ณ พ.ศ.นี้ ก็ต้องยอมรับว่ากลโกงต่าง ๆ ที่จะหลอกเอาเงินจากนักลงทุนอย่างเรา ๆ นั้นมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนจริง ๆ ซึ่งก่อนอื่น แอดฯก็ต้องขอชมเชยในความพยายามของแก๊งค์ตัวแสบเหล่านี้ก่อนเลย ที่ช่างคิดกลโกงต่าง ๆ นา ๆ พยายามจะหลอกให้พวกเราตกเป็นเหยื่อให้ได้เลย ....
อย่างเร็ว ๆ นี้ ก็อแชร์ลูกโซ่ชื่อดัง ที่หลอกว่าเป็นการ"ระดมทุน" เทรดค่าเงินออนไลน์ แถมยังมีเหล่าเซเลปฯร่วมวงอยู่จำนวนมาก จนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับขบวนการไม่น้อย พอใครไม่รู้ ก็หลงเข้าไปลงทุน ผลที่ตามมาส่วนมากก็มักจะเสียเงินฟรี ๆ กันไปเป็นแถว ๆ
กลโกงที่มักนำมาล่อใจพวกเรา แน่นอนว่า ผลตอบแทนต้องดึงดูด และมาพร้อมกับความเสี่ยงสุดต่ำ ก็ขอยกตัวอย่างจากแชร์ลูกโซ่วงดังอีกนั่นแหละ ที่หัวขบวนจะมาปลุกปั่นเรา ด้วยผลตอบแทนระดับ 10% ต่อเดือน จากการทำกำไรค่าเงิน อะไรทำนองนั้น
เรียนตามตรงว่า ถ้าเราลองพินิจพิเคราะห์กันเสียหน่อย ไม่ปล่อยความโลภชักพาไป เราก็คงจะต้องพอสงสัยอยู่บ้างป่ะ ? ว่า การเทรดค่าเงินจะให้กำไรกับเราราว 10% ต่อเดือนได้อย่างไร เพราะหากไปย้อนดูสถิติ ค่าเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์, ยูโร, เยน, ปอนด์ บลา ๆ ในช่วงปกติ แทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเกิน 10% ต่อปีเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น วันนี้ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนแยกให้ออก และไม่ตกเป็นเหยื่อของไอ้พวกแก๊งค์เหล่านี้ แอดฯ ก็จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ"การระดมทุน"ที่ถูกกฏหมายจริง ๆ ว่า มีอะไรบ้าง และมีจุดสังเกตุอย่างไร ที่บอกเราได้บ้างว่า อันนี้ คือ การระดมทุน ที่ถูกกฏหมายจริง ๆ
ซึ่งก็ต้องขอยกพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาอ้างอิงเลย โดยกฏหมายฉบับนี้ ระบุชัดว่า บริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกเเละเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน หรือบุคคลใด ๆ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เสียก่อน
อีกหนึ่งจุดสังเกตุว่า นี่คือการระดมทุนที่ถูกฏหมาย คือ ต้องมีคำว่า"หลักทรัพย์" เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย เพราะหากไม่มี ก็เท่ากับว่า การระดมทุนดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.นั่นเอง
สำหรับ การลงทุนที่จะใช้คำว่า"หลักทรัพย์" มาอ้างอิงได้ ก็จะมีพวกการลงทุนใน ตั๋วเงินคลัง, พันธบัตร, ตั๋วเงิน, หุ้น, หุ้นกู้, ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น, ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ และ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดตราสารที่เป็น"หลักทรัพย์"เพิ่มเติม ได้แก่ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ,ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์, ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงใบทรัสต์, ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน และตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ
ตราสารทั้งหมด ที่แอดฯ ยกมาให้ทุกคนเห็นเป็นตัวอย่าง ถือ เป็นตราสารที่ได้รับการคุ้มครองจากก.ล.ต. นอกเหนือจากที่ยกมา คือ ไม่ใช่นะทุกคน
ต่อมา คือ การระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการระดมทุนโดยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นโทเคนดิจิทัลเท่านั้น และไม่รวมถึงคริปโทเคอเรนซี
โดย โทเคนดิจิทัล หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกสร้างบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ เรียกว่า "investment token" หรือ กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เรียกว่า "utility token" และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
ในปัจจุบัน โทเคนดิจิทัลที่ต้องขออนุญาตการเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบด้วย investment token และ utility token ที่ยังไม่สามารถแลกสิทธิได้ทันทีในวันที่มีการเสนอขาย (utility token ไม่พร้อมใช้)
ดังนั้น การพิจารณาว่ามีกิจกรรมการระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่ามีการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องขอรับอนุญาตหรือไม่ ? เท่านั้นนะ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงพอจะเห็นภาพชัดมากขึ้นแล้วนะ ว่าการระดมทุนที่ถูกกฏหมายในยุคปัจจุบัน มีอะไรบ้าง ๆ และ มีจุดสังเกตุอย่างไร ? จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งค์หลอกลงทุนในแชร์ลูกโซ่
ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผิดกฏหมาย แถมยังไม่มีการคุ้มคลองจากก.ล.ต.อีกด้วย พอเกิดเรื่องขึ้นมา ก็ต้องเสียเวลาไปแจ้งความตามคดีเอาเอง แถมใช้เวลานานด้วย กว่าจะได้เงินกลับคืนมา และเงินที่ได้กลับมานั้น ก็ใช่ว่าจะได้ครบเต็มจำนวนนะ !
สุดท้ายนี้ แอดฯ ก็หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนเช่นเคยหล่ะ เพราะแอดฯเองก็ไม่อยากเห็นใครตกเป็นเหยื่อของพวกแก๊งค์แชร์ลูกโซ่อีกแล้ว เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ไม่สนุกเลย สำหรับวันนี้ ไปก่อนเนอะ บ๊าย บายยยยยย ....