การเลือกโบรกฯนั้นมีความสำคัญไม่แพ้การเลือกหุ้นดีๆสัก 1 บริษัทเลย แต่จะมีเทคนิคเลือกโบรกฯอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเองที่สุด มาหาคำตอบกันเลย
*** เลือก"โบรกฯ"สำคัญไม่แพ้เลือก"หุ้น"
คำถามยอดฮิตของนักลงทุนมือใหม่ ที่พบส่วนมาก หนึ่งในนั้น คือ "จะเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ไหนดี" เพราะแต่ละโบรกฯ ก็มีจุดเด่น และ จุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มือใหม่ยังลังเลว่าควรเลือกที่ไหนดี
สำหรับ การเลือกโบรกเกอร์ หลายคนอาจมองข้ามไป คิดว่าที่ไหนก็เหมือนๆกัน ซึ่งแอดขอบอกไว้เลยว่า หากเรากกำลังคิดแบบนั้น ถือ ว่า ค่อนข้างอันตรายเลยทีเดียว เพราะการเลือกโบรกเกอร์ มีความสำคัญพอๆ กับ การเลือกหุ้นสักตัวเลย
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะโบรกเกอร์ไม่ได้เป็นแค่คนกลางในการซื้อ - ขายหลักทรัพย์ให้เราเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเราด้วย จึงเป็นหน้าที่ของเรา ในการเลือกโบรกเกอร์ที่ไว้ใจได้ให้มาดูแลเงินของเรานั่นเอง
นอกจากนี้ โบรกเกอร์ยังต้องมีบริการต่างๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การลงทุนของเราอีกด้วย เพราะถึงแม้จะมีโบรกเกอร์ดีๆ ที่เปิดให้บริการอยู่มากมาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกแห่ง ที่จะเหมาะกับไลฟ์สไตล์การลงทุนของเรา
*** เปิด 7 ทริค เลือกโบรกฯที่ใช่สำหรับเรา
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเลือกโบรกเกอร์ที่ใช่สำหรับแต่ละคน มีหลักในการพิจารณา 7 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.โบรกเกอร์ที่ดี ต้องถูกกฏหมาย : ถ้าจะนิยามข้อนี้ก็คือ ไม่ใช่โบรกเกอร์เถื่อน นอกจากนั้น ยังต้องถูกกฏหมายทั้งโครงสร้างของบริษัท ตั้งแต่ผู้บริหาร ไล่ไปจนถึงนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และ ผู้ติดต่อกับนักลงทุน ((Investment Consultant : IC)
หรือที่สมัยนี้ นิยมเรียกกันว่า "มาร์เก็ตติ้ง" หรือ "เจ้าหน้าที่การตลาด"นั่นเอง ซึ่งทั้งหมด ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สามารถประกอบอาชีพได้ ลักษณะคล้ายๆ กับอาชีพหมอหรือวิศวกร ที่ต้องมีใบอนุญาตในการทำงาน
2.ระบบการบริหารมีมาตรฐาน : ตลาดหลักทรัพย์ฯระบุว่า เราต้องดูว่า คณะผู้บริหารมีประสบการณ์ และ มีความรู้ในเรื่องธุรกิจหลักทรัพย์อย่างไร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ที่ติดต่อด้วยมีความชำนาญ ตอบข้อสงสัยต่างๆ ของเราได้ดีแค่ไหน ?
ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูด้วยว่า โบรกเกอร์ มีเครื่องมือพร้อมที่จะให้บริการเรา ทั้งในส่วนของการติดต่อซื้อ - ขาย ผ่านผู้ติดต่อกับนักลงทุน รวมทั้ง การซื้อ - ขาย ผ่านออนไลน์ ต้องมีระบบปฏิบัติการที่มีคุณภาพรองรับ ไม่มีประวัติการบริหารงานและการปฏิบัติงานที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
3.มีฐานะการเงินมั่นคง : พูดง่ายๆ คือ มีผลการดำเนินงานดี ที่สำคัญโบรกเกอร์ต้องมีสินทรัพย์ที่เป็นสภาพคล่อง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว และมีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการชำระคืนให้แก่ลูกค้า และเจ้าหนี้ของโบรกเกอร์ หากโบรกเกอร์เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะนะว่า ในส่วนนี้ เราสามารถดูได้จากตัวเลข เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule : NCR) ในรายงานประจำปีของแต่ละโบรกเกอร์ ซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้
4.บทวิเคราะห์เชื่อถือได้ : บทวิเคราะห์ถือเป็นเครื่องทุ่นแรงสำคัญที่นักวิเคราะห์ออกมาเพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่หลายครั้งที่นักลงทุนอย่างเราๆสนใจเพียงราคาเป้าหมาย ขณะที่ กลับมองข้ามเนื้อหาประเด็น - ข้อมูลการลงทุนที่อยู่ในบทวิเคราะห์ไปเลย
ซึ่งการพิจารณาโบรกเกอร์ที่ดีจากบทวิเคราะห์ เราต้องนำบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์แต่ละเเห่งมาเปรียบเทียบกัน แล้วลองดูซิว่า โบรกเกอร์ไหนใช้อะไรเป็นสมมติฐานในการทำประมาณการทางการเงินต่างๆ พยายามแกะรอยว่าเขานำประเด็นเหล่านี้ไปเชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขในการคาดการณ์ต่างๆ ออกมาได้อย่างไร
และที่สำคัญ อย่าลืม พิจารณาเรื่องความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร และระบบการจัดส่งด้วย ถึงแม้บทวิเคราะห์หรือข้อมูลข่าวสารจะดีแค่ไหน แต่มีระบบการจัดส่งที่ล่าช้า ก็อาจทำให้เรา เสียโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุดไปได้เช่นกัน
5.ค่าธรรมเนียมเหมาะสม : ในส่วนของค่าธรรมเนียมการให้บริการ ก็เป็นจุดที่เราไม่ควรปล่อยผ่านเหมือนกัน เพราะบางทีก็อาจทำให้กำไรที่เราได้รับลดลงได้จากส่วนนี้ เพราะบางโบรกเกอร์ อาจมีการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ เช่น 50 บาท หรือ 200 บาท ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนด้วยวงเงินน้อยๆ อาจไม่เหมาะที่จะใช้บริการ
6.เหมาะกับไลฟ์สไตล์ : ถ้าเราถนัดซื้อ - ขายหุ้นออนไลน์ ต้องดูว่าโบรกเกอร์นั้นมีความเชี่ยวชาญการบริการออนไลน์หรือไม่ มีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
เช่นเดียวกัน หากชื่นชอบไปนั่งซื้อขายที่ห้องค้า ต้องดูเรื่องทำเลที่ตั้งของโบรกเกอร์ว่าสะดวกในการเดินทางมากน้อยแค่ไหน และห้องค้ามีบริการเพื่อซื้อ - ขาย เครื่องไม้เครื่องมือสะดวกครบครันแค่ไหน ความสะดวกรวดเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายมากน้อยเพียงใด
7.บริการหลังการขายมีมาตรฐาน : เทคนิคง่ายๆที่จะพิสูจน์จุดเด่นข้อนี้ คือ การติดต่อสอบถามไปยังโบรกเกอร์ดูว่าการรับจ่ายเงินจากการซื้อ - ขายเป็นอย่างไร เช่น ใช้บริการแบงก์ไหนบ้าง เพราะการรับจ่ายเงินทำผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ เรียกว่า ATS ซึ่งนักลงทุนต้องมีบัญชีกับแบงก์ รวมถึงระบบการโอนหุ้น ระบบการติดตามและดูแลผลประโยชน์ที่เราฝากไว้กับโบรกเกอร์ ก็ควรพิจารณาให้ดีว่ามีบริการรับส่งเอกสารหรือไม่ ด้วย
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝากทิ้งท้ายว่า หากโบรกเกอร์ไหนสอบผ่านตามเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้วทุกข้อ เราก็สามารถมั่นใจได้ว่าเป็นโบรกเกอร์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ นักลงทุนมือใหม่สามารถเปิดบัญชีซื้อ - ขายหุ้นได้อย่างสบายใจ กลายเป็นโบรกเกอร์คู่ใจที่ดูแลกันไปจนแก่เฒ่าได้เลย