หุ้น CPH ซิ่งสยองเดิน 1,000% เพียงแค่ 4 เดือน หลังธุรกิจหลักฟื้นแรง แต่ราคาหุ้น 3 วันทำการล่าสุดดิ่งกว่า 10% ตามต่อ ของจริง หรือพุ่งเล่นๆแล้วแผ่ว !
*** พบหุ้นซื่ง 1,000% เพียงแค่ 4 เดือน
หากพูดถึงหุ้นที่วิ่งอย่างบ้าคลั่ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แน่นอนว่า หนึ่งในนั้น ต้องมีหุ้น CPH รวมอยู่ด้วย ซึ่งโดยปกติราคาหุ้น CPH มักจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบราว 3 - 4 บาท/หุ้น เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือน เม.ย.65 ราคาหุ้น CPH ปิดซื้อขายที่ราคา 3.88 บาท/หุ้น ซึ่งหลังเข้าสู่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นขาขึ้นของราคาหุ้นอย่างแท้จริง เพราะราคาหุ้นเดินหน้าทุบสถิตราคา All Time High มาแทบทุกเดือน
จนเผลอแป๊ปเดียว ราคาหุ้น CPH ก็พุ่งพรวดมาอยู่ที่ 50.25 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นจากจุดออกสตาร์ทถึง 1,195% ภายในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น อีกทั้ง ราคาหุ้นยังเพิ่งทำจุดสูงสุดเมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยราคา 53 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 1,265% จากสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อีกด้วย
คิดง่ายๆว่า สมมุติเราลงทุนในหุ้น CPH สัก 1 หมื่นบาท ช่วงสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันเงินจำนวนดังกล่าว จะกลายสภาพเป็นเงินประมาณ 1 แสนบาทเลยนะ พูดเเล้วก็เสียดายจริงๆ !
นอกจากนี้ วอลุ่มซื้อขายของ CPH ในระยะหลัง ก็เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาซะด้วย เพราะหากนับข้อมูลล่าสุด ย้อนหลัง 1 เดือน พบว่า CPH มีวอลุ่มซื้อขายอยู่ที่ 226.20 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 64 ที่มีวอลุ่มซื้อขายเพียง 44.92 ล้านบาท เท่านั้น
*** พุ่งแรงขนาดนี้ แต่ยังไม่ถูก ตลท.คุมกำเนิด !
ขณะที่ เมื่อสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ปีนี้ CPH ยังไม่เคยถูก ตลท. บังคับใช้มาตรการกำกับซื้อขายหลักทรัพย์ เหมือนกับหุ้นตัวอื่นๆ ที่ราคาพุ่งขึ้นมาแรงอีกด้วย
*** ทำความรู้จัก CPH ทำมาหากินอะไร ?
ดังนั้น วันนี้ แอดจึงขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหุ้น CPH กันมากขึ้น ว่าเขาเป็นบริษัทที่ทำมาหากินอะไร และปัจจัยพื้นฐานของบริษัท สอดคล้องกับราคาหุ้น ที่ปรับตัวขึ้นระดับนรกกวักมือเรียกในระยะหลังนี้หรือไม่ ?
CPH หรือ บมจ.คาสเซ่อร์พีคโฮลดิ้งส์ ปัจจุบันเทรดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจแฟชั่น มี"บุญชู พงษ์เฉลิม" ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 29.70% ดำเนินธุรกิจมากว่า 46 ปีแล้ว
โดย CPH เริ่มดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2519 จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป และต่อมาในปี 2537 ก็เริ่มแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างบ้าน และอาคารพาณิชย์เป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบันธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ CPH ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมาแล้ว 8 โครงการ มูลค่ารวม 4.4 พันล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างใหม่อีก 2 โครงการ มูลค่ารวม 784 ล้านบาท
เมื่อฉายภาพธุรกิจหลักของ CPH ไปคร่าวๆแล้ว ทีนี้ ลองมาดูผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565 กันหน่อย ว่าไฉไลสมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 1,000% ในปีนี้ได้หรือไม่ ?
*** งบ 6 เดือนพลิกกำไร ธุรกิจหลักโตแรง !
โดย 6 เดือนของปีนี้ CPH มีกำไรสุทธิ 155.52 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 26.63 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ของ CPH เป็นไตรมาสที่มีกำไรทะลุ 100 ล้านบาท/ไตรมาส เป็นครั้งแรกอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 ของ CPH เติบโตอย่างโดดเด่น เป็นเพราะรายได้จากการขายในธุรกิจเสื้อผ้า เติบโตขึ้น 104% จากปีก่อน หลังคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเงินบาทอ่อนค่า อีกทั้งต้นทุนทางการขาย ยังลดลงเกือบ 10% อีกด้วย ส่งผลให้กำไรสุทธิของธุรกิจเสื้อผ้า ทำได้ 102.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1,672% จากปีก่อน
เช่นเดียวกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็เติบโตขึ้นไม่เบาเช่นกัน โดยรายได้ไตรมาส 2/65 เติบโตขึ้นถึง 185% จากปีก่อน จากการขายที่ดิน และบ้านแบบใหม่ซึ่งอยู่ในทำเลที่น่าสนใจ ส่งผลให้กำไรสุทธิของธุรกิจดังกล่าว ทำได้ 5.05 ล้านบาท เทียบปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2.15 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากเราพิจารณาข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาสล่าสุดของ CPH ก็ดูเหมือนว่า ธุรกิจหลักของบริษัทนี้ กำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว และเติบโตได้อย่างโดดเด่น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะหลัง
*** แต่ราคาเริ่มดิ่งแล้ว ตามต่อว่าของจริงไหม ?
อย่างไรก็ตาม เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าเสียใจด้วยสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้เข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ก่อน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแอดด้วย เพราหลังจากที่ราคาหุ้น CPH ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ราคา 53 บาท/หุ้น เมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น ราคาหุ้น ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 3 วันทำการ หรือติดลบจากจุดสูงสุดราว 10% ซึ่งอาจสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรกไปมากแล้ว
สุดท้าย ก็ยังคงต้องติดตามต่อไป ว่าราคาหุ้น CPH ที่ปรับตัวลงมาในรอบนี้ จะเป็นการเข้าสู่ช่วงขาลง หรือจะเป็นเพียงการปรับฐานลงมาชั่วคราว เพื่อรอปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานที่อาจเติบโตโดดเด่นต่อเนื่อง ในครึ่งปีหลังกันแน่ ?