคนละ 10 บาท ใครที่ใจร้อนขายออกก่อน ก็ขาดทุนไปตามระเบียบ เว้นแต่จะถือรอรับผลตอบแทนรายไตรมาส 

 

4. ก.ล.ต.ยอมถอย เกณฑ์คัดเกรดนักเทรด 1 ล้าน

 

อิมแพ็คสุดๆ ต่อนักลงทุนในตลาดคริปโท ต้องยกให้ข่าวนี้เลย หลังสำนักงาน ก.ล.ต.ประกาศแนวทางคัดเกรดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้ หนึ่งในนั้นคือต้องมีรายได้รวมต่อปี 1 ล้านบาท นับว่าเป็นข่าวที่สร้างปรากฎการณ์ความสมานสามัคคีของนักลงทุนรายย่อยทั้งประเทศได้เป็นอย่างมาก  และมากจนถึงขนาดที่ว่า ในที่สุดแล้ว ก.ล.ต.ก็ยกเลิกแนวคิดดังกล่าวแต่ปรับเป็นแนวทางอื่นที่เบาลงมา ทำเอานักลงทุนโล่งอกไปตามๆ กัน และเป็นหนึ่งในเฮียริ่งประวัติศาสตร์ที่ ก.ล.ต.ยอมถอย    

 

5. NFT กับนิยามแบบฉบับของไทย     

 

Non-Fungible Token (NFT) ที่เราเข้าใจกันทั่วไปคือ มันเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถทำซ้ำได้ แต่วันดีคืนดีชุมชนคริปโทก็เริ่มงงๆ กันว่า สรุปแล้วจัดว่าเป็นหรือไม่เป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” กันแน่ หลังจากที่แพลตฟอร์ม Coral ของ KBANK ประกาศเปิดตัวและเกิดมีดราม่าตามมา (ก.ล.ต.แจงแพลตฟอร์ม `Coral` ไม่เข้าข่ายธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล) สรุปก็คือ “เป็นได้ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล” ขึ้นอยู่กับ “วัตถุประสงค์” ของ NFT ว่า “มีการกำหนดสิทธิหรือไม่” (หากกำหนดสิทธิแบบ utility token/investment token/หรือใช้เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนก็จะเข้าข่ายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องถูกกำกับ) 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจ NFT Marketplace ที่รองรับ NFT ที่ไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ก็จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับ แต่หาก NFT Marketplace เจ้านั้น รองรับ NFT ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล อันนี้ต้องขอ ก.ล.ต.ก่อน 

 

6. อึ้ง! คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเรื่อง DeFi

 

ปี 2564 เป็นปีทองของโลก DeFi ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ข้อมูลจาก similarweb.com แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการเข้าใช้งาน "Metamask" (วอลเล็ตยอดฮิต) ในเดือนเมษายน 2564 สูงเป็นอันดับ 4 ของโลกหรือ 3.12% รองจาก 3 อันดับแรก คือ สหรัฐ จีน และ ตุรกี ซึ่งอยู่ที่ 15.41% ,7.39% และ 4.12% ตามลำดับ อึ้ง! มากขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า โปรเจกต์ DeFi ชื่อดังอย่าง “pancakeswap” นั้นมีคนไทยใช้งานมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 5.19% เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 8.73% (ล่าสุด พ.ย.ไทยอยู่อันดับ 3)

 

7. Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta จับตาเชื่อมคริปโท 

 

ชื่อใหม่ของบริษัท Facebook คือ “Meta” สะท้อนให้เห็นว่า Zuckerberg ให้ความสำคัญกับ Metaverse และยังได้เปลี่ยนเครื่องหมายยกนิ้วโป้ง ที่สำนักงานใหญ่มาเป็นเครื่องหมายอินฟินิตี้แทน ซึ่งตลาดก็จับตาว่าจะมีการนำบล็อกเชน คริปโทเข้ามาเชื่อมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็น่าจะมีแน่นอน เพราะในโลก Metaverse จะต้องใช้เงินเสมือน และเป็นที่ทราบกันดีว่า Facebook กับผองพันธมิตรมีแผนสร้าง Diem Coin จะรอก็แค่วันเปิดตัวเท่านั้น นอกจากนี้  Zuckerberg  ยังแย้มแผนว่าจะมีตลาดเสมือนจริงที่มีสินค้าเสมือนอย่าง NFT อีกด้วย  
 

8. SCB X ทุ่ม 1.7 หมื่นลบ. ซื้อ Bitkub 51%

 

ข่าวใหญ่ค่ำวันที่ 2 พ.ย.64 “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” ประกาศว่าจะเข้าลงทุนใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด”   51% โดยซื้อจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด  มูลค่าราว 1.78 หมื่นล้านบาท ผ่าน บล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งก็มีแฟนคลับของ Bitkub มองว่าทำไมท๊อป จิรายุส ถึงได้ตัดสินใจขายธุรกิจที่สร้างมากับมือขนาดนี้ ทั้งที่ Bitkub คือชีวิตของเขาไปแล้ว แถมยังเปิดให้กลุ่มไทยพาณิชย์ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า จะทำให้อำนาจการตัดสินใจต่างๆ อยู่ที่ธนาคาร เกิดดราม่าในคอมมูนิตี้ ถึงขั้นชวนกันเลิกใช้บริการเว็บเทรดบิทคับ   

 

9. เหรียญซิ่งแหกโค้ง KUB-JFIN-SIX ท้าทาย ก.ล.ต. 

 

3 เหรียญดังสัญชาติไทย  KUB-JFIN-SIX เทรดอย่างบ้าคลั่งในเดือน พ.ย.ราคาถูกลากขึ้นไปแบบหูดับตับไหม้ ซึ่งทั้ง 3 เหรียญนี้ตีคู่กันมาเลย ราคาพุ่งขึ้นไปกว่า 1,000% ตลอดทั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564  ก่อนที่รายย่อยจะฝันสลาย เมื่อราคาดิ่งนรกกว่า 70% ทั้ง 3 เหรียญรับสิ้นเดือน พ.ย. ร้อนถึง ก.ล.ต.ที่ได้ติดตามและพบว่าราคาของ 3 เหรียญ "มีความผันผวนอย่างมากในช่วงเวลาสั้นๆ" และเตรียมนัดสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยหารือแนวทางดูแลความเรียบร้อยของการซื้อขาย ป้องกันกระทำอันไม่เป็นธรรม เช่น การปั่นเหรียญ,การใช้ข้อมูลภายใน,การให้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งก็ล้อมาจาก กม.หลักทรัพย์

 

10. ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่ง ห้ามข้องเกี่ยวลงทุน-แนะนำ DeFi

 

ท่ามกลางความร้อนแรงของตลาด DeFi ตลอดทั้งปี 64 ก.ล.ต.ก็ได้ออกมาเตือนเมื่อเดือน พ.ค.ว่า ใครจะทำธุรกรรม DeFi อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนะ (ดูให้ดีว่ามีส่วนไหนที่ไปคาบเกี่ยวกับ กม.สินทรัพย์ดิจิทัลก็ต้องมาขอ มาพูดคุย) และตามมาด้วยเฮียริ่งส่งท้ายปีเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้จัดการเงินทุนและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวกับ DeFi  คือ (1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใดๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และ (2) ห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้างเปิดรับฟังไปจนถึงวันที่ 7 ม.ค.2565

 

11. ธปท.ยันไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า-บริการ

 

หลังกระแสความนิยมในการเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลมีมากขึ้น และขยายไปหลายธุรกิจทั้งโรงหนัง อสังหาริมทรัพย์ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร  บริการต่างๆ ฯลฯ แบงก์ชาติจึงเกิดความกังวลเพราะสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับร้านค้า เพราะมูลค่ามันไม่ได้เสถียรเหมือนกับเงินทั่วไป นอกจากนี้ หากมีการใช้งานกันแพร่หลายก็จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้  ทางแบงก์ชาติจึงได้หารือกับก.ล.ต.เพื่อพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัล ซึ่งคงได้เห็นในเร็วๆ นี้ 

 

12. BROOK รายแรก บจ.ไทย ลงทุนในเหรียญคริปโท

 

นี่ก็ฮือฮามาก สำหรับ BROOK บริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai  ประกาศเป็นรายแรกว่าได้เข้าลงทุนโดยตรงในบิตคอยน์ราว 200 ลบ.เมื่อไตรมาส 1/64 โดยลงทุนผ่านบ.ย่อยที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง  เหตุผลการเข้าลงทุนโดยตรงในบิตคอยน์ เพราะบอร์ดบริษัทเชื่อว่าเทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานในโลกแห่งการเงินแบบดั้งเดิมได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งภายหลังเข้าลงทุนคริปโท BROOK ก็มีทั้งกำไรบ้าง ขาดทุนบ้างในทางบัญชีในแต่ละไตรมาส 

 

13. เอลซัลวาดอร์ ชาติแรก  “ยอมรับบิตคอยน์” 

 

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 ประเทศเอลซัลวาดอร์อนุมัติร่างกฎหมายรองรับ Bitcoin ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายได้แล้วเป็นประเทศแรกของโลก หลังจากที่ได้รับผลโหวตเห็นชอบในสภานิติบัญญัติ 62 เสียง จากทั้งหมด 84 เสียง  ซึ่งประธานาธิบดี Nayib Bukele มีจุดประสงค์ที่จะนำ Bitcoin เข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเงินของประเทศ อย่างเช่น ปัญหาค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างประเทศ เนื่องจาก GDP กว่า 20% ของประเทศนั้นมาจากการที่ชาวเอลซัลวาดอร์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และโอนเงินกลับมาให้กับครอบครัว  

 

14. แบงก์ชาติไทย เปิดแผนพัฒนา “บาทดิจิทัล”  

 

ปี 2564 เป็นปีที่แบงก์ชาติประกาศชัดเจนว่า จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกดยธนาคารกลาง เพื่อใช้ในระดับประชาชนทั่วไป (Retail CBDC) หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ “บาทดิจิทัล” แต่จะทดลองในวงจำกัดก่อน ซึ่งก็มีการเปิดรายงานการศึกษาของแบงก์ชาติถึงแนวคิดในการพัฒนา Retail CBDC  ตอนแรกก็บอกว่าแผนการทดสอบใช้งาน Retail CBDC จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/65 แต่ล่าสุดเลื่อนไปเป็นปลายปี 65 แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่พร้อม เพราะไทยนี่พร้อมสุดแล้วอันดับต้นๆ ของโลกเลย ส่วนหนึ่งแบงก์ชาติมองว่าไทยไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ระบบการเงินไม่แข็งแรง จึงต้องรีบออก CBDC มาใช้งาน 

 

15. Dogecoin  เหรียญมีมที่สร้างเศรษฐีชั่วข้ามคืน

 

Dogecoin (DOGE) เหรียญขำขันโลโก้น้องหมา ชิบะ อินุ ที่ปลุกกระแสมีมคอยน์ และตลาด    คริปโทเคอร์เรนซีโดยรวมจนกลายมาเป็นอีกหนึ่งเหรียญหลัก ที่กระตุ้นให้วอลุ่มซื้อขายในตลาดคริปโทคึกคักอย่างไม่น่าเชื่อโดยปี 2564 เป็นปีทองของ DOGE หลังจากได้ผู้สนับสนุนหลักอย่างอีลอนมัสก์ ช่วยทวิตข้อความสร้างกระแสให้ DOGE ไม่หยุดหย่อน ทำให้ DOGE กลายเป็นเหรียญสร้างเศรษฐีกันข้ามคืน จากต้นปี64 ราคาอยู่ที่ราวๆ  0.15 บาท ช่วงพีคๆ วันที่  5  พ.ค. 2564 ราคาพุ่งทะยานมาอยู่ที่  22.2  บาท  บวกกว่า 148 เท่า หรือ 14,800% เลยทีเดียว คิดง่ายๆ ว่าถ้าเราซื้อไว้ 100 บาท ก็จะกลายเป็นเงิน 14,800 บาทไปเรียบร้อย  

 

16. บจ.แห่ลงสนามสินทรัพย์ดิจิทัล  

 

หลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น เริ่มกระโดดลงมาในพื้นที่นี้ ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองบางรายเล็ง NFT,เริ่มศึกษา DeFi ,ทำ ICO Portal บางรายจริงจังเข้าซื้อ Bitcoin โดยตรง บางรายออก Token ขณะที่หลายรายชิมลางด้วยการเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ  ในกรณีของการชิมลางตลาดคริปโทด้วย “การเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ” สิ่งหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจก็คือว่า ปลายทางแล้วร้านค้าก็รับเป็นบาทนั่นแหละ เพียงแต่เอาคริปโทมาทำการตลาด ประกาศว่ารับคริปโท (ก็ใช่) แต่เวลาลูกค้าโอนเหรียญจ่ายค่าของ เหรียญจะถูกขายที่ Exchange ก่อน เพื่อร้านค้าจะได้ลงบัญชีในรูปของเงินบาท   

 

17. สงคราม Blockchain  

 

ปี2564 เป็นปีของสงครามบล็อกเชน เนื่องจากมีโปรเจกต์บล็อกเชนเกิดขึ้นมากมาย เพื่อหวังจะเข้ามาแก้ปัญหาของ Ethereum ทั้งการขยายตัวไม่ทันและปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูง เหล่านักพัฒนาจึงเริ่มสร้าง Blockchain ของตัวเองมาเพื่อแก้ปัญหา บางโปรเจกต์ผู้ก่อตั้งก็แยกตัวออกมาจาก Ethereum อย่างเช่น Polkadot มีผู้ก่อตั้งที่เป็นนักพัฒนา Ethereum มาก่อนอย่าง Gavin Wood ซึ่งเขาคือผู้คิดค้นภาษา Solidity ที่ใช้เขียน Smart contract  ส่วนเหรียญที่ใช้ในระบบนิเวศของแต่ละบล็อกเชนก็หวือหวาไม่เบาเลยในปีนี้ไม่ว่าจะเป็น Solana(SOL), Polygon (MATIC),TERRA (LUNA),Avalanche (AVAX), Cardano (ADA) และ Algorand (ALGO)

 

18. Axie Infinity  กับปรากฏการณ์ “Play to Earn”

 

ใครจะคาดคิดได้ถูกว่ากระแสการเล่นเกมบนบล็อกเชนจะบูมมากขนาดนี้ จากเล่นปกติเพื่อความสนุก กลายเป็นเล่นจริงจังเพื่อหารายได้ ซึ่งต้องยกให้เกมชื่อดังที่จุดกระแสของแนวคิด  “Play to Earn” คือเล่นเกมด้วยได้ตังค์ด้วยอย่าง “Axie Infinity” ที่ดึงดูดสายเกมเข้ามาร่วมวง แม้บางคนจะไม่ได้รู้จักกับโลกคริปโท แต่เกมนี้กลับเป็นตัวเชื่อมที่ดึงดูดพวกเขาเข้ามาสัมผัสกับโลกคริปโทเคอร์เรนซี และสาเหตุหนึ่งเกิดจากคนหารายได้เพิ่ม เพราะวิกฤติโควิดทำให้วิถีชีวิต หน้าทีการงานของผู้คนเปลี่ยนไป การเล่นเกมแล้วได้ตังค์จึงเป็นอีกทางเลือกเสริมที่เข้ากับยุคสมัย    และหากเข้าไปดูที่เว็บไซต์ tokenterminal.com ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา Axie Infinity เป็นโปรเจกต์ที่มีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก Filecoin และ Ethereum ซึ่งเป็นอันดับ 1   

 

19. Ethereum อัปเกรดครั้งใหญ่ "London hard fork" 

 

การอัปเกรด London hard fork เป็นการอัปเกรดครั้งใหญ่ก่อนที่ Ethereum จะเข้าสู่การอัปเกรดครั้งสำคัญที่ชื่อ The Merge  เพื่อเปลี่ยนจาก PoW มาใช้ระบบ PoS เพียงระบบเดียวซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน 2565 ซึ่ง การอัปเกรด London hard fork เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ประกอบไปด้วย 5 EIP (Ethereum Improvement Proposal) แต่ EIP ที่สำคัญคือ EIP-1559 ที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการคำนวณค่าธรรมเนียมใหม่   หลังการอัปเกรด Ethereum London hard fork ผ่านไป 2 วัน ราคาอีเทอเรียม (ETH) ก็สามารถฝ่าด่านแนวต้านสำคัญ 3,000 ดอลลาร์ได้สำเร็จ ส่วนราคาในไทยขณะนั้นพุ่งทะลุ 100,000 บาท สร้างความคึกคักให้สาวก Ethereum ไม่น้อย 

 

20. ก.ล.ต.อนุมัติที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลรายแรกในไทย ‘คริปโตมายด์แอดไวเซอรี่’

 

ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Investment Advisory)  ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับมูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ให้ประชาชนทั่วไปโดยได้รับค่าตอบแทน สำหรับในไทยเพิ่งมีรายแรกและรายเดียวที่ได้ใบอนุญาตคือ บริษัทคริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ นับว่าเป็นผู้ให้บริการที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของประเทศไทย  ที่จะช่วยให้คำปรึกษาสำหรับบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีความต้องการที่จะลงทุนสามารถลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจที่ทันตลาดและเทรนด์ใหม่ๆ ในอนาคต

 

++++++++++++++++++++++++++++++++

 

กราฟิกโดย: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh