หุ้น IPO กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลังหุ้นใหญ่อย่าง TLI เตรียมเทรด 25 ก.ค.นี้ แต่เคล็ดลับในการเลือกลงทุนหุ้น IPO ที่น่าสนใจ จะมีอะไรบ้าง ต้องติดตาม !
*** กระแสหุ้น IPO กลับมาฮอตอักครั้ง !
กระแสหุ้น IPO กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลังบริษัทที่ถูกพูดถึงอย่างมาก อย่าง บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) เตรียมเข้าซื้อ - ขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ครั้งแรก วันที่ 25 ก.ค.นี้
ขณะที่ เมื่อสำรวจข้อมูลบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงที่เหลือของปี 65 ก็พบว่า มีอีกหลายบริษัท ที่ผ่านขั้นตอนการยื่นไฟลิ่ง กับก.ล.ต.แล้ว และเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น IPO ในอีกไม่ช้า
*** กูรูชี้ควรมีหุ้น IPO ติดพอร์ตสัก 20%
ขณะเดียวกัน "มอร์นิ่งสตาร์" มีมุมมองว่า นักลงทุนควรมีหุ้น IPO ขนาดเล็ก (small-cap) ติดอยู่ในพอร์ตโฟลิโอบ้าง แต่ควรมีสัดส่วนไม่เกิน 20% ของพอร์ตฯ เพราะจะช่วยสร้างโอกาสในแง่ผลตอบแทนที่ดีได้
อย่างไรก็ตาม การถือครองหุ้น IPO ขนาดเล็กก็มีความเสี่ยงตามมาเหมือนกัน เช่น หุ้นขนาดเล็กมักจะมีความผันผวนในด้านราคา, มีปริมาณการซื้อขายไม่สูงนัก, สภาพคล่องต่ำ และไม่มีการออกบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์
ปัจจัยดังกล่าว ยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นธุรกิจที่เหมาะกับแนวทางการลงทุนของตัวเองจริงๆ หุ้น IPO เหล่านี้ อาจให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด หรืออุตสาหกรรมได้เช่นกัน
*** เปิดเทคนิคเลือกหุ้น IPO อย่างไร ?
ทั้งนี้"มอร์นิ่งสตาร์" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนการตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้น IPO แต่ละครั้ง นักลงทุนควรนำคุณสมบัติ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ เป็นบรรทัดฐานในการเลือกหุ้น
1.มองหาบริษัทฯ ที่ทำธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง และอยู่ตัวในระดับหนึ่งแล้ว และต้องเป็นบริษัทที่ตัดสินใจเข้าตลาด เพื่อวัตถุประสงค์ขยายกิจการ มากกว่าจะมองหาบริษัทฯ ที่เพิ่งก่อตั้งธุรกิจไม่นาน และไม่มีเป้าหมายขยายธุรกิจที่ชัดเจน
2.มองหาบริษัทฯ ที่มีการทำธุรกิจมานาน และสามารถศึกษาผลประกอบการย้อนหลังได้ ยิ่งถ้าบริษัทฯ มีผู้บริหารที่ทำงานกับบริษัทฯมานาน เป็นคนที่ตัดสินใจนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และจะยังคงเป็นผู้บริหารต่อไป หลังจากที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
3.ศึกษาข้อมูลจนเข้าใจให้ได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯนั้น ตัดสินใจจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหลังจากนั้น บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปทำอะไร และจะสามารถสร้างการเติบโตได้จริงแค่ไหน ?
4.ดูแหล่งที่มาของการออกหุ้น IPO ว่ามาจากแหล่งใด หากมาจากตัวบริษัทที่ก่อตั้ง และทำธุรกิจเองโดยตรง ก็อาจไม่มีอะไรน่าเป็นกังวลมาก แต่ถ้ามาจากบริษัทประเภท Private Equity Fund ก็อาจต้องตั้งข้อควรระวังสักนิด
เพราะ Private Equity Fund มักจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยใส่ทรัพยากรทั้งเงินทุน และบุคลากรเข้าไปทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อหวังขายทำกำไรในอนาคต ผ่านการขายหุ้น IPO และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่ง Private Equity Fund มักคาดหวังกำไรสูงสุดในการขายหุ้น IPO ดังนั้น หากบริษัทที่ออกหุ้น IPO เป็นบริษัทที่มาจากกองทุน Private Equity โอกาสที่นักลงทุนจะคาดหวัง ราคา IPO ที่ต่ำกว่ามูลค่า เพื่อให้เกิดส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ในสัดส่วนที่สูง ก็อาจทำได้ไม่ง่ายนัก
5.ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเชิงพื้นฐานต่างๆของบริษัทอย่างละเอียด เช่น งบดุลที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพที่เหมาะสมของบริษัท และ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
6.พิจารณาราคาหุ้น IPO ที่จะทำการซื้อขายในตลาด เป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างน้อยนักลงทุนควรจะแน่ใจว่า ราคาหุ้นนั้นไม่สูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และโดยปกติแล้ว ราคาหุ้น IPO ไม่ควรจะสูงกว่าราคาหุ้นตัวอื่นในตลาดที่อยู่ในระดับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกันด้วย