"หุ้นบลูชิพ" ถือเป็นหุ้นอีกประเภทที่ควรมีติดพอร์ตฯไว้ เพราะเป็นหุ้นแกร่งทนกับสภาวะตลาดหุ้น - เศรษฐกิจผันผวนได้ดี แต่เกณฑ์ในการพิจารณาวหุ้นใด คือ "หุ้นบลูชิพ"ตัวจริง มีหลักเกณฑ์ใดเป็นตัวชี้วัด มาหาคำตอบกัน !
*** "หุ้นบลูชิพ" แกร่งทุกสถานการณ์
ต้องยอมรับเลยว่า ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ นับเป็นอีกช่วงที่มีความผันผวนเป็นอย่างมาก สังเกตุจากการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ยังแกว่งตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ไร้ทิศทาง เพราะยังถูกหลายปัจจัยลบกดดัน
ขณะที่ โบรกเกอร์ ที่ให้คำแนะนำการลงทุนในหุ้นช่วงนี้ พบว่า นอกจากหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว อย่างพวกที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น หรือ เปิดเมือง ก็ยังมีหุ้นอีกประเภทที่นักวิเคราะห์ชอบ คือ "หุ้นบลูชิพ"
โดย"หุ้นบลูชิพ" เป็นคำจำกัดความของหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีความมั่นคง จากการที่บริษัทมีฐานะการเงินมั่นคง และมีการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่รู้จักของคนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย
หรือพูดง่ายๆว่า"หุ้นบลูชิพ" ก็คือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียง และมีความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งนั่นเอง
*** เปิดหลักหา"หุ้นบลูชิพ"ติดพอร์ตฯ
ทีนี้ ถ้าเราอยากค้นหา"หุ้นบลูชิพ"เข้ามาอยู่ในพอร์ตหุ้นของตนเอง เพื่อรับมือช่วงตลาดหุ้นผันผวน ตามคำแนะนำของโบรกเกอร์ จะมีหลักเกณฑ์ใดในการค้นหาหุ้น นอกเหนือจากคุณสมบัติข้างต้นที่กล่าวมาอีกไหม ? มาหาคำตอบกันดูนะ !
โดยทั่วไป หุ้นที่จะถูกขนานนามว่าเป็น"หุ้นบลูชิพ" มักต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อดังต่อไปนี้
1.มูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูง (Market Capitalization) : โดยทั่วไปบริษัทที่ถูกจัดว่าเป็น"หุ้นบลูชิพ" มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่ง"หุ้นบลูชิพ"ส่วนมากมักมีมูลค่ากิจการราคาตามตลาด อยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป
การมีมูลค่ากิจการราคาตามตลาดมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ย่อมเป็นเครื่องหมายการันตีเบื้องต้นว่า หุ้นบริษัทนั้นมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET100 ที่ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนต่างประเทศ หรือ กองทุน ในการเข้าลงทุน
โดยข้อมูลล่าสุดจาก SETSMART พบว่า หุ้น SET100 ที่มีมูลค่ากิจการราคาตามตลาดลำดับสุดท้ายก็คือ SYNEX อยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท นั่นเอง
2.ต้องมีส่วนแบ่งการตลาดสูง : การที่บริษัทใดมีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) ในอุตสาหกรรมที่ตนเองดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับสูง นั่นหมายความว่า บริษัทดังกล่าวเป็นผู้นำของธุรกิจนั้นตัวจริง เสียงจริง
การที่เราเข้าไปลงทุนในหุ้นบริษัทผู้นำธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม ย่อมสร้างความมั่นใจให้กับเราได้พอสมควรว่า บริษัทยังจะสามารถเติบโตได้ในอนาคตในระยะกลาง - ยาว จากฐานลูกค้าที่มีรองรับอยู่มาก ซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตามด้วยเช่นกัน
3.สินค้ามีความต้องการสูง : หากสินค้าของบริษัทใดมีความต้องการในตลาดสูงทั้งในระยะสั้น - กลาง รวมถึงในอนาคตหากเราประเมินดูแล้วว่า จะไม่มีสินค้าอื่นมาแทนที่ นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางรายได้ของบริษัท
จึงไม่แปลก ที่บริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าว มักถูกจัดรวมไว้ว่าเป็น"หุ้นบลูชิพ" เพราะจะมีความแข็งแรงทนทานต่อทุกสภาพเศรษฐกิจ จากการที่มีสินค้าพร้อมขายได้ในทุกช่วงเวลา เป็นตัวสร้างกระแสเงินสด และผลกำไรให้กับบริษัทนั่นเอง
4.ผู้บริหารเก่ง : ผู้บริหารที่มีความสามารถในระดับสูง ก็เป็นอีกปัจจัยในการผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จ ซึ่งหากเราลองกวาดตาดูบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทย หรือ ต่างประเทศ
ก็จะพบว่าบริษัทเหล่านั้น มักมีผู้บริหารองค์กรที่มีความสามารถในระดับสูงด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งการจะวัดว่าบริษัทใดมีผู้บริหารที่เก่งหรือไม่เก่ง อาจลองมองย้อนไปดูผลประกอบการช่วงปี 63 - 64 ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ดูก็ได้
หากพบว่าบริษัทใดที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวโดยตรง แต่ผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าว กับรอดพ้นวิกฤติจากการพลิกแพงกลยุทธ์ของผู้บริหารมาได้ นั่นก็ถือเป็น"หุ้นบลูชิพ"ที่น่าสนใจเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ คือหลักเกณฑ์การค้นหา"หุ้นบลูชิพ"เข้ามาอยู่ในพอร์ตหุ้นของตนเองอย่างง่ายๆ สำหรับต้านทานช่วงตลาดหุ้นผันผวนอย่างรุนแรง ที่"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์"หยิบมาฝากทุกคนวันนี้