Recommended for You

3 ขั้นตอน สร้างพอร์ตฯแบบ"เซียนหุ้น"

3 ขั้นตอน สร้างพอร์ตฯแบบ

การเริ่มต้นลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำการบ้านอย่างหนัก แต่ทางลัดที่จะทำให้เราสามารถจัดพอร์ตฯลงทุนได้อย่าง"เซียนหุ้น" ขั้นแรก คือ ต้องศึกษาความสำเร็จ - การล้มเหลวของคนเหล่นั้นดูเสียก่อน และ นำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอด แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ต้องติดตาม !
 

*** คิดลงทุน ต้องหมั่นทำการบ้านอย่างหนัก !
 

สำหรับ การลงทุนในตลาดหุ้น หลายคนก็คงรู้ดีว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย กว่าที่เราจะได้กำไรมาแต่ละบาทในการลงทุน เพราะต้องใช้ทั้งความรู้ในเรื่องการลงทุน อีกทั้งยังต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่มีผลทั้งดี และ ร้าย กับภาพรวมตลาดหุ้น หรือ หุ้นรายตัว อีกด้วย

ดังนั้น นักลงทุนมือใหม่วัยเริ่มต้น ที่อยากจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ ก็คงไม่มีทางลัดอะไรมากนัก นอกจากจงทำการบ้านอย่างหนัก หมั่นเรียนรู้ และ เพิ่มประสบการณ์ชั่วโมงบินของตนเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายได้ไวกว่าคนอื่น
 

*** ลองศึกษาความสำเร็จ - ความล้มเหลวคนอื่น
 

แต่สำหรับ นักลงทุนมือใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่า จะเริ่มต้นอย่างไร ในการไต่ระดับความสามารถในการลงทุนของตนเอง ให้ไปใกล้เคียงกับสุดยอดนักลงทุนชื่อดังหลายๆคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แนะนำว่า จุดเริ่มต้นที่ต้องทำก็คือ ลอง"ก๊อปปี้แนวทาง"ของบุคคลที่ประสบความสำเร็จดู ซึ่งการ"ก๊อปปี้" ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเลียนแบบเขามาซะทั้งหมด เพียงแต่ยกข้อดีของเขา เพื่อมาปรับใช้ดูก็เท่านั้นเอง

การทำแบบนี้ อีกนัยหนึ่ง ก็เปรียบเสมือนการเรียนรู้จุดเด่นของ"เซียนหุ้น" แถมยังได้เรียนรู้จุดผิดพลาด จากประสบการณ์ของพวกพี่ๆเขา เพื่อนำมาปรับใช้กับการลงทุนของเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปลองผิด-ลองถูก ให้เสียทั้งเวลา และ ทุนทรัพย์ โดยไม่จำเป็นอีกด้วย
 

*** 3 ขั้นตอน สร้างพอร์ตฯแบบ"เซียนหุ้น"
 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุต่อว่า หลังจากที่เราได้เรียนรู้ความผิดพลาด และ ความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ ที่เราต้องนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาต่อยอด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้ 

1.ค้นหาสไตล์ที่เหมาะกับเราที่สุด : สไตล์การลงทุนของแต่ละบุคคลนั้นต่างกัน เพราะอุปนิสัยและการใช้ชีวิตของทุกคนไม่เหมือนกัน ความเชี่ยวชาญก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น การค้นหารูปแบบการลงทุน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นักลงทุนชื่อดังหลายคนต่างค้นพบสไตล์การลงทุนที่เข้ากับตัวเอง ก่อนจะประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น 

ยกตัวอย่าง "วอเร็น บัฟเฟตต์" ปรมาจารย์การลงทุนแห่งยุคสมัย ต้นแบบการลงทุนตามแนวคิด “การลงทุนเน้นคุณค่า” (Value Investing) จนประสบความสำเร็จมาถึงปัจจุบัน พบว่าการปรับการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองจะทำให้เราไม่เบื่อ และมีโฟกัสที่ชัดเจนมากขึ้น สร้างความหลงไหลในการลงทุนได้ง่าย ทำให้เราไม่รู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่ชื่นชอบและทำได้นาน 

นอกจากนี้ การหาสไตล์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองเจอ ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้นหาหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนของเราได้ดีขึ้นด้วย เช่น สไตล์ของเราเป็นแบบ VI สโขปในการค้นหาหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตของเรา ก็จะแคบลงมา และ ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ต้องเป็นหุ้นที่พื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง และ มีแนวโน้มเติบโตระยะยาว เลี่ยงหุ้นซิ่ง อะไรทำนองนี้ 

2.ซื้อหุ้นที่ใช่ ในจังหวะที่เหมาะสม : แค่รู้สไตล์การลงทุนที่เหมาะสมแบบรู้ลึกรู้จริงแล้ว ก็ยังไม่พอ เรายังต้องรอจังหวะที่เหมาะสมด้วย แม้ว่าเราจะเรียนรู้วิธีการลงทุนจากอาจารย์ที่เก่งแค่ไหน แต่มองสถานการณ์ไม่ออก ก็ไม่มีประโยชน์ ยกตัวอย่างการลงทุนแบบ VI ทั้ง"บัฟเฟตต์" หรือ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ก็เลือกที่จะรอคอยจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม 

ในกรณีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกตัวอย่าง "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ที่เริ่มลงทุนในปีพ.ศ.2540 ด้วยเงิน 10 ล้านบาท เพราะเห็นโอกาสที่หุ้นบางตัวเริ่มมีราคาปรับตัวลดลง จากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวเยอะมาก แต่จริงๆแล้วหุ้นตัวนั้นๆ กลับไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ เพราะกำไร และ เงินปันผล ไม่ได้ลดลง นี่จึงเหมือนจุดเข้าซื้อที่ดีอีก 1 จังหวะ

หลักคิดดังกล่าว ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันใช่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น หุ้นในลักษณะที่ "ดร.นิเวศน์" เลือกซื้อในช่วงดังกล่าว กลับมีราคาปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกันทั้งนั้น ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ "ดร.นิเวศน์" ได้รับทวีคูณขึ้นไปอีก

3.ทบทวนแผนลงทุนสม่ำเสมอ : เมื่อตั้งต้นด้วยแผนการลงทุนที่ดีแล้ว แต่เราจะปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้ ต้องหมั่นทบทวนแผนการลงทุนสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เราเคยใช้ในอดีต อาจใช้ไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน 

แต่ไม่ว่าผลตอบแทนพอร์ตลงทุนของเราจะเป็น"บวก"หรือ"ลบ" ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่า ตัวเองไม่เก่ง หรือตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ผิดพลาดไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องดูอีกด้วย วิธีการหนึ่งที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า เรามีฝีมือ พอใช้ได้หรือไม่นั้น ต้องเปรียบเทียบกับ “เกณฑ์มาตรฐาน” หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "Benchmark" นั่นเอง

ดังนั้น การพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนลงทุน และทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนและช่วยลดความวิตกกังวลในการลงทุนลงได้ ทีนี้ก็เหลือแค่... เราต้องหมั่นค้นหาบริษัทหรือการลงทุนใหม่ๆ ด้วย เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh