Recommended for You

ทำไมหุ้น P/E สูง ถึงน่าสนใจ ?

ทำไมหุ้น P/E สูง ถึงน่าสนใจ ?

ในยุคที่หุ้น P/E ต่ำ กำไรเติบโตหายาก นักลงทุนหลายราย จึงหันมาลงทุนหุ้น P/E สูงมากขึ้น แบบไม่กังวลถึงความถูก - แพง เหมือนในอดีต ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ลองมาหาคำตอบกันดู !
 

*** หุ้น P/E ต่ำ กำไรโตหายาก ลองมองหุ้น P/E สูงบ้างก็ได้ ! 
 

เชื่อว่านักลงทุน ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าใหม่ หรือ หน้าเก่า ต่างก็คงเคยได้ยินคำแนะนำในการเลือกลงทุน อย่างการเลือกหุ้นที่มีอัตราส่วน P/E (Price/Earnings Per Share) ต่ำๆ กันมาทั้งนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราจะหาหุ้นที่มีอัตราส่วน P/E ต่ำๆ สักตัว ที่มาพร้อมกับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในระดับสูง คงเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งไม่ต่างกับการงมเข็มในมหาสมุทรก็ว่าได้ 

ส่งผลให้นักลงทุนหลายรายในยุคนี้ หันมาลงทุนในหุ้นที่มีระดับ P/E สูงๆ กันมากขึ้น แบบไม่ได้เป็นกังวลถึงความถูก - แพง เหมือนในอดีตมากนัก


*** ตลท.เผย หุ้น P/E สูง อาจไม่ได้หมายความว่าแพง !
 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย (SET) มีอัตราส่วน P/E อยู่ในกรอบ 13 - 30 เท่า แต่กลับมีหลายช่วงเวลา ที่ราคาหุ้นบางบริษัท ขยับขึ้นไปซื้อ - ขาย กันด้วยอัตราส่วน P/E ที่สูงถึง 50 - 70 เท่า เลยทีเดียว

ซึ่งอัตราส่วน P/E ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้หลายคนมองว่า หุ้นมีมูลค่าแพงมากแล้ว แต่ใช่ว่า จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าบริษัทดังกล่าว สามารถสร้างการเติบโตของกำไรสุทธิ ได้ตามที่ตลาดคาดหวัง หุ้นของบริษัทนั้นก็อาจไม่แพงอีกต่อไป ...
 

*** เปิดเหตุผล ทำไมหุ้น P/E สูง ถึงน่าสนใจลงทุน ?
 

ขณะที่ ตลท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในยุคปัจจุบัน อาจไม่สามารถนำอัตราส่วน P/E มาวิเคราะห์ความถูกหรือแพง ของมูลค่าบริษัทต่างๆได้อีกแล้ว แต่ต้องนำอัตราส่วน P/E มาเทียบกับอัตราการเติบโตของกำไรด้วย ซึ่งจะได้ออกมาเป็นอัตราส่วน PEG (Price Earning to Growth)

สำหรับ อัตราส่วน PEG คำนวณจากการนำอัตราส่วน P/E มาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) เช่น หุ้นบริษัท A มีอัตราส่วน P/E อยู่ที่ระดับ 50 เท่า แต่ถ้ากำไรต่อหุ้นของปีหน้า สามารถเติบโตได้ถึง 50% อัตราส่วน PEG ของบริษัท A จะอยู่ที่ 1 เท่า

ซึ่ง ตลท. ระบุว่า อัตราส่วน PEG ที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 1 เท่า เพราะถ้าอัตราส่วน PEG ของบริษัท เกิน 1 เท่า แสดงว่า อัตราส่วน P/E สูงกว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น หรืออีกนัยยะ สะท้อนให้เห็นว่า กำไรไม่สามารถเติบโตได้ตามที่นักลงทุนในตลาดคาดหวังนั่นเอง

ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำว่า ในยุคปัจจุบัน หุ้นที่มีอัตราส่วน P/E ในระดับต่ำ อาจไม่ใช่หุ้นที่มีมูลค่าถูกเสมอไปอีกต่อไปแล้ว ทางตลท. ได้นำการวิเคราะห์มูลค่าหุ้นแบบ P/E และ PEG มาเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น

โดยสมมติให้ บริษัท A มีอัตราส่วน P/E ที่ 50 เท่า และ EPS Growth อยู่ที่ 50% ก็จะเท่ากับว่า บริษัท A มีอัตราส่วน PEG เพียงแค่ 1 เท่า ในทางตรงกันข้าม กำหนดให้บริษัท B เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับบริษัท A

และกำหนดให้บริษัท B มีอัตราส่วน P/E ที่ต่ำกว่าบริษัท A ที่ระดับ 45 เท่า แต่ EPS Growth ทำได้เพียง 20% นั่นก็เท่ากับว่า อัตราส่วน PEG ของบริษัท B อยู่ในระดับที่สูงกว่าบริษัท A มากกว่าเท่าตัว ที่ระดับ 2.25 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงเป็นคำตอบให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า บริษัทที่อัตราส่วน P/E สูง ก็อาจไม่ใช่บริษัทที่หุ้นมีราคาแพงเสมอไป เพราะบางครั้งนักลงทุนอาจมองเห็นศักยภาพการเติบโตของบริษัท 

อย่างไรก็ตาม ก็มีหุ้นของบางบริษัทที่มีอัตราส่วน P/E สูง และต่อมาราคาก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นที่มีอัตราส่วน P/E เท่าใดก็ตาม สิ่งสำคัญนั่นก็คือนักลงทุนอย่างเรา ต้องหมั่นศึกษาข้อมูลของบริษัทอยู่ตลอดเวลานั่นเอง







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh