จากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว - สายการบินที่ต้องหยุดชะงักลง ซึ่ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สายการบินแห่งชาติของคนไทย ก็เป็นหนึ่งธุรกิจสายการบินที่รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และพักการซื้อขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
แต่ล่าสุด ทาง "การบินไทย" ได้ออกมาประกาศความพร้อมโค้งสุดท้ายที่เตรียมจะยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 โดยล่าสุดกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ได้ประสบความสำเร็จจากการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงวันที่ 19-21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ โดยเหลือเพียงขั้นตอนของการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เท่านั้น ซึ่งกระบวนการที่เหลือคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 โดยอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญคือ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน การปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด ตามลำดับในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2567 เพื่อให้การปรับโครงสร้างทุนสำเร็จภายใน 31 ธ.ค. 2567 นี้
"อีไฟแนนซ์ไทย" จะชวนทุกคนมาร่วมไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการบินไทย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมแล้วที่จะกลับมาเป็นสายการบินที่คนไทยภาคภูมิใจ และหุ้นคุณภาพของนักลงทุนอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง
*** ปัจจุบันกระบวนการฟื้นฟูกิจการอยู่ในขั้นตอนไหน ?
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเมื่อปี 64 นั้น หากจะสรุปอย่างรวดเร็วว่าหาก THAI ต้องการจะยกเลิกการฟื้นฟูต้องทำอะไรบ้าง จะสรุปได้ 5 เรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ทำสำเร็จไปแล้ว 4 เรื่องคือ
- การจดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน : ปัจจุบัน ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 336.82 แสนล้านบาท เมื่อ 14 ธ.ค.65 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด : ตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยไม่เคยเกิดเหตุผิดนัดเลยแม้แต่ครั้งเดียว
- EBITDA หลังหักลบเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินต้องไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง : EBITDA – Aircraft Lease Payment ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - ก.ย. 2567 เท่ากับ 27,869 ล้านบาท
- ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Equity) เป็นบวก : ล่าสุดการบินไทยประสบความสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วยการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนภาคบังคับ (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท และการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) เต็มจำนวน ซึ่งมีเจ้าหนี้แสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่รองรับ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท พร้อมทั้งการใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น โดยรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 53,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกในงบการเงินของปีนี้ และบรรลุเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

*** การปรับโครงสร้างทุน ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน-ขายหุ้นเพิ่มทุน สำคัญอย่างไรกับการบินไทย?
ถ้าจะสรุปความจำเป็นการปรับโครงสร้างทุนทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน และการขายหุ้นเพิ่มทุน คือข้อมูลตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทย มีส่วนทุนติดลบอยู่ 27,825 ล้านบาท การแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงที่ผ่านมาทำให้การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วย
(1) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบภาคบังคับ (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และ กลุ่มเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50
(2) การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ในระหว่างวันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท พร้อมทั้ง
(3) การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ดังนั้นรวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท ที่แปลงเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น แต่การแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มอย่างเดียวนั้นไม่ได้ทำให้ส่วนทุนที่เป็นบวกมาก และยังมีความเสี่ยงในอนาคตอยู่
และเพื่อเตรียมความพร้อมให้โครงสร้างส่วนของทุนที่แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคตได้ การบินไทยจึงเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกส่วนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับเงินทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้การบินไทยมีสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงิน เพื่อการดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างยั่งยืน ดังนี้
- การจัดหาเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินการและสัญญาจัดหาเครื่องบิน เพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายเส้นทางบินเพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
- การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) เช่น ติดตั้งที่นั่งใหม่ ติดตั้ง Wi-Fi และสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานระดับโลกสำหรับการให้บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อพัฒนาการบริการบนเครื่องบิน (In-flight services) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและเพิ่มความพึงพอใจ
-การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) บริษัทฯ มีแผนการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา (MRO Centers) เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน
-ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ

*** โค้งสุดท้ายก่อนยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีอะไรต้องทำอีกบ้าง ?
- เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต : แม้ว่ากระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกแล้ว แต่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย พนักงานของการบินไทยและบุคคลในวงจำกัด ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ได้แก่
• สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) หรือจองซื้อผ่านโทรศัพท์บันทึกเทป (เฉพาะนิติบุคคล หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น)
• สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy)
• ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องมีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)
และสำหรับพนักงานการบินไทยสามารถจองซื้อและชำระเงินได้ผ่านอีกหนึ่งช่องทางได้แก่ ระบบออนไลน์ผ่าน Application DIME! (เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีบัญชีหลักทรัพย์ไทยกับ DIME! เท่านั้น)
- แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ : ภายหลังจากกระบวนการปรับโครงสร้างทุนผ่านการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ การบินไทย จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ในไตรมาส 2 ปี 2568 ก่อนจะยื่นต่อศาลฯ เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อขอกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
*** แต่ละขั้นตอนจนถึงการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน ?
ตามแผนที่การบินไทยได้วางไว้ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายคือการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 2/68 ซึ่งช่วงเวลาในการดำเนินการแต่ละช่วงที่เหลือจากนี้ มีดังนี้
- วันที่ 6 – 12 ธันวาคม : เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อน การปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น หากมีหุ้นที่เหลือจะเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด
- ภายใน 31 ธ.ค.67 : ดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน - เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จ
-ไตรมาส 1/68 - 2/68 : อนุมัติงบปี 67 - แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม
-ภายในไตรมาส 2/68 : ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็สอดคล้องกับที่ผู้บริหารของการบินไทยออกมาประเมินว่า หากการแปลงหนี้เป็นทุน - เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จ ตามไทม์ไลน์ คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นการบินไทย จะกลับมาเป็นบวกตามงบการเงินที่จะอนุมัติในเดือนก.พ. 68 หลังจากนั้น จะนำส่งงบการเงินให้ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อเตรียมยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าศาลล้มละลายกลางจะอนุมัติให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 68
*** แล้วหลังการขายหุ้นเพิ่มทุน โครงสร้างผู้ถือหุ้น THAI จะเปลี่ยนไปอย่างไร ?
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นการบินไทย หลังจากการขายหุ้นเพิ่มทุน ตามเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
ผู้ถือหุ้น
|
สัดส่วน
ผถห.ก่อนปรับโครงสร้างทุน
(ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567)
|
สัดส่วน
ผถห.หลังการขายหุ้นเพิ่มทุนในเบื้องต้น
|
กระทรวงการคลัง
|
47.90%
|
33.40%
|
รัฐวิสาหกิจ
|
2.10%
|
4.10%
|
กองทุนวายุภักษ์
|
7.60%
|
2.80%
|
ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม)
|
42.40%
|
2.80%
|
เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ
|
-
|
44.3%
|
ผถห.เดิมก่อนการปรับโครงสร้าง
พนง. -บุคคลในวงจำกัด
ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
|
-
|
12.60%
|
*** อะไรที่ทำให้การปรับโครงสร้างทุนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ?
- ความตั้งใจอย่างจริงจังในการยกเลิกการฟื้นฟู : จากการเข้าแผนฟื้นฟูฯ ในปี 2564 การบินไทยแสดงให้เห็นความตั้งใจในการเดินหน้าตามแผนอย่างเคร่งครัด ทั้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรายได้จากธุรกิจสนับสนุนการบิน การสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น และที่สำคัญ ตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจนถึงปัจจุบัน การบินไทยยังไม่เคยเกิดเหตุผิดนัดแม้แต่ครั้งเดียว
- จุดแข็งของแบรนด์ : การบินไทย ยังเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญคือมีส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูงสุด และ มีเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม 27 ประเทศทั่วโลก มีธุรกิจสนับสนุนที่หลากหลาย เช่น คลังสินค้า ครัวการบิน และบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน ส่วนด้านการตลาดยังเป็นสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรการบินสตาร์ อัลไลแอนซ์ และการผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับการบริการระดับโลก อีกด้วย
- ผลประกอบการที่กลับมาโตโดดเด่น : โดยในปี 2566 การบินไทยมีผลประกอบการที่โดดเด่น โดยสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิถึง 28,123 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบินไทย รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 165,492 ล้านบาท หรือประมาณ 57% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และโครงสร้างองค์กร รวมทั้งการหาประโยชน์จากสินทรัพย์รองที่ไม่อยู่ในแผนธุรกิจ โดยสำหรับผลประกอบการ 9 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯสามารถทำรายได้ 1.36 แสนล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 15,221 ล้านบาท และมี EBITDA margin (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน) สูงถึง 25% ส่งผลให้อยู่ในสถานะที่พร้อมจะก้าวสู่การเติบโตต่อไปในอนาคต
- แผนธุรกิจในอนาคตที่ชัดเจน : ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เท่านั้น การบินไทยได้ปรับโครงสร้างและแผนธุรกิจในอนาคตอย่างชัดเจน ตั้งแต่ กลยุทธ์ ทั้งการเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบิน การปรับปรุงฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และช่องทางรายได้ใหม่ รวมถึงการมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการหาโอกาสในการลงทุนและความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดไปธุรกิจใหม่ๆ
- การพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ : การเป็นรัฐวิสาหกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่สร้างผลกระทบเชิงโครงสร้างให้กับการบินไทย เพราะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของราชการที่มีข้อจำกัด การเข้าแผนฟื้นฟูกิจการทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นบริษัทเอกชนที่มีการบริหารงานที่คล่องตัวและทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

*** การไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบินไทยดีขึ้นอย่างไร ?
หากจะขยายความ ถึงข้อดีที่ การบินไทยพ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจและกลายเป็นบริษัทเอกชน ก็สามารถสรุปได้ดังนี้
- ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ: จะดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน และไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของราชการ การตัดสินใจสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นและมีความคล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารทรัพยากร การปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและ การดำเนินธุรกิจ
- ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ: โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านบุคลากร และพนักงาน รวมถึงการคัดเลือกพนักงาน ที่ปัจจุบันมีการคัดเลือกที่ยุติธรรมไร้เส้นสาย รวมถึงการประเมินตามผลการทำงานจริง ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการบุคลากรและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อก่อประโยชน์แก่บริษัท พิสูจน์ได้จากผลประกอบการที่ดีขึ้นภายหลังการพ้นจากการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
- ดึงดูดนักลงทุนและพันธมิตรหุ้นส่วน: เมื่อเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบ การบินไทยสามารถเปิดโอกาสให้มีการลงทุนจากพันธมิตรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องและการพัฒนาธุรกิจ
- ความสามารถในการแข่งขัน: การบินไทยสามารถพัฒนากลยุทธ์และดำเนินการในรูปแบบที่ทันสมัยยิ่งขึ้นและทันท่วงทีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น การพัฒนาบริการใหม่ การขยายเส้นทางการบิน รวมถึงการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเพื่อแข่งขันกับสายการบินอื่นทั้งในและต่างประเทศได้อย่างทัดเทียม
สรุป
ข้อสงสัยเกี่ยวกับการบินไทยที่อีไฟแนนซ์ได้หาคำตอบมาให้นั้น น่าจะช่วยไขข้อข้องใจถึงกระบวนการต่างๆ ที่การบินไทยจะต้องทำต่อจากนี้ ซึ่งไฮไลท์สำคัญคงอยู่ที่ผลสำเร็จจากการแปลงหนี้เป็นทุน และโค้งสุดท้ายของกระบวนการปรับโครงสร้างทุนผ่านการขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาดนักลงทุนก็คงได้เห็นหุ้นการบินไทยหรือ THAI กลับมาโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์ภายในกลางปี 2568 อย่างแน่นอน
“การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ”