หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลามายาวนานเกือบ 3 ปี ทำให้ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาล ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ เห็นได้จากราคาหุ้น หรือผลประกอบการเกือบจะทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์กันถ้วนหน้า
ทั้งนี้ หากมองในมุมของนักลงทุน อาจจะเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากวิกฤตการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว บรรดาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล จะยังคงมีความสามารถในการทำให้ผลประกอบการกลับมาโดดเด่นได้เท่ากับช่วงเวลาดังกล่าวได้หรือไม่? ...ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องของอนาคต
แต่สิ่งที่พอจะเป็นสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ว่าในอนาคตจะเติบโตได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากไม่มีปัจจัยเรื่องโควิด-19 เข้ามา นั่นคือ ศักยภาพที่สั่งสมและแผนการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสมของโรงพยาบาลนั้นๆ เพราะเทคโนโลยีของโรงพยาบาลแต่ละแห่งล้วนไม่ต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ต่างกันคือ “วิสัยทัศน์และแผนงาน” เพราะธุรกิจโรงพยาบาลก็เสมือนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องมีการวางรากฐานให้มั่นคงมานาน
บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เป็นหนึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู ผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนผลการดำเนินงานทำจุดสูงสุดเช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจสุขภาพอื่นๆ และก็เป็นหนึ่งหุ้นที่ถูกตั้งคำถามบ่อยมาก ว่าหากไม่มีโควิด-19 ผลงานของ THG จะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน?
* จับตา "เฮลท์แคร์" เป็นธุรกิจเรือธง
นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG ได้ประเมินทิศทางในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่า สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสุขภาพเติบโตได้อย่างโดดเด่นแทนโควิด-19 นั่นคือเทรนด์ของธุรกิจ "เฮลท์แคร์" เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ซึ่งในวัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) อีก 10 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเติบโตแตะเลขสองหลัก ซึ่งนั่นหมายความว่าธุรกิจเฮลท์แคร์จะโตขึ้นอีก 2 เท่า
หรือ หากจะมองในระยะสั้น ทิศทางธุรกิจโรงพยาบาลเอง ก็ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ใช่โควิด จากเดิมที่เคยหายไป 30% แต่หลังจากการเปิดประเทศ ตัวเลขกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มกลับมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/64 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG ก็ประเมินว่า ในปี 2566 เป็นปีที่กลุ่มคนไข้ ที่ไม่ใช่กลุ่มโควิด-19 น่าจะกลับมาเป็นปกติ ทำให้คาดว่าตัวเลขจะกลับมาพุ่งสูงมาก
"ธุรกิจเฮลท์แคร์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่สุดของประเทศ เพราะอย่าลืมว่า จากนี้จะไม่ใช่เพียงการรักษาคนไข้แล้ว อาจจะยังมี Medical Tourism และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกด้วย หรือมองในระยะสั้น ครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไปของทุกปีจะเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ของธุรกิจการแพทย์ เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคตามฤดูกาล อาทิ ไข้หวัด ไข้เลือดออกเข้ามารับการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยทั่วไปทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ทยอยฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ และยังได้ผลบวกจากการเปิดประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติในเครือโรงพยาบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน ทั้งชาวกัมพูชา เมียนมา และตะวันออกกลาง" นายแพทย์ธนาธิป กล่าว
* เปิดงบ ครึ่งปีแรก THG มีรายได้กลุ่มนอกโควิดเข้ามาแล้ว
หากลองดูด้านตัวเลขผลประกอบการของ THG ในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งTHG มีผลประกอบการกลับมาพลิกมีกำไร 964 ล้านบาท พลิกฟื้นจากขาดทุนสุทธิ 151 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการเติบโตระดับกว่า 700% ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนสำคัญนั่นคือ การปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมาตรการการรักษา - การให้บริการวัคซีน หรือการจัดสถานที่รองรับผู้ป่วยอย่าง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม
แต่สิ่งที่น่าสนใจในผลประกอบการของ THG ครึ่งปีแรกนั้น มีสิ่งที่บ่งชี้ว่า รายได้ - กำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากสถานการณ์โควิด-19 เพียงอย่างเดียว เพราะในไตรมาส 2/65 THG ได้รับรู้รายได้จากการโอนห้องพักอาศัยในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ที่ทำได้ตามเป้าหมาย รวมถึงยังได้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมอีก 1 บริษัท (โรงพยาบาลภัทร) ซึ่งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 16.67% เป็น21.47% หรือแม้แต่ โรงพยาบาล Ar Yu International ในเมียนมา ก็ยังมีกำไรต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมต้นทุน-ค่าใช้จ่ายที่ดี นั่นยิ่งสะท้อนออกมาว่า แผนธุรกิจ และผลิตผลการลงทุนของ THG เริ่มออกดอกออกผลมาให้เห็นมากขึ้นแล้วนั่นเอง
หรือ หากจะดูในแง่ของอัตราส่วนการเงินที่บอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อย่างอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) - อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) หรืออัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) THG เองก็มีตัวเลขแต่ละส่วนที่น่าสนใจ โดยROA เฉลี่ย 4 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) อยู่ที่ 4.75% ส่วน ROE เฉลี่ยอยู่ที่ 6.56% ส่วน Net Profit Margin เฉลี่ยสูงถึง 23%
* ผ่าแผนอนาคต THG "บิ๊กโปรเจ็กต์" เรียงคิวให้เก็บเกี่ยวเพียบ
นายแพทย์ธนาธิป เปิดเผยว่า ครึ่งหลังของปี 65 ก็ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ไม่ใช้เพียงธุรกิจโรงพยาบาลที่จะเข้าไฮซีซั่น แต่THG ยังมีแผนเข้าซื้อกิจการเพื่อขยายจำนวนโรงพยาบาลในเครือ เพิ่มศักยภาพเติบโต ก็กำลังอยู่ในช่วงศึกษาและเจรจากับพันธมิตร เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนตามแผนให้รอเก็บเกี่ยวอีกหลายโปรเจ็กต์ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนล่วงหน้าที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแต่ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล แต่ยังลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สอดรับกับเทรนด์ปัจจุบันทั้งสิ้น อาทิ
- โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เพื่อรองรับ Aging Society ที่ลงทุนพัฒนาไปก่อนหน้าโควิด-19 ที่ขณะนี้ ยอดจอง-รายได้เริ่มกลับมา ซึ่งTHG มีแผนต่อยอดอีกในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุน โครงการ รพ.ธนบุรี รังสิต ภายใต้ความร่วมมือ RAM-THG-VIBHA ที่อาจเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ เพราะพื้นที่ กทม. ฝั่งเหนือยังเป็นพื้นที่ที่ รพ. ยังมีโอกาสเติบโต เพราะสามารถรองรับผู้ป่วยทั้งจาก กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ตรงนี้จะช่วยสร้าง Value ในการดึงดูด สร้างความเชื่อมั่นลูกค้าให้กับจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ว่าอุ่นใจได้ เพราะเสมือนอาศัยในบ้านหลังใหญ่ใกล้หมอ
- การพัฒนา Digital Platform ที่น่าสนใจอย่าง Health Blockchain สำหรับจัดเก็บข้อมูลสุขภาพคนไข้เชื่อมโยง Eco system ด้านสุขภาพ รวมถึง Metaverse ที่คาดจะได้เห็นความคืบหน้าชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างโอกาสการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ (Health Education) ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น
- ธุรกิจถุงมือยางของบริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ที่THG ถือหุ้นอยู่นั้น ได้เริ่มต้นกระบวนการผลิตและจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา โดยกำลังการผลิตเต็มศักยภาพในอนาคตคาดว่าอยู่ที่ 1.6 ล้านกล่องหรือประมาณ 160 ล้านชิ้นต่อเดือน มองตลาดต่างประเทศ 90% ในประเทศ 10%
- ผลิตภัณฑ์กัญชา ที่มีการตั้งต้นแนวคิดจากเครือ THG ซึ่งปัจจุบันแม้จะลดสัดส่วนและเปลี่ยนรูปแบบเป็นการถือหุ้นผ่านบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด เนื่องจากลักษณะธุรกิจมีความจำเพาะ ก็ได้มีการจดทะเบียนบริษัทใหม่เพื่อดำเนินการภายใต้ชื่อ ธนบุรี แคนนาบิซ โดยอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เฉพาะคลินิกทางการแพทย์ ซึ่งผู้สั่งซื้อและจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตในการเป็นคลินิกกัญชาและมีแพทย์ที่มีใบอนุญาตสั่งจ่ายยา โดยตอนนี้เครือ THG มีอยู่ 3 แห่งที่ดำเนินการได้คือ โรงพยาบาลธนบุรี 1 / โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง / โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา และกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอใบรับรองและมีแผนขายที่โรงพยาบาลธนบุรี 2 และโรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี เพิ่มเติม
สรุป
ที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ เป็นเพียงแผนธุรกิจบางส่วนในอนาคตของ THG ซึ่งจากแผนลงทุน และวิสัยทัศน์ของทีมผู้บริหาร เป็นสิ่งที่พอจะสะท้อนให้เห็นว่า THG เป็นบริษัทที่ไม่ยอมหยุดพัฒนา ซึ่งตรงตามหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ THG ที่นอกจากสร้างผลกำไรตอบแทนผู้ถือหุ้นแล้ว ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัยในมิติต่างๆ ควบคู่กันอยู่เสมอ โดยยึดมั่นบนหลัก “จริยธรรมพลเมือง” (Code of Conduct) อันเป็นแนวทางที่กลุ่มผู้ก่อตั้งได้ปลูกฝังมาตลอด เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตควบคู่กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง