Recommended for You

P/BV บอกอะไรนักลงทุนบ้าง ?

P/BV บอกอะไรนักลงทุนบ้าง ?

P/BV เป็นปัจจัยสำคัญอีก 1 อย่าง ที่นักลงทุนส่วนมากใช้ตัดสินใจเลือกหุ้น แต่อัตราส่วน P/BV จะบอกอะไรกับนักลงทุนบ้าง ถ้าอยากรู้ ตามไปหาคำตอบกันเลย !
 

*** P/BV อีก 1 ปัจจัยใช้เลือกหุ้น
 

หากพูดถึงอีก 1 ปัจจัยสำคัญ ที่มีส่วนในการตัดสินใจเลือกหุ้น มาเข้าพอร์ตของนักลงทุนหลายๆคน 1 ในเกณฑ์ตัดสินใจนั้น อาจมีอัตราส่วน P/BV (Price Book Value) รวมอยู่ในนั้นด้วย

โดยอัตราส่วน P/BV ก็คือ อัตราส่วนสำคัญ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ว่าหุ้นแต่ละบริษัท มีความถูกหรือแพง กว่ามูลค่าทางบัญชีกี่เท่า หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ ตัวชี้วัดว่า ราคาหุ้นของบริษัท เกินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไปแล้วหรือยัง ?
 

*** ค่า P/BV คำนวณอย่างไร ?
 

สำหรับ การคำนวณอัตราส่วน P/BV ออกมา สามารถทำได้โดย การหารราคาหุ้นตามราคาตลาด (Market Price) ด้วยมูลค่าบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ซึ่งจะเป็นสมการดังนี้ P/BV = ราคาหุ้น/มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น

ซึ่งอัตราส่วนที่ได้จากการคำนวณสูตรดังกล่าว จะมีหน่วยเป็น"เท่า" ซึ่งหมายถึง ราคาหุ้นในตลาดเป็นกี่เท่า ของมูลค่าหุ้นทางบัญชี และหลังจากนั้นก็จะนำค่าที่ได้ ไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วน P/BV ของคู่แข่ง หรือ อุตสาหกรรม
 

*** P/BV บอกอะไรเราบ้าง ?
 

ทีนี้ เมื่อลงลึกไปอีก ก็จะพบว่า Book Value ที่เป็นตัวหาร คือ มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นในทางบัญชี หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มูลค่าที่ผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืน หากบริษัทเกิดเลิกกิจการขึ้นมา 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น Book Value Per Share ของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ เท่ากับ 15 บาท ก็หมายความว่า หากบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เลิกกิจการขึ้นมา เราก็จะได้รับเงินคืน 15 บาท/หุ้น นั่นเอง 

ขณะที่ อัตราส่วน P/BV ที่อยู่ในระดับสูง หรือ ในระดับต่ำของแต่ละบริษัท ก็ไม่ใช่เกณฑ์ชี้วัดตายตัว ว่า หุ้นของบริษัทนู้นนั้นนี้ดีเสมอไปนะ เพราะยังมีหลายคนที่ติดกับดักดังกล่าวอยู่

โดยหุ้นที่มีอัตราส่วน P/BV สูง หมายถึง ราคาหุ้นที่กำลังอยู่ในระดับสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการที่นักลงทุนส่วนมาก มองเห็นว่าหุ้นตัวนี้ในอนาคตยังไงก็โตแน่ๆ เลยแห่มาซื้อ ทำให้ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี

แต่ในทางกลับกัน หากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่แห่มาซื้อกันเยอะ ดันราคาหุ้นให้แพงกว่ามูลค่าทางบัญชีไปแล้ว วันหนึ่งผลการดำเนินงานในอนาคตกลับไม่เติบโตอย่างที่คาดหวัง ก็ถือเป็นความเสี่ยงในการลงทุนได้เหมือนกัน

ส่วนหุ้นที่มีอัตราส่วน P/BV ต่ำ หมายถึง ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้ขริงของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากทฤษฎีทางตรงกันข้ามกับข้อแรก คือ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าหุ้นตัวนี้จะเติบโตได้ จึงยังไม่มีแรงซื้อจำนวนมากมาดันราคาหุ้น

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่า หุ้นที่มีอัตราส่วน P/BV ต่ำ จะไม่สามารถเติบโตในอัตราเร่งในระยะถัดไปได้ ซึ่งวันหนึ่งหากมีโครงการใหม่ ที่ทำแล้วโตแรง ขระที่เราซื้อหุ้นช่วง P/BV ต่ำ ก็ถือเป็นกำไรไป

จากบทความชิ้นนี้ ทุกคนคงเห็นภาพแล้วว่า อัตราส่วน P/BV ไม่สามารถใช้ชี้วัดได้ว่า หุ้นแต่ละตัวดีจริงหรือไม่ เพียงแต่เป็นแนวทางคัดกรองหุ้นเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการเลือกหุ้นยังมีอีกหลายปัจจัย ที่เข้ามาประกอบการตัดสินใจ







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh