บทความแนะนำ

บจ.ซื้อหุ้นคืน ส่งผลดี - เสีย อย่างไรบ้าง ?

บจ.ซื้อหุ้นคืน ส่งผลดี - เสีย อย่างไรบ้าง ?

ล่าสุด เพิ่งมี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่เพิ่งประกาศรับซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองคืน ตามกันมาติด ๆ 

โดยฝั่ง CPF วางงบไว้ที่ 5 พันล้านบาท ตั้งเป้าซื้อคืน 200 ล้านหุ้น ตั้งแต่ 19 ธ.ค.65 - 18 มิ.ย.66 ขณะที่ ฟาก TU วางงบ 3 พันล้านบาท เตรียมเก็บคืน 200 ล้านหุ้น ตั้งแต่ 3 ม.ค.66 - 30 มิ.ย.66 

ซึ่งเหตุผลหลักของการรับซื้อหุ้นคืนของทั้ง 2 บริษัท เป็นเพราะราคาหุ้นในระยะหลังที่ปรับตัวลงจนต่ำกว่าบุ๊คแวลู อีกทั้งต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในระยะสั้น และส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่าราคาหุ้นต่ำเกินไปแล้ว 

ขณะเดียวกัน การซื้อหุ้นคืนยังสามารถทำให้อัตราส่วนทางการเงินดูดีขึ้นได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นการลดจำนวนหุ้นในตลาด ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เช่น EPS, ROE, P/E และ DPS ปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 2 เหตุผลคลาสสิค ที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มักนำมาใช้ซื้อหุ้นคืน คือ ปรับโครงสร้างทางการเงิน จะเกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทมีกำไรสะสม หรือเหลือเงินสดในมือมาก แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินส่วนนั้นไปลงทุน ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะนำเงินที่เหลือมาซื้อหุ้นคืน

ส่วนอีกเหตุผล คือ แก้ปัญหาเมื่อผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับนโยบายบริษัท เช่น ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียง หรือสิทธิในการรับเงินปันผล บริษัทสามารถเสนอการซื้อหุ้นคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าว เพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หุ้นที่บริษัทซื้อเข้ามาในโครงการรับซื้อหุ้นคืน ท้ายที่สุดก็ต้องขายออกไปในกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ดี ซึ่งอาจใช้เวลาภายใน 6 เดือน หรือช้าสุดก็ 3 ปี เพราะถ้าบริษัทไม่ยอมขายหุ้นดังกล่าวออกไป พวกเขาก็ต้องลดทุน ด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนทิ้งไป

ทั้งนี้ การซื้อหุ้นคืนของบริษัทมักส่งผลดีทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อบริษัท และผู้ถือหุ้น ประมาณ 5 ข้อ ดังนี้นะทุกคน

1.ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เพราะจำนวนหุ้นในตลาดลดลง (Supply) และเกิดความคาดหวังของตลาดในระยะสั้นที่มองว่าหุ้นควรเป็นขาขึ้นจากการที่มีเงินของนักลงทุนรายใหญ่มาไล่ซื้อหุ้น  

2.กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น เช่น บริษัทมีกำไร 100 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นในตลาด 5 ล้านหุ้น แปลว่ากำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น คราวนี้หากบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน จำนวน 1 ล้านหุ้น ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเหลือ 4 ล้านหุ้น ซึ่งหากบริษัทยังทำกำไรได้เท่าเดิม แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มเป็น 25 บาทต่อหุ้น

3.เงินปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับปันผลหายไป ทำให้เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend Per Share) เพิ่มขึ้น

4.อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารถูกปรับลดลง ทำให้ ROE สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

5.สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อตัวบริษัท เนื่องจากถึงขนาดยอมควักเงินซื้อหุ้นตัวเองกลับคืนมา

เมื่อเห็นข้อดีของโครงการรับซื้อหุ้นคืนกันไปแล้ว ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลฝั่งตรงข้ามกันบ้างนะ ว่ามีข้อเสีย หรือ ข้อควรระวังอะไรที่เราควรรู้ไว้บ้าง 

1.อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต

2.เสียโอกาสสร้างการเติบโต เพราะการที่บริษัทเลือกนำเงินมาซื้อทุน แทนที่จะนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจ ก็อาจทำให้อัตราการเติบโตในอนาคตช้าลงได้ รวมถึงเสียความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย หากเป็นการซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ธุรกิจกำลังมีวิกฤต

3.สภาพคล่องของหุ้น (Free Float) ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยอยู่แล้ว

4.โดนตัวเลขทางการเงินหลอกตา หลังการซื้อหุ้นคืน นักลงทุนต้องดูผลประกอบการให้ดี เพราะอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เติบโตจริง ๆ ก็ได้ เช่น บริษัทซื้อหุ้นคืนที่ 10% ของทุน แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น 10% อัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ากำไรต่อหุ้นโตไม่ถึง 10% ก็แปลได้ว่าธุรกิจมีการชะลอตัวลง

สำหรับเกล็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการรับซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ที่แอดนำมาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนวันนี้ หลัก ๆ ก็มีประมาณนี้เนอะ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนเช่นเดิมน วันนี้ไปก่อนแล้ว บ๊าย บาย ....







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh